“จตุพร” นำทัพพาณิชย์ ลุยหนองคาย ถกการค้าชายแดน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อติดตามความคืบหน้าการค้าชายแดนและผ่านแดน พร้อมเป็นประธานเปิด “งานมหกรรมการค้าชายแดน จังหวัดหนองคาย” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3–8 กรกฎาคม 2568 ภายใต้แนวคิด “สานสัมพันธ์ สร้างโอกาส เชื่อมโยงเศรษฐกิจสองฝั่งโขง” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การสัมมนาในหัวข้อ “ตามให้ทัน AI ช่วยค้าขายทันใจไม่ตกเทรนด์” การเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทย–อาเซียน คาดการณ์คำสั่งซื้อกว่า 77 ล้านบาท การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้ากว่า 200 คูหา การประชุมติดตามความคืบหน้าด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ในการประชุมติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดน นายจตุพร ได้หารือถึงความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 หนองคาย–เวียงจันทน์ และแห่งที่ 5 บึงกาฬ–บอลิคำไซ , การพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านเก็บตู้สินค้า จังหวัดหนองคาย พร้อมรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน ได้แก่
1.การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT Refund ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ
2.การผลักดันเปิดจุดผ่านแดนไทย–สปป.ลาว
3.การส่งเสริมความร่วมมือไทย–ลาว–จีน ผ่านแนวเส้นทางรถไฟลาว–จีน ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว กีฬา วัฒนธรรม และการศึกษา
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าผลักดันมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยให้ถึง 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2570 โดยล่าสุด ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 การค้าชายแดนไทย–สปป.ลาว มีมูลค่าสูงสุดในบรรดาการค้าชายแดนทุกด้านของไทย อยู่ที่ 382,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไทยได้ดุลการค้า 24,778 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านจังหวัดหนองคายเพียงจังหวัดเดียวมีมูลค่าถึง 62,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.60%
นายจตุพร ยังกล่าวถึงสถานการณ์การค้าชายแดนไทย–กัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลไม้และเกษตรกรว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ การเชื่อมโยงระบายผลไม้ตกค้าง เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ไปยังตลาดใหม่ การจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน การรณรงค์บริโภคผลไม้ “Thai Fruits Festival 2025” การจัดจุดจำหน่ายทั่วประเทศ และบริการจัดส่งผลไม้ผ่านไปรษณีย์ไทยฟรี ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบและรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ