ทรัมป์ ส่งจดหมายภาษีนำเข้าอีก 8 ประเทศ บราซิลเจอหนัก 50%
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ออกจดหมายประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าต่ออีก 8 ประเทศ โดยรวมถึงชาติอาเซียนอย่างบรูไนและฟิลิปปินส์ ขณะที่บราซิลถูกเรียกเก็บภาษีสูงสุดถึง 50%
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีนำเข้าชุดใหม่กับ 7 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อิรัก ลิเบีย ศรีลังกา บรูไน มอลโดวา และฟิลิปปินส์ โดยในหนังสือแจ้งระบุอัตราภาษีที่แตกต่างกัน อัลจีเรีย อิรัก ลิเบีย และศรีลังกา จะถูกเก็บภาษี 30% ส่วนบรูไนและมอลโดวา 25% และฟิลิปปินส์ 20%
มาตรการภาษีชุดล่าสุดนี้ถือเป็นส่วนขยายจากหนังสือ 14 ฉบับก่อนหน้า ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษี 25% กับคู่ค้ารายใหญ่อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และอัตราภาษี 36% สำหรับไทย โดยภาษีทั้งหมดจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป เว้นแต่ประเทศเหล่านั้นจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้ก่อนวันดังกล่าว
ไม่กี่ชั่วโมงTruth Social ของทรัมป์ได้เผยแพร่ภาพจดหมายที่ส่งถึงบราซิล ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างจากประเทศอื่น โดยทรัมป์กล่าวถึง "จาอีร์ โบลโซนาโร" อดีตประธานาธิบดีบราซิล และแสดงการคัดค้านการไต่สวนอดีตผู้นำในคดีพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2022 ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น “การล่าแม่มด”
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิจารณ์การคุกคามสิทธิการเลือกตั้งและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของชาวอเมริกันในบราซิล จากกรณีการแบนสื่อสังคมออนไลน์ของสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลเหล่านี้ในการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากบราซิลในอัตรา 50% เริ่ม 1 สิงหาคมนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เรียกเก็บเพียง 10% เมื่อวัน “ปลดแอก” 2 เมษายนที่ผ่านมา
ในบรรดาจดหมายที่ทรัมป์ออกมาแล้วประมาณ 21–22 ฉบับในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีประเทศสมาชิกอาเซียนรวมอยู่แล้ว 8 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (20% จากเดิม 17%) บรูไน (25% จากเดิม 24%) มาเลเซีย (25%) อินโดนีเซีย (32%) กัมพูชา (36%) ไทย (36%) ลาว (40%) และเมียนมา (40%) ขณะที่เวียดนามสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้แล้วที่อัตรา 20% ส่วนสิงคโปร์ถูกเรียกเก็บในอัตราเพียง 10% ตั้งแต่แรก
ความเคลื่อนไหวนี้ ส่งผลให้ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่จัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ประธานอาเซียน เรียกร้องให้ชาติสมาชิกยกระดับการค้าภายในภูมิภาคให้มากขึ้น
โดยระบุว่า อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่กลับได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งทำให้หลายประเทศในอาเซียนต้องเร่งเดินหน้าเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ
ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ระบุว่า มาเลเซียจะไม่ข้าม เส้นในการเจรจากับสหรัฐฯ แต่จะยังเดินหน้าพูดคุยเพื่อขอลดอัตราภาษีนำเข้า 25% ที่เรียกเก็บกับสินค้าส่งออกของมาเลเซีย โดยสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องที่ล่วงล้ำผลประโยชน์แห่งชาติและอธิปไตยของมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงประเด็นด้านนโยบายภายในประเทศและกฎหมายของมาเลเซีย เช่น ภาษีดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ มาตรฐานทางการแพทย์ การรับรองฮาลาล และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
ทีมเจรจาของมาเลเซียหารือกับผู้แทนจากสหรัฐฯ อย่างน้อย 25 ครั้ง และให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงมาตรการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม โดยข้อเสนอของมาเลเซียที่ยื่นต่อสหรัฐฯ ยังรวมถึงการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิงใหม่อย่างน้อย 30 ลำ สำหรับสายการบินแห่งชาติมาเลเซียแอร์ไลน์ส รวมถึงข้อตกลงในภาคส่วนเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีด้วย