โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Public House โรงแรมในลิสต์ Design Hotels ที่ไม่เข้าพักก็มาทำงาน อัดพอดแคสต์ สังสรรค์ได้

Capital

อัพเดต 15 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว • Insight

สุขุมวิทยามบ่ายกำลังคึกคักได้ที่ ท่ามกลางร้านอาหาร สปา และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินสวนกันขวักไขว่ เราก้าวเข้ามาในอาคารสีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางซอยสุขุมวิท 31

ปกติเวลาเดินเข้าโรงแรมที่ไหน เรามักจะรู้สึกสงบและผ่อนคลาย แต่กับ Public House Bangkok ผ่อนคลายน่ะใช่ แต่ความรู้สึกที่สัมผัสได้ออกจะไปทางสนุกเสียมากกว่า

ด้วยสีสันฉูดฉาด การตกแต่งสไตล์ mid-century ผสมกับ modern industrial กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ไวบ์สุด cozy ของบาร์และร้านอาหารข้างใน รวมถึงเอเนอร์จี้ของพนักงานและผู้คนที่แสนจะกระตือรือร้น องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ Public House Bangkok เป็นโรงแรมที่ไม่เหมือนโรงแรม และ ธนชัย สัจจเทพ หนึ่งในเจ้าของก็เหมือนจะคิดตรงกับเรา

“ถ้าพูดคำว่า Public House อยากให้คนคิดว่าคือสถานที่ที่คนมาฆ่าเวลา ไม่ต้องเป็นปลายทาง แต่รู้สึกสบายใจมากพอที่จะมา เราไม่ได้อยากจะเป็น third place (พื้นที่นอกเหนือจากบ้านและที่ทำงาน) แต่เราอยากเป็น in between place มาแล้วอาจจะได้ไอเดียอะไรกลับไป” ชายหนุ่มบอก

ย้อนกลับไปราวสองปีก่อน เขาและชนาสิญจ์ สัจจเทพ รวมทั้งธิดา สัจจเทพ ทีมผู้ก่อตั้งเปิดโรงแรมนี้ในฐานะ lifestyle hotel ที่เราไม่ค่อยจะเห็นในไทย โดยให้ความสำคัญกับดีไซน์ ไวบ์ที่สนุก ผ่อนคลาย และประสบการณ์ของลูกค้าที่จะเกิดขึ้นที่นี่ เพราะทั้งสามคนเชื่อว่า ประสบการณ์ที่ดีจะสร้างความทรงจำที่ดี และนั่นคือเหตุผลที่ลูกค้าจะกลับมาอีก

ข้ามเวลามายังปัจจุบัน Public House Bangkok คือโรงแรมหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ติดอยู่ในลิสต์ของ Design Hotels แพลตฟอร์มที่รวบรวมโรงแรมดีไซน์เจ๋งทั่วโลก ได้รับคำชมจากเว็บไซต์ว่าเป็น ‘ศูนย์กลางของการสังสรรค์ใจกลางสุขุมวิท ร่วมสมัยและเปิดกว้าง และเป็นจุดเริ่มต้นที่สมบูรณ์แบบในการสำรวจเมือง’

คอลัมน์ ‘พักดี’ คราวนี้ อาสาพาคุณมาบุก Public House ถอดแนวคิดการออกแบบโรงแรมและประสบการณ์ที่ทำให้ลูกค้าหลายคนติดใจ

Lifestyle Hotel

ก่อนริเริ่มธุรกิจโรงแรมด้วยกัน ธนชัยและชนาสิญจ์เคย (และตอนนี้ก็ยังคง) คลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจแฟชั่นมาก่อน

หลายคนอาจรู้จักชื่อของพวกเขาในฐานะคนที่นำแบรนด์ไฮสตรีทแฟชั่นชื่อดังมากมายจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ไม่ว่าจะเป็น SUPERDRY, FRIETAG หรือ Topologie

“ทุกปีเราจะต้องไปดูคอลเลกชั่นสินค้าใหม่ในต่างประเทศ จึงได้เข้าพักโรงแรมที่เรียกตัวเองว่า lifestyle hotel ในยุโรปและอเมริกา จุดเด่นของ lifestyle hotel คือนอกจากห้องพัก ด้านล่างของโรงแรมจะมีโซนต่างๆ ที่คนเยอะทั้งวัน

“มีทั้งคนมานั่งทำงาน กินกาแฟ และทำกิจกรรมต่างๆ หลายคนไม่ได้มาเพื่อเข้าพัก แต่เขามาเพราะจะได้เจอ like-minded people หรือคนที่มีความคิดและรสนิยมคล้ายกัน บางทีก็อยู่ในแวดวงเดียวกันหรือรู้จักกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความครีเอทีฟอยู่ในตัว” ธนชัยเล่าเท้าความ

ภาพนั้นจุดประกายไอเดียให้พวกเขา บวกกับในประเทศไทย ธนชัยและชนาสิญจ์ยังไม่เคยเห็นโรงแรมไหนประกาศตัวว่าเป็น lifestyle hotel อย่างชัดเจน ไอเดียนั้นจึงเริ่มก่อร่างสร้างตัว กลายเป็นโปรเจกต์ทำโรงแรมแนว lifestyle hotel จริงจัง

Heart of Sukhumvit

ในครั้งแรกที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปมักจะเลือกโรงแรมติดแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อชมทัศนียภาพอันสวยงาม แต่เมื่อกลับมาในครั้งต่อไป พวกเขามักเลือกโรงแรมใจกลางเมืองที่อยู่ติดกับรถไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการเดินทาง–นั่นคือสิ่งที่ธนชัยสังเกตเห็นมาตลอดหลายปี

และเป็นเหตุผลที่เขากับทีมเลือก ‘สุขุมวิท’ ย่านใจกลางเมืองซึ่งนักท่องเที่ยวชุกชุม เป็นที่ตั้งของโรงแรม

“แต่ละส่วนของเมืองจะมีลูกค้าคนละกลุ่ม นักท่องเที่ยวที่มาสุขุมวิทมักเป็นนักธุรกิจ สายปาร์ตี้ และนักท่องเที่ยวทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่น ชาวยุโรป และชาวอเมริกัน” ชายหนุ่มบอก

คอนเซปต์แรกของโรงแรมคือไม่ใช่แค่ที่พัก แต่อยากเป็นพื้นที่แสนเป็นมิตรที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ตอนคิดชื่อโรงแรม พวกเขาจึงนึกถึงผับในอังกฤษชื่อ Public House ที่มีไวบ์สุด cozy เหมือนกัน จึงหยิบยืมชื่อมาตั้งเป็นชื่อโรงแรม

Charm of Renovation

เมื่อก้าวเท้าเข้ามาที่ Public House Bangkok สิ่งแรกที่โดดเด่นคือโถงต้อนรับสีสันสะดุดตา

“เวลาเราไปโรงแรมทั่วไป เขามักจะทำโรงแรมโดยเน้นเรื่อง functional เป็นหลัก เคาน์เตอร์เช็กอินต้องใหญ่เท่านี้ บาร์ต้องเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างมีฟอร์แมต แต่ Public House รีโนเวตขึ้นจากอพาร์ตเมนต์เก่า เราจึงโดนลิมิตด้วยหลายๆ อย่าง”

แค่โครงสร้างก็ไม่เหมือนโรงแรมที่อื่นแล้ว การตกแต่งของที่นี่ก็ฉีกกรอบออกจากความเป็นโรงแรมเช่นกัน Public House Bangkok ใช้ตกแต่งสไตล์ modern industrial ผสม mid-century ที่ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา กึ่งดิบกึ่งหรูหรา แต่เป็นกันเองและไม่ได้เข้าถึงยากเกินไป

ที่นี่ดึงดูดเราได้ตั้งแต่พื้นโถงโรงแรมที่เป็นพื้นไม้ ซึ่งไม่ค่อยเห็นได้ในโรงแรมอื่น ธนชัยได้แรงบันดาลใจมาจากผับในยุโรปที่ใช้พื้นไม้แบบนี้เหมือนกัน “ตอนสร้างแรกๆ ผมจะโดนติงเยอะเรื่องพื้นไม้ เพราะทีมกลัวจะเป็นรอย แต่สำหรับผม รอยมันคือการใช้งาน คือความทรงจำ คือการใช้ชีวิต คือเสน่ห์ของมัน”

จุดเด่นอีกข้อของสไตล์ industrial design คือการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างแต่มาอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว อาทิ สเตนเลสและไม้ที่ใช้ตกแต่งห้องโถงและทางเดิน ยิ่งได้มารวมกับของสะสมส่วนตัวและงานศิลปะของผู้ก่อตั้ง ประกอบกับเฟอร์นิเจอร์ที่มีสีสันและลวดลายฉูดฉาดก็เข้ากันได้อย่างประหลาด

“ผมอยากให้เป็นล็อบบี้ที่เข้ามาแล้วรู้สึก cozy อบอุ่น นั่งแล้วผ่อนคลาย คอนเนกต์กันได้ง่ายขึ้น มากกว่านั้นคือรู้สึกครีเอทีฟ”

1 Room, 5 Factors

Standard, Deluxe, City View, Suite

เวลาไปนอนโรงแรม เราอาจคุ้นเคยกับประเภทของห้องเหล่านี้

Public House ก็มีห้องหลายประเภทเหมือนกัน แต่แทนที่จะตั้งชื่อเหมือนโรงแรมทั่วไป พวกเขากลับตั้งชื่อห้องว่า Downtown, Uptown, Edge of the city, Daydreamer, Sky Terrace และ Suite โดยได้แรงบันดาลใจมาจากฟีดแบ็กของผู้เข้าพักที่บอกว่าการมาที่นี่เหมือนได้เข้าพักในมหานครนิวยอร์กหรือลอนดอน ซึ่งจะมีย่านดาวน์ทาวน์และอัพทาวน์

ธนชัยนำชื่อเหล่านี้มาตั้งแทนห้องพักที่อยู่ในชั้นล่างกับชั้นที่สูงขึ้นไป Edge of the city คือห้องที่เห็นวิวเมือง Daydreamer จะเป็นห้องที่ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย ส่วน Sky Terrace คือห้องที่มีระเบียงชมท้องฟ้า และ Suite ก็ตามชื่อ เป็นห้องที่หรูหราและกว้างขวาง เหมาะสำหรับครอบครัว

“ผมคิดว่าโรงแรมควรจะมี 5 อย่างที่ต้องมี หนึ่ง–เตียงต้องนอนสบาย เพราะถ้าโรงแรมไม่ตอบโจทย์เรื่องนอน what’s the point? สอง–ความดันน้ำจะต้องแรงตอนอาบน้ำ อาบแล้วสบาย สาม–แอร์เย็น สี่–อินเทอร์เน็ตแรง ห้า–ทีวีใหญ่ นี่คือ 5 อย่างที่ Public House อยากโฟกัส”

ที่ Public House เราจึงจะได้เอนตัวลงบนเตียง American king bed 7 ฟุตที่ทำให้ลูกค้าหลายคนเขียนคอมเมนต์กลับมาว่าเป็นเตียงที่นอนสบายที่สุดเท่าที่เคยนอน เช่นเดียวกับทีวีขนาด 65 นิ้วใหญ่เต็มตาที่มีตั้งไว้ให้ทุกห้อง แถมยังมีโต๊ะข้างเตียงที่เป็นทั้งโต๊ะ ลำโพงบลูทูธ และ wireless charger ในอันเดียวกัน

Flexi Room, Flexi Thinking

แต่พูดกันตามตรง ถ้าเป็นโรงแรมที่มีแค่ห้องพักเฉยๆ ก็คงไม่ต้องตั้งชื่อว่า Public House

ตั้งแต่ day 1 ธนชัยและทีมตั้งใจให้ที่นี่เป็นที่ที่ใครก็เข้าถึงได้ เข้าถึงง่าย และไม่จำเป็นต้องกดบุ๊กกิ้งห้องพักก็ก้าวเท้าเข้ามาได้เสมอ

ส่วนที่เราพูดถึงคือร้านอาหารและบาร์ที่เปิดทั้งวัน จะมานั่งกินกาแฟ จิบไวน์ หรือทำงานก็แล้วแต่ ชายหนุ่มเจ้าของโรงแรมนิยามว่า มันคือจุดนัดพบ

“เมื่อก่อนเวลาจะนัดเจอดีไซเนอร์ ซัพพลายเออร์ หรือใครก็แล้วแต่ ถ้าเราไปโรงแรมเขามักจะคิดค่าห้องประชุม ไปร้านกาแฟบางครั้งก็คนแน่นหรือไม่เหมาะกับการนั่งคุยกัน เราเลยอยากทำพื้นที่มาตอบความต้องการตรงนี้ เข้ามาแล้วไม่ต้องกังวลว่าจะมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเท่าไหร่ หลังคุยงานเสร็จเขาก็สามารถทานข้าวหรือนั่งดื่มกันต่อได้ สิ่งเหล่านี้มันสร้างความสัมพันธ์ที่นอกเหนือจากการงานได้” ธนชัยบอก

นอกจากร้านอาหารและบาร์สุดชิลล์ ที่นี่ยังมีพื้นที่ทำงานนั่งสบายชื่อ Forum ที่หลายครั้งถูกเช่าเป็นพื้นที่ในการเทรนนิ่งพนักงานของบริษัทต่างๆ ถัดเข้ามาหน่อยคือ Flexi Room ห้องอเนกประสงค์ที่จะใช้เป็นห้องประชุม โต๊ะกินข้าวเย็นแบบส่วนตัว หรือสตูดิโอซ้อมเต้นก็ทำได้หมด มากกว่านั้น ที่นี่ยังมี The Podcast Lounge สตูดิโออัดพอดแคสต์ที่รอให้สายคอนเทนต์มาใช้งาน

“จริงๆ เราพยายามทำให้พื้นที่ทั้งหมดยืดหยุ่นมากที่สุด พยายามทำทุกอย่างให้คนรู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ที่ตอบความต้องการของคุณได้ง่าย ครั้งหนึ่ง ค่ายเพลง Universal Thailand เคยขอพื้นที่ทั้งหมดมาใช้จัด press conference ของ Olivia Dean, หมู ASAVA ก็เคยมาทำ Trunk Show, ทิฟฟานี่ก็เคยมาถ่ายงาน หรือถ้าข้างล่างจัดไม่ได้ เราก็ยินดีให้ใช้พื้นที่ด้านบน อย่างป๋าเต็ดก็เคยมาปิดห้องพักชั้นบนแล้วทำแต่ละห้องให้เป็นร้านขายแผ่นเสียง หรือ Mango Art Fair ก็เคยขอเช่าห้องพัก 2 ชั้นจัดเป็นอาร์ตแกลเลอรีช่วงวันหยุดสัปดาห์

“ที่เราเปิดให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้แบบนี้ เพราะอยากให้คนได้มาเจอเรา และเราอยากให้คนได้เจอกันด้วย เผื่อว่าเขาใช้พื้นที่ตรงนี้แล้ววันหลังเขาจะได้กลับมาอีก”

Welcome Back!

ท่ามกลางตลาดโรงแรมที่แข่งขันสูง หนึ่งใน KPI ที่ทีมผู้ก่อตั้ง Public House ตั้งไว้ คือจำนวนของลูกค้าที่กลับมาพักกับพวกเขาอีกครั้ง

ธนชัยเชื่อว่าปัจจัยที่มีผลมาก คือประสบการณ์ที่ดี

แต่ประสบการณ์ดีๆ ในนิยามของ Public House อาจจะต่างจากที่อื่นอยู่สักหน่อย นอกจากจะมีห้องพักที่ดี สเปซดีๆ ที่ส่งเสริมให้คนมาแฮงเอาต์กัน ที่นี่ยังอยากให้ลูกค้าได้ออกไปหาประสบการณ์ที่ดีจากนอกโรงแรม ในวงเล็บว่าต้องตรงกับเทสต์ของพวกเขาด้วย

“มีช่วงหนึ่งผมไปทำงานที่ฝรั่งเศสบ่อย พอทำงานเสร็จก็ถึงช่วงสุดสัปดาห์ มันไม่รู้จะไปไหน พอเสิร์ชกูเกิลก็เจอสถานที่เดิมๆ แต่พอเราอยู่เมืองไทย เราเป็นเจ้าบ้าน เรารู้ว่าอาร์ตแกลเลอรีที่ไหนจะมีอีเวนต์ช่วงสุดสัปดาห์ หรือร้านอาหารที่ไหนมีนักร้องที่ดี หรือที่เที่ยวกลางคืนแต่ละย่านให้ไวบ์แบบไหน เราก็พยายามเทรนทีมพนักงานว่า ถ้าลูกค้ามาถามว่ามีอะไรทำบ้าง เราควรจะบอกเขาได้มากกว่าสิ่งที่กูเกิลได้ เริ่มจากการตั้งคำถามกับลูกค้าว่าเขาชอบแนวไหน แล้วแนะนำสิ่งที่ถูกจริตกับเขา

“ลูกค้าอาจจะเคยมากรุงเทพฯ แล้วเคยเห็นมุมที่แมส แต่เราอยากช่วยทำให้เขาหลงรักกรุงเทพฯ อีกครั้งในมุมที่ niche อยากให้เขาได้รู้ว่ากรุงเทพฯ มันมีอะไรมากกว่าการนั่งตุ๊กตุ๊กแล้วไปเยาวราช”

หรือถ้าลูกค้าขี้เกียจคิด Public House ก็มีเส้นทางผจญภัยที่ดีไซน์ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ เส้นทางแรกที่แนะนำคือ Canal Adventure ที่ชวนให้นักท่องเที่ยวได้ขี่จักรยานเลียบคลองไปสำรวจเมือง อีกเส้นทางคือ Tri-Park Adventure ชวนขี่จักรยานไปทัวร์ 3 สวนสาธารณะยอดฮิตของคนเมือง

“ลูกค้ามาเที่ยวเพื่อจะได้มีประสบการณ์ดีๆ currency ของทุกคนมันคือ memory เพราะ on the dying bed ไม่มีใครมาคิดหรอกว่ากระเป๋าตังค์เรามีเงินเท่าไหร่ แต่เขาจะคิดถึงความทรงจำที่มี ผมจึงคิดว่าการเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความทรงจำดีๆ ให้เขาได้ เราถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้วนะ”

What I've Learned

“ในด้านการลงทุน บางอย่างมันสวยดีแต่ไม่จำเป็น (หัวเราะ) ลูกค้าไม่ได้ให้ความสำคัญ ไปโฟกัสกับการสร้างประสบการณ์ของเขา ทำเกินความคาดหวังของเขาดีกว่า”

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Capital

7 รหัสสร้างคาแรกเตอร์ให้ปัง เมื่อการทำคาแรกเตอร์ให้ดังไม่ใช่แค่ความน่ารักหรือโชคดวง

12 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ใช้ AI ยังไงให้เหมือน ‘เพื่อนรู้ใจ’ คำตอบจาก Meta และ 3 แบรนด์ดัง ในงาน AI for Business

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

‘ลำไย’ อินทรีย์ สวนนิเวศเกษตร สู่ อาหารไฟน์ไดนิ่งสุดสร้างสรรค์

กรุงเทพธุรกิจ

บอลวันนี้ ดูบอลสด ถ่ายทอดสด โปรแกรมฟุตบอล วันเสาร์ที่ 26 ก.ค. 68

PostToday

ราดหน้ายอดผัก ‘อภิโภชน์’ สูตรต้นตำรับ 50 ปี ของอร่อยซอยมัยลาภ

กรุงเทพธุรกิจ

26 กรกฎาคม 1956 อียิปต์ยึด “คลองสุเอซ” คืนจาก “อังกฤษ-ฝรั่งเศส”

ศิลปวัฒนธรรม

“เฉลว” เครื่องรางขับไล่ภูตผี มรดกความเชื่อโบราณกลุ่มชนคนไท

ศิลปวัฒนธรรม

“ดับบาวาลา” อาชีพส่งปิ่นโตในเมืองมุมไบ เก่าแก่กว่า 130 ปี ส่งแม่น ส่งไว ติดอันดับโลก

ศิลปวัฒนธรรม

โรงเลี้ยงเด็กแห่งแรกในสยาม ของพระอรรคชายาเธอใน ร.5 ที่มา “ตรอกโรงเลี้ยงเด็ก”

ศิลปวัฒนธรรม

3 ขุนศึกจากเมืองตาก นายทหารคู่พระทัย “พระเจ้าตาก” คราวกอบกู้เอกราชสยาม

ศิลปวัฒนธรรม

ข่าวและบทความยอดนิยม

ปรัชญาการอนุรักษ์งานคราฟต์ของแบรนด์ Craft Colour ที่นิยามสีจากธรรมชาติเป็นงานหัตถกรรม

Capital

ใช้ AI ยังไงให้เหมือน ‘เพื่อนรู้ใจ’ คำตอบจาก Meta และ 3 แบรนด์ดัง ในงาน AI for Business

Capital

เบื้องหลัง Tesla ที่ ‘อีลอน มัสก์’ ไม่ได้ก่อตั้ง แต่เข้ามาปฏิวัติให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าทะยานสู่ภาพฝันระดับโลก

Capital
ดูเพิ่ม
Loading...