‘ฝรั่งเศส-สเปน’ เข้ากลุ่มเก็บ ‘ภาษีเครื่องบินส่วนตัว’ หวังลดก๊าซเรือนกระจก
“เครื่องบิน” เป็นหนึ่งในพาหนะที่ปล่อย “คาร์บอน” จำนวนมาก ในแต่ละที่นั่งก็ปล่อยคาร์บอนไม่เท่ากัน ยิ่งที่นั่งที่ใช้พื้นที่มากขึ้น เช่น ชั้นธุรกิจหรือชั้นเฟิร์สคลาส มักปล่อยปริมาณคาร์บอนส่วนบุคคลสูงกว่าที่นั่งในชั้นประหยัดที่มีผู้โดยสารแน่นขนัด แต่ก็ยังไม่มากเท่าเครื่องบินเจ็ท หรือ เครื่องบินส่วนตัวซึ่งมีที่นั่งน้อยกว่า 20 ที่นั่ง ก่อให้เกิดมลพิษต่อคนมากกว่า กลุ่มประเทศพันธมิตรจึงรวมตัวกันให้คำมั่นว่าจะเก็บภาษีผู้โดยสารชั้นพรีเมียม เพื่อระดมทุนสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะทำงานการจัดเก็บภาษีความสามัคคีระดับโลก (Global Solidarity Levies Task Force) ซึ่งมีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เคนยา บาร์เบโดส สเปน โซมาเลีย เบนิน เซียร์ราลีโอน และแอนติกาและบาร์บูดา โดยฝรั่งเศสและสเปนเข้ามาเป็นสมาชิกล่าสุดของกลุ่มนี้ การประชุมสุดยอดด้านการพัฒนาของสหประชาชาติที่เมืองเซบียาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2025
กลุ่มดังกล่าว จัดตั้งขึ้นระหว่างการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศ COP28 ในปี 2023 เพื่อสำรวจรูปแบบการเก็บภาษีใหม่ ๆ จากภาคส่วนที่ก่อมลพิษ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ที่สนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยคาร์บอนและปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ โดยไม่ต้องพึ่งพากลุ่มประเทศร่ำรวยที่เริ่มตัดความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ
ลอว์เรนซ์ ทูเบียนา ประธานร่วมของสำนักเลขาธิการคณะทำงานการจัดเก็บภาษีความสามัคคีระดับโลก กล่าวว่า การเก็บภาษีใหม่สำหรับผู้โดยสารชั้นพรีเมียมอาจช่วยระดมทุนครั้งสำคัญได้
“ในบริบทปัจจุบัน ทุกคนมองโลกในแง่ร้าย โดยบอกว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย การประกาศในวันนี้เป็นหลักฐานว่าเราสามารถก้าวหน้าได้” ทูเบียนาเสริม
การศึกษาล่าสุดของกลุ่มประเมินว่า การเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินส่วนตัวทั่วโลกอาจสร้างรายได้สูงถึง 41,000 ล้านยูโรต่อปี ส่วนการเพิ่มค่าธรรมเนียมสำหรับที่นั่งเฟิร์สคลาสและชั้นธุรกิจอาจทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 37,000 ล้านยูโร เมื่อรวมกันแล้ว อาจสร้างรายได้มากกว่า 78,000 ล้านยูโรต่อปี สำหรับนำมาใช้สนับสนุนความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศและโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ การศึกษายังระบุด้วยว่า การเพิ่มค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเชิงพาณิชย์จะทำให้ยอดรวมนี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 187,000 ล้านยูโรต่อปี
ขณะที่ การศึกษาอีกชิ้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กร พบว่า การเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินส่วนตัวที่ 1.95 ดอลลาร์ต่อแกลลอนสามารถสร้างรายได้ 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับความพยายามในการลดคาร์บอน
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ระบุว่า นี่ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับภาคการบิน พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศเข้าร่วมโครงการนี้
“การที่มีสเปนอยู่ในกลุ่มพันธมิตรถือเป็นข่าวดีมาก และเราต้องการประเทศต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องการประเทศที่ได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ให้มีส่วนสนับสนุนด้านการเงินมากขึ้น”
การบินมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 2.5% ของโลก และการบินมีส่วนทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งตัวเลขเกิดจากประชากรโลกเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่เดินทางด้วยเครื่องบินในแต่ละปี และมีประชากรโลกเพียง 1% เท่านั้นที่ถูกขนานนามว่า “ผู้ปล่อยมลพิษสูงสุด” โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 50% ของการบินทั้งหมด
การศึกษาวิจัยขององค์กรไม่แสวงหากำไร International Council on Clean Transportation (ICCT) แสดงให้เห็นว่าการบินส่วนตัวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO₂e)ในปี 2023 (ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่มี) มากถึง 19.5 ล้านตัน แม้จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2022 แต่ก็ยังมากเท่ากับเที่ยวบินทั้งหมดที่ออกเดินทางจากสนามบินฮีทโธรว์ ของอังกฤษ
ในรายงาน นักวิจัยระบุเที่ยวบินส่วนตัว 3.57 ล้านเที่ยวบินในปี 2023 โดยเครื่องบินแต่ละลำปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 810 ตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับรถยนต์ 177 คันหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ 9 คัน แต่กลับขนส่งผู้คนหรือสินค้าได้น้อยกว่ามาก
ICCT แสดงให้เห็นว่าในปี 2023เที่ยวบินเครื่องบินส่วนตัวทั่วโลก มีถึง 55% ที่ออกเดินทางจากสหรัฐ แค่จากรัฐฟลอริดาและเท็กซัสเพียง 2 รัฐ ก็มีเที่ยวบินส่วนตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าสหภาพยุโรปทั้งหมดแล้ว ส่วนประเทศที่มีเที่ยวบินส่วนตัวมากที่สุดรองลงมา คือ ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร โดยคิดเป็น 2.2% และ 2.1% ตามลำดับ
นอกจากนี้ นักวิจัยยังคาดการณ์ว่าเครื่องบินส่วนตัว 95 ลำที่บินไปเวนิสเพื่อร่วมงานแต่งงานของเจฟฟ์ เบโซสและลอเรน ซานเชซ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 5,000 ตัน
“การบินเป็นรูปแบบการเดินทางที่พิเศษและก่อให้เกิดมลพิษมากที่สุด ดังนั้น นี่จึงเป็นก้าวสำคัญในการทำให้มั่นใจว่า ผู้ที่ใช้บริการเที่ยวบินเหมาลำจะต้องเสียภาษีในส่วนที่พวกเขาควรจ่าย” รีเบกกา นิวซัม จากกรีนพีซ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวในแถลงการณ์เกี่ยวกับคำมั่นสัญญาของกลุ่มพันธมิตร
“เนื่องจากผลกระทบจากสภาพอากาศในประเทศที่รับผิดชอบต่อวิกฤตน้อยที่สุดมีต้นทุนที่สูงขึ้น การดำเนินการที่กล้าหาญและร่วมมือกันเพื่อให้ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายจึงไม่เพียงแต่ยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็นอีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม นิวซัมตั้งข้อสังเกตว่าคณะทำงานและประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ควรดำเนินการให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะบริษัทน้ำมันและก๊าซจำเป็นต้องมีส่วนรับผิดชอบ ด้วยการเก็บภาษีกำไรจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและการสกัดเชื้อเพลิงให้สูง ซึ่งคาดหวังว่าจะต้องเกิดภายในการประชุม COP30 ในปีนี้
ขณะเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลกพยายามดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพื่อจำกัดการปล่อยมลพิษจากการบิน เช่น การห้ามเที่ยวบินระยะสั้น ในปี 2021 ฝรั่งเศสประกาศว่าจะห้ามเที่ยวบินใด ๆ ก็ตามที่สามารถทดแทนด้วยการนั่งรถไฟ 180 นาทีได้ และฝรั่งเศสเพิ่งออกแผนลดการปล่อยมลพิษจากการเดินเรือ
ที่มา: El Pais, Euro News, Fast Company, Reuters