'ฮุน เซน' เป็นได้แค่ "ตัวตลกแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ในสายตาของนักยุทธศาสตร์
ทัศนะคนไทยที่มีต่อ ฮุน เซน นั้นผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยเห็นตรงกัน คือ "ไม่มีดีอะไรเลย" มีแต่หาเรื่องประเทศไทยไปวันๆ ถึงขนาดบางคนบอกว่า "แก่กะโหลกกะลา" เพราะไม่เห็นจะมีพิษสงอะไร แต่บางคนก็กริ่งเกรงเหมือนกันว่า ฮุนเฒ่าอาจะ "แสร้งทำเซ่อๆ ซ่าๆ" หาเรื่องไทยเหมือนคนสติเสีย เพื่ออำพรางแผนการอะไรบางอย่างอันแยบยลไว้
แต่ผมเองไม่ได้ดูแคลน ฮุน เซน ยังมองเขาเป็นผู้นำที่มากประสบการณ์ เขาเป็นทหารเก่าและนักการเมืองเก๋า ดังนั้นจะประมาทไม่ได้ แม้จะไม่ถึงกับซูฮก แต่ก็ไม่ควรจะดูแคลน
คนไทยควรจะรู้จัก ฮุน เซน มากว่านี้ แต่น่าเสียดายที่การรายงานข่าวของเราเน้นที่เรื่องสัพเพเหระจนเกินไป ขาดแง่มุมที่จริงจังและเจาะลึก ทั้งยังหลงเป็นเครื่องมือ "ฉายแสง" ให้ฮุน เซน โดยไม่รู้ตัว นับเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่ง
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คนไทยมองอะไรไม่เกินไปกว่า "เกร็ดชีวิต ฮุน เซน" และเห็นเขาเป็นเครื่องระบายอารมณ์ประจำวัน ซึ่งไม่ค่อยจะมีประโยชน์โพดผลอะไรนักในช่วงแห่งการเผชิญหน้า แต่ผมได้ติดตามสื่อต่างประเทศบ่อยๆ จึงอยากจะแบ่งปัน "ทัศนะต่างชาติ" ที่มีต่อ ฮุน เซน เผื่อว่าจะช่วยเปิดหูเปิดตาคนไทยได้มากขึ้น
ในความเห็นของผม ทัศนะของคนจีนเป็นเรื่องที่คนไทยควรเข้าใจมากที่สุด
เพราะคนไทยจำนวนมากคิดว่า "กัมพูชาสนิทกับจีน ดังนั้นจีนต้องเข้าข้างกัมพูชา" ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะแม้จีนจะสนิทสนมกับกัมพูชามาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แต่ "กัมพูชามักดื้อด้านกับจีน" และจีนไม่ได้แทรกแซงแนวทางการเมืองของกัมพูชา และถึงแม้จะคิดทำเช่นนั้น แต่กัมพูชามักจะทำตามใจตัวเองโดยไม่ได้แยแสมหาอำนาจหน้าไหน
รัฐบาลจีนนั้นเป็นมิตรกับไทยและกัมพูชา ดังนั้น การเข้าไปสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ "ทำไม่ได้" แต่ "คนจีน" และ "สื่อจีน" ก็มีทัศนะของตัวเองต่อ ฮุน เซน ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจ ควรจะนำมาแบ่งให้อ่าน เพื่อคนไทยจะได้ทราบว่า สิ่งที่ ฮุน เซน ทำต่อแพทองธารนั้น ทำให้คนจีนมองกัมพูชาในแง่มุมใหม่กันเลยทีเดียว
เช่น เว็บไซต์ด้านยุทธศาาสตร์และการทหารของจีน ที่ชื่อ military.china.com ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ว่า "เรื่องอื้อฉาวเรื่องการบันทึกเสียงของฮุน เซนถูกเปิดโปง และสุดท้ายการกระทำของเขาก็ไม่มีความหมาย ฮุนเซนแห่งกัมพูชาพยายามเอาใจสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่กลับกลายเป็นเรื่องตลกของชาติ เขาตั้งใจที่จะหาโอกาสผ่านเรื่องอื้อฉาวเรื่องการบันทึกเสียงในการเมืองไทย ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย แพทองธารมีจุดยืนชัดเจนที่สนับสนุนจีน ในขณะที่พิธา คู่แข่งของเธอมีพื้นเพสนับสนุนอเมริกัน ฮุน เซนเข้าใจผิดคิดว่าเขาจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ความจริงกลับตบหน้าเขาอย่างแรง"
ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นทัศนะของคนจีนจนวนหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตกันมานานแล้วว่า "พรรคประชาชน" เป็นพวกโปรอเมริกัน ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยนั้นโปรจีน แต่ผมจะขอเสริมว่า รัฐบาลไทยแต่ไหนแต่ไรมานับตั้งแต่ก่อน "ยุคจีนผงาด" แล้วล้วนแต่โปรจีน ไม่ใช่เพราะต้องการเกาะจีน แต่เป็นแนวทางการทูตที่กินเวลามาหลายสิบปีแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะอเมริกันไม่ได้ใส่ใจกับไทยและอาเซียนมากนัก จนกระทั่งเมื่อจีนผงาดขึ้นมาท้าทายอิทธิพลสหรัฐฯ การเมืองในไทยจึงถูกดึงเข้าไปสู่วังวนของการต่อสู้นี้ด้วย กระนั้นก็ตาม "ชนชั้นนำในไทย" ล้วนแต่เป็นฝ่าย "ชื่นชมจีน" หาได้ยากมากที่จะชมชอบสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ตอนนี้ "อีลีท" เกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมา "ชื่นชมจีน" เว้นแต่ฟิลิปปินส์เท่านั้น
กลับมาที่ทัศนะนี้ ซึ่งกล่าวต่อไปว่า "แพทองธารทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยมั่นคงขึ้น รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เธอยื่นไปไม่ได้ทำให้สถานะของตระกูลทักษิณสั่นคลอน แต่กลับทำให้ฮุน เซนกลายเป็น "ตัวตลกเวอร์ชันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ความคิดของเขาในการพยายามได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ โดยการแสวงหาความโปรดปราน ถูกชาวเน็ตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้อเลียน ในความเป็นจริง อิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ไม่แข็งแกร่งเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป"
โปรดทราบว่าบทความทัศนะนี้ในเว็บไซต์ military.china.com มีขึ้นหลังจากที่มีข่าวว่า กัมพูชา "ได้ดีล" กับสหรัฐฯ แล้วเรื่องข้อตกลงการค้าหลังจากถูก โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ่นภาษีสูงสุดในอาเซียนถึง 49% เรื่องนี้หากฝ่ายจีนจะมองว่า "กัมพูชาขายตัวให้สหรัฐฯ" ก็คงไม่แปลก และการขายตัวนี้คง "เอาจีนเข้าแลก" เหมือนที่เวียดนามถูกคนจีนด่าว่า "ยอมคุกเข่าให้สหรัฐฯ" โดยเอาการค้ากับจีนไปบูชายัญ
คนจีนจึงมองว่า ฮุน เซน คงกำลัง "ขายจีน" เพื่อแลกการ "คุ้มหัว" โดยสหรัฐฯ แต่ไม่มองว่ารัฐบาลเพื่อไทยนั้น "โปรจีน"
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การ "โปรจีน" แบบข้างๆ คูๆ แต่การที่ไทยและประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน (โดยเฉพาะนำโดยรัฐบาลมาเลเซียสมัยปัจจุบัน) เล็งเห็นผลประโยชน์ในการให้น้ำหนักกับจีนมากกว่า โดยบทความยกเอา "ประโยชน์" ที่เป็นรูปธรรมระหว่างอาเซียนกับจีนมาชี้ให้เห็นว่า "ปริมาณการค้าระหว่างจีนและอาเซียนอยู่ที่ 982,340 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าปริมาณการค้าระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ มาก อาเซียนนำเข้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปจำนวนมากจากจีน และพึ่งพาจีนเป็นอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าอาเซียนจะมีดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง แต่การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาเซียนของสหรัฐฯ กลับมีค่อนข้างน้อย จีนเป็นทั้งตลาดขนาดใหญ่และกุญแจสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
บทความของ เว็บไซต์ military.china.com เห็นว่า ฮุน เซน พยายามผละตัวเองจากจีนและพยายามซบสหรัฐฯ ทั้งยังก้าวร้าวต่อไทยที่เป็นเพื่อนที่ดีกับจีน พวกเขามอกว่า "ฮุน เซน หวังที่จะแลกเปลี่ยนทรัพยากรให้กับสหรัฐอเมริกาโดย "แจกอั่งเปา" (อาจหมายถึงการติดสินบนหรือยกผลประโยชน์ของชาติให้สหรัฐฯ) แต่ก็ไร้ผล แต่กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจจะไม่เปลี่ยนแปลงเพราะผลงานส่วนตัว และความพยายามของ ฮุน เซน ก็ล้มเหลวในที่สุด"
ในแง่นี้ military.china.com ค่อนข้างจะมองสุดโต่งไปหน่อย และผมไม่เห็นว่า ฮุน เซน พยายามดึงสหรัฐฯ เข้ามาเพื่อถ่วงดุลกับจีน เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดสักเท่าไร รังแต่จะสร้างความวุ่นวายให้ประเทศตัวเอง
แต่ผมก็อาจจะ "มองโลกในแง่ดีเกินไป" เหมือนกัน เพราะเท่าที่ตรวจข่าวเกี่ยวกับจีนและกัมพูชา ผมก็ยังเชื่อว่าจีนยังมองกัมพูชาเป็นเพื่อนที่ดี เช่นเดียวกับที่จีนเป็นเพื่อนที่ดีของไทย แต่คนจีนและสื่อจีนอาจจะไม่มองแบบนั้นแล้ว เพราะตะหงิดๆ ว่า "ฮุน เซน อาจจะแทงข้างหลังจีน"
ยิ่งพฤติกรรมการปล่อยคลิปเสียงที่คุยกับแพทองธาร ยิ่งทำให้คนจีนระแวง ฮุน เซน มองเห็นพวกหักหลังคน ไว้ใจไม่ได้ และยิ่งคบไม่ได้
รัฐบาลจีนจะคิดอย่างไรกับ ฮุน เซน นั้นผมจนด้วยเกล้า ได้แต่ชี้ให้เห็นว่าปัญญาชนด้านยุทธศาสตร์ คนทั่วไป และสื่อจีนเขาคิดอย่างไรกับนักการเมืองกัมพูชาผู้นี้
ความเลอะเทอะของ ฮุน เซน นั้นไม่เคยทำให้สื่อภาษาจีนหยุดงุนงง แม้ว่า The Better จะนำเสนอไปหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่วันนี้แม้แต่ Pheonix News ของจีนก็ยังถึงกับอดตั้งคำถามไม่ได้ในรายงานเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ว่า "ฮุนเซนยิงเท้าตัวเองแล้วหรือ?"
บทความของ Pheonix News ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่าหาก ฮุน เซน ยังดื้อด้านแบบนี้ มันอาจจะสายเกินไปที่จะ "ดับไฟ" หากวันหนึ่งไทยได้ผู้นำที่แข็งกร้าวขึ้นมา และกองทัพไทยเอาจริงขึ้นมา บทความเตือนไว้ว่า
"ในระยะสั้น ฮุน เซนได้รับผลลัพธ์ตามที่ต้องการ คือ แพทองธาร คู่แข่งทางการเมืองลาออก กัมพูชาควบคุมปัญหาชายแดนได้อีกครั้ง และแม้แต่ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมในกัมพูชาสงบลงชั่วคราว
แต่ในระยะยาว "ชัยชนะเชิงยุทธวิธี" นี้อาจส่งผลให้เกิด "ความล้มเหลวเชิงยุทธศาสตร์"
และบทความได้คาดการณ์ผลลัพธ์หากเกิดสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชาเอาไว้ว่า
"จากมุมมองของจีน เสถียรภาพในภูมิภาคของเราก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ในฐานะหุ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของกัมพูชาและไทย จีนได้เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ทั้งสองฝ่ายคงความเป็นกลางและมีเหตุผล และเน้นย้ำถึงความหวังว่าทุกประเทศจะรักษาการพัฒนาที่มั่นคง
แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าฮุนเซนได้ผลักดันสถานการณ์ให้ถึงจุดที่ยากต่อการจัดการ หากไทยและกัมพูชาทำสงครามกัน ไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อประชาชนของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังทำลายเสถียรภาพในภูมิภาคอีกด้วย ทำให้กองกำลังต่างชาติอื่นๆ ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์และก่อกวนสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ แม่น้ำโขง และแม้แต่คาบสมุทรอินโดจีน"
Pheonix News ยังส่งคำเตือนถึงผู้นำตัวจริงของกัมพูชาว่า "หาก ฮุน เซน ยังต้องการรักษาอิทธิพลในแวดวงการเมืองกัมพูชา เขาควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติให้มากขึ้นและยอมรับความสันติในภูมิภาค" เพราะ
"เมื่อกองทัพไทยมาถึงเมืองจริง ๆ ก็สายเกินไปที่กัมพูชาจะ "ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด" และบอกว่าเสียใจ"
บทความทัศนะโดย กรกิจ ดิษฐาน ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ The Better
Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP