เปิดยุทธศาสตร์ Siriraj H Solutions กางแผนดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ
ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ Siriraj H Solutions เปิดให้บริการครบ 2 ปี ก้าวเข้าสู่ปี 3 ด้วยเป้าหมายหลักเพื่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศิริราช ที่มีผู้มาใช้บริการมากกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน เป็นศูนย์สุขภาพที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้ป่วยได้หลากหลายมิติ
ปัจจุบันมีคลินิกเปิดให้บริการทั้งหมด 19 คลินิก อาทิ คลินิกทางอายุรศาสตร์, ศัลยศาสตร์, ออร์โธปิดิกส์, ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬา, ผิวหนัง, นรีเวช และจิตเวช เป็นต้น นับเป็น “Wellness Center” และ “ศูนย์ Check-up Center” สำหรับประชาชนทั่วไป เน้นการให้บริการแบบ One Day One Stop Service ผู้ใช้บริการสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียว
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Siriraj H Solutions ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยนอก (OPD) จากโรงพยาบาลศิริราช รวมแล้วมีผู้รับบริการกว่า 4.8 หมื่นคน ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ย 500 คนต่อวัน วันธรรมดา 200-300 คนต่อวัน โดยมีศักยภาพรองรับได้สูงสุด 800-1,000 คนต่อวัน
ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานอายุ 30-50 ปี เนื่องจากที่ตั้งอยู่ใกล้กับสำนักงานและห้างสรรพสินค้า คลินิกที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ คลินิกอายุรศาสตร์, ผิวหนัง (การใช้เลเซอร์), ศูนย์ Check-up, และนรีเวช ตามลำดับ รวมถึงการบริการสำหรับองค์กรนอกสถานที่ลูกค้าองค์กร ทั้งแบบ onsite check-up และ onsite vaccination”
ปัจจุบันมีผู้ป่วยคนไทยมาใช้บริการคิดเป็นสัดส่วน 90% แบ่งเป็นกลุ่มที่การชำระเงินเองประมาณ 50% ถัดมาเป็นกลุ่มประกันสุขภาพ 20-30% และสิทธิข้าราชการ 10-20% ส่วนชาวต่างชาติที่มีสัดส่วน 10% กลุ่มใหญ่มาจากกัมพูชา 3-4% ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย Medical Hub และ Medical Tourism ของรัฐบาล ที่ต้องการเน้นการดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการสุขภาพในประเทศไทย โดยไม่ต้องพึ่งโรงพยาบาลเอกชนเพียงอย่างเดียว ซึ่งราคาให้บริการของ Siriraj H Solutions สำหรับชาวต่างชาติจะสูงกว่าคนไทยประมาณ 25% แต่ก็ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป
“ผ่านมา 2 ปี เรามีบุคลากรและแพทย์หมุนเวียนมาให้บริการประมาณ 200 คนต่อวัน แพทย์ทั้งหมดเป็นอาจารย์แพทย์จากศิริราช ภายใต้นโยบายราคา“one price policy” เทียบเท่ากับโรงพยาบาลศิริราช ทำให้ค่าบริการและค่ายาไม่แตกต่างกันมากนัก ขณะที่ผลประกอบการของเราตอนนี้ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน และไม่สามารถสร้างกำไรเพื่อนำไปจุนเจือศิริราชส่วนกลางได้ แต่ก็ไม่ขาดทุน ไม่ถึงขั้นขอเพิ่มเงินจากศิริราช และกำลังอยู่ในขั้นการสร้างกระแสให้คนรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น”
โดยอัตราการเติบโตของลูกค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 100% จากปีแรกที่มีลูกค้า 100-200 คนต่อวัน เพิ่มในปีที่ 2 เป็น 200-300 คนต่อวัน ขณะที่ค่าบริการตรวจสุขภาพจะเริ่มต้นที่ 1,500-2,000 บาท หากทำหัตถการหรือบริการเฉพาะทาง เช่น ตัดพื้นรองเท้า อาจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป
ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า แผนการพัฒนา Siriraj H Solutions ในปีที่ 3 จะทบทวนบริการบางส่วนและบางคลินิกอาจมีการลดขนาด (downsize) เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับบริการที่ประชาชนต้องการมากขึ้น โดยจะพิจารณาจากผลสำรวจความต้องการ เช่น การเพิ่มคลินิกเฉพาะทางที่ตอบโจทย์โรคที่พบบ่อยขึ้น เช่น โรคปอดจาก PM 2.5 หรือการเพิ่มยูนิตทำฟันและการทำกายภาพบำบัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากผู้ใช้บริการชาวต่างชาติได้ ยกตัวอย่าง การตรวจสุขภาพทั่วไปและทันตกรรมที่ในประเทศไทยมีราคาถูกกว่าหลายประเทศ 10-20 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ Sleep Center เครื่องตรวจการนอนหลับแบบ Home Sleep Lab ที่ผู้ป่วยสามารถนำไปตรวจที่บ้านได้ ช่วยลดระยะเวลารอคิวที่โรงพยาบาลใหญ่ที่ต้องรอนานหลายเดือนได้ รวมถึงเครื่อง CT Scan เครื่องแมมโมแกรมตรวจเต้านม เครื่องตรวจมวลกระดูก ตลอดจนการเปิดคลินิกสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนและการดูแลสุขภาพ
“เรามีแผนจะเปิดคลินิกเพิ่มอีก 2-3 แผนก โดยพิจารณาจากความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น จักษุแพทย์ การตรวจตา ทำแว่น เพิ่มแพทย์หู คอ จมูก โดยยังคงเน้นคุณภาพ ด้วยแพทย์ที่ผ่านการคัดกรองจากภาควิชาที่เกี่ยวข้องของศิริราช เพื่อให้มั่นใจว่าบริการเทียบเท่ากับที่โรงพยาบาลศิริราช”
นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาและขยายเครือข่ายของโรงพยาบาลศิริราชในอนาคต ด้วยการสร้างโรงพยาบาลศิริราชระดับนานาชาติ (บางโพ) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน“Medical Hub” ของไทย ที่ดูแลชาวต่างชาติได้ โดยรายได้และกำไรจากการให้บริการชาวต่างชาติจะนำกลับมาช่วยเหลือคนไทยให้เข้าถึงการรักษาที่ซับซ้อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ยาแพง, ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และดึงแพทย์ไทยที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ เช่น อเมริกา กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงวันหยุดยาว 3 เดือน มาช่วยสอนและเพิ่มสามารถให้กับบุคลากรไทย
รวมถึงวางแผนสร้างแพทย์รุ่นใหม่เพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์ที่มาจากโรงเรียนนานาชาติ ด้วยการเปิดโรงเรียนแพทย์นานาชาติในปี 2570 เพื่อรองรับนักเรียนไทยในโรงเรียนนานาชาติ ที่มักจะไปเรียนต่อแพทย์ในต่างประเทศ ให้มาเรียนที่ศิริราช ซึ่งจะเปิดรับนักเรียนกลุ่มนี้ปีละ 40 คน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ตลาดสุขภาพของไทยยังมีทิศทางที่ดี สามารถเติบโตได้อีกมาก เพราะปัจจุบันมีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์เอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจาก Medical Inflation ที่สูงขึ้น คนเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นตามสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลาดสุขภาพยังคงเติบโตได้อีก และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
คนทำงานยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะวางแผนมีครอบครัวขนาดเล็ก หรือไม่มีบุตร และให้ความสำคัญกับการออมเงินเพื่อรักษาสุขภาพ มีความตื่นตัวด้านสุขภาพและเลือกซื้อแพ็คเกจตรวจสุขภาพมากขึ้น
ส่วนโอกาสจากตลาดต่างชาติ ในภูมิภาคเดียวกัน(ไม่รวมสิงคโปร์) ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวต่างชาติต้องการมาปรึกษาและรักษาโรคมากที่สุด เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลถูกและมีบริการที่ดีเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ยุโรป หรือออสเตรเลีย อาจถูกกว่าถึง 3-5 เท่าสำหรับบางหัตถการ
“ดังนั้น เราจึงอยากเป็นศูนย์การแพทย์ที่ครบวงจร ที่เรียกว่าเป็นสมดุลของชีวิต ที่ไม่ใช่แค่ตรวจโรคเจอคุณหมอ แต่อยากขยายขอบเขตของศิริราช และทำให้เป็น standard ของ Medical Hub ที่จะพัฒนาบทบาทของตนเองในฐานะสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำ โดยไม่เพียงแต่ให้บริการรักษาพยาบาล แต่ยังรวมถึงการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ การวางมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสม และการขยายบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในยุคปัจจุบัน”