เมื่อผักผลไม้ออร์แกนิกส่งออก เจอกำแพงภาษีขนาดนั้นจะไปต่ออย่างไร
เรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ประกาศไว้สำหรับประเทศไทย 36 เปอร์เซ็นต์มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 แม้ยังมีความหวังที่จะเจรจาต่อรองก่อนเดดไลน์ประกาศจริง แต่ดูเหมือนริบหรี่
ผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอนกับสินค้าไทยที่ส่งออกไปอเมริกา โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ไทยส่งข้าวไปอเมริกาอันดับต้นๆ รวมถึงผักผลไม้ออร์แกนิก ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลก
แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนล่าสุดจะออกมาปกป้องและรับปากว่า จะทำให้เกิดผลกระทบสำหรับเกษตรกรไทยน้อยที่สุด แต่ที่สุดแล้วกลไกตลาดที่สหรัฐเป็นผู้กำหนด ย่อมมีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยเริ่มปรับตัวนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทางการเกษตรมากขึ้น แต่ไม่ได้ปรับตัวทั้งระบบการเกษตรไทย
เรื่องนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะสินค้าเกษตรฝากชีวิตไว้กับการส่งออก โดยเฉพาะพืชผักผลไม้ออร์แกนิกที่ตลาดโลกต้องการ เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ละเอียดกว่า ต้องใส่ใจทั้งคนบริโภคและสิ่งแวดล้อม
นั่นทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนไปเยี่ยมชมการเกษตรที่หมู่บ้านเล็กๆ โออิตะ เกาะคิวชู ทางใต้สุดของญี่ปุ่น นอกจากทำการเกษตร ยังเปิดโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพัก เพื่อเปิดโอกาสให้เรียนรู้วิถีชีวิตคนญี่ปุ่นและการเกษตร
และเปิดโอกาสให้นักเรียนต่างชาติที่ต้องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเข้ามาเรียนรู้ เนื่องจากลูกๆ พวกเขาออกไปสร้างครอบครัวใหม่ในเมือง ในบ้านจึงมีห้องเหลือ
เมื่อพวกเขาเริ่มทำโฮมสเตย์ในหมู่บ้าน ครอบครัวอื่นๆ เห็นตัวอย่าง ก็เข้าร่วมโครงการ แม้จะไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ แต่ไม่ใช่อุปสรรค สามารถจัดการได้
เพราะเจ้าของฟาร์มอยากให้เด็กๆ รุ่นใหม่รู้ว่า พวกเขาทำนาอย่างไร ซึ่งในเมืองไทยก็มีสถานที่แบบนี้ไม่ใช่น้อย เพื่อให้คนต่างชาติมาเรียนรู้การทำนา ทำปุ๋ย และท่องเที่ยวในชุมชน แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ
สังคมเกษตรในประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ไม่เน้นสารเคมีในการปลูกพืชผัก สุขภาพต้องมาก่อน และเป็นที่ทราบดีว่า คนญี่ปุ่นไม่นิยมสินค้าต่างชาติ เพราะไม่มั่นใจในการผลิต
ส่วนการเกษตรออร์แกนิกขนาดกลางในเมืองไทย ส่วนใหญ่เน้นส่งออก เพราะขายได้ราคาดีกว่าในประเทศ จึงเหลือเพียงเกษตรขนาดเล็ก แต่ในอนาคตฟาร์มเกษตรธรรมชาติเพื่อการส่งออกคงต้องปรับตัว
กลับมาที่หมู่บ้านเล็กๆ ที่ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมชมการทำเกษตรธรรมชาติที่คนญี่ปุ่น ทั้งภูมิใจและมีรายได้ที่ดี เนื่องจากมีพื้นที่การเกษตรจำกัด
จึงต้องถมทะเลบางส่วน เพื่อปรับเป็นผืนดิน ปลูกบ้านพักอาศัยและใช้ทำการเกษตร ซึ่งพวกเขาก็พาไปดูร่องรอยเปลือกหอยที่แตกละเอียดคลุกเคล้าไปกับดินดำที่ร่วยซุย
ในเรื่องเกษตรธรรมชาติ ถ้าเป็นแนวคิดคนญี่ปุ่น คนไทยจะรู้จักแนวทางของฟูกูโอกะ ซึ่งมีอยู่ 5 อย่าง คือ ไม่ไถพรวน ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่กำจัดวัชพืช ไม่กำจัดแมลงและศัตรูพืช
รวมถึงไม่ตัดแต่งกิ่งไม้ ไม่สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรกลในฟาร์ม ถ้าจำเป็นก็อาจเป็นเครื่องมือการเกษตรแบบง่ายๆ เพราะไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงกระบวนการธรรมชาติในฟาร์ม พื้นที่เพาะปลูกจะมีพืชและวัชพืชขึ้นคลุมดินอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการอนุรักษ์หน้าดินไว้
ส่วนเกษตรยุคใหม่ของญี่ปุ่น แม้จะไม่ใช้สารเคมี แต่การใช้เทคโนโลยีบนแปลงผักถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อง่ายต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต
และถ้าถามว่า ฟาร์มเกษตรขนาดกลางและใหญ่ในเมืองไทยจะปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรธรรมชาติ เพื่อการบริโภคในประเทศได้ไหม…ทั้งหมดคงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก นั่นก็คือ กลไกตลาด และนโยบายรัฐ
………
หมายเหตุ : เกษตรออร์แกนิกหรือ เกษตรอินทรีย์ เป็นการเกษตรเน้นหลักธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเคมีทุกชนิด เน้นความอุดมสมสมบูรณ์ของดิน ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ โดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ หรือการตัดต่อพันธุกรรม