เกิดอะไรขึ้น "สี จิ้นผิง" ไม่ร่วมประชุม BRICS ครั้งแรกในรอบสิบปี
การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เริ่มต้นขึ้นที่บราซิลในวันอาทิตย์นี้ แต่ไม่มีผู้นำสูงสุดของประเทศสมาชิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดเข้าร่วม
เป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษของการดำรงตำแหน่ง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ผู้ซึ่งยกให้ BRICS เป็นศูนย์กลางของความพยายามในการปรับเปลี่ยนสมดุลอำนาจของโลก จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำประจำปี
การที่สี จิ้นผิง ไม่เข้าร่วมการประชุมซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันในนครรีโอเดจาเนโร เมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของบราซิล เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของ BRICS ซึ่งได้ขยายสมาชิกเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2024
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกบางรายต้องเผชิญเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคมในการเจรจาภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเรียกเก็บ และทุกประเทศกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลจากการที่ทรัมป์พลิกนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้กลุ่มนี้ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในการแสดงความเป็นปึกแผ่นให้เห็น
คำถามก็คือ การที่สี จิ้นผิง ไม่มาร่วมหมายถึงการที่ผู้นำจีนพลาดโอกาสสำคัญในการแสดงภาพลักษณ์ของจีน ว่าเป็นผู้นำทางเลือกที่มั่นคงต่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภาพที่ปักกิ่งต้องการส่งสัญญาณไปยังประเทศในซีกโลกใต้มาโดยตลอด และภาพนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้นหลังจากทรัมป์หันมาใช้นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” และจากการที่สหรัฐฯ ร่วมกับอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อเดือนที่แล้ว
การที่สีตัดสินใจไม่เข้าร่วม โดยส่งหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อันดับ 2 ของจีนแทน ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ไม่ได้หมายความว่า ปักกิ่งลดความสำคัญของ BRICS ลง หรือ BRICS มีความสำคัญน้อยลงในสายตาของจีนในการสร้างกลุ่มพันธมิตรที่คานอำนาจตะวันตก
จง เจียอี้เหียน รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า (BRICS) เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของจีนในการไม่ให้ตัวเองถูกล้อมกรอบโดยพันธมิตรของสหรัฐฯ
แต่แรงกดดันดังกล่าว อาจลดลงเมื่อทรัมป์อยู่ในตำแหน่ง เเละยังชี้ถึงการที่ผู้นำสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์แม้แต่กับพันธมิตรหลัก และสำหรับสี จิ้นผิงแล้ว BRICS อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญลำดับต้นของช่วงที่กำลังมุ่งความสนใจไปที่การนำพาเศรษฐกิจภายในของจีน ซึ่งจีนอาจมีความคาดหวังต่ำต่อการบรรลุผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมสุดยอดในปีนี้
รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม BRICS
สี จิ้นผิง ไม่ใช่ผู้นำเพียงคนเดียวที่ไม่เดินทางมายังนครรีโอเดจาเนโร ผู้นำพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในกลุ่มนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย จะเข้าร่วมทางวิดีโอลิงก์เท่านั้น เช่นเดียวกับที่เขาเข้าร่วมการประชุม BRICS ในแอฟริกาใต้เมื่อปี 2023 จากระยะไกล
อย่างไรก็ตาม บราซิลก็เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้ เป็นประเทศภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จึงมีพันธะผูกพันต้องจับกุมปูติน ผู้นำรัสเซีย ตามหมายจับของศาลที่กล่าวหาว่า ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
การขาดหายไปของผู้นำทรงอิทธิพลทั้งสอง เปิดโอกาสให้แสงไฟจับไปที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งจะเดินทางไปบราซิลทั้งเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดและในฐานะการเยือนรัฐอย่างเป็นทางการ ขณะที่ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซาของแอฟริกาใต้ก็คาดว่าจะเข้าร่วมด้วย
ประเทศสมาชิกใหม่บางรายอย่างอินโดนีเซียโดย ปราโบโว ซูเบียนโต ของอินโดนีเซีย เดินทางไปร่วมประชุมหลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีนี้
ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การที่สี จิ้นผิง ไม่มาร่วมอาจไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประธานาธิบดีบราซิล เนื่องจากผู้นำจีนได้เดินทางเยือนบราซิลเมื่อเดือนพฤศจิกายน เพื่อเข้าร่วมการประชุม G20 และการเยือนรัฐอย่างเป็นทางการ โดยในโอกาสนั้น สีและลูลาได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับ นอกจากนี้ ผู้นำบราซิลยังได้เยือนจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม และเข้าร่วมพิธีสวนสนามทางทหารในกรุงมอสโกเคียงข้างสีด้วย
อย่างไรก็ตาม จีนกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากแรงเสียดทานทางการค้ากับสหรัฐฯ และผู้นำของจีนกำลังวางแผนเส้นทางสำหรับ 5 ปีข้างหน้า ก่อนการประชุมสำคัญทางการเมืองที่จะจัดขึ้นในปีนี้
ซึ่งตัวเเทนของเขาน่าจะได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญ เช่น การเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างจีนกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลักในกลุ่ม BRICS และการผลักดันให้ใช้เงินหยวนสกุลต่างประเทศและสกุลดิจิทัลในการค้าภายในกลุ่ม
การลดบทบาทดอลลาร์
BRICS เริ่มต้นในปี 2009 ในฐานะกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ก่อนที่แอฟริกาใต้จะเข้าร่วมในปีถัดมา กลุ่มนี้มีจุดยืนคล้ายคำตอบของซีกโลกใต้ต่อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว G7
กลุ่มนี้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่หลายประเทศผลักดันแนวคิด “โลกหลายขั้ว” ที่อำนาจกระจายตัวมากขึ้น และในขณะที่ปักกิ่งกับมอสโกพยายามเสริมสร้างอิทธิพลของตนเองในเวทีโลก ท่ามกลางความตึงเครียดกับชาติตะวันตก
แต่โครงสร้างของ BRICS ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศที่มีระบบการเมืองและเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างมาก และมีความขัดแย้งกันเป็นครั้งคราว รวมถึงการขยายสมาชิกในระยะหลัง ก็ก่อให้เกิดคำวิจารณ์ว่ากลุ่มนี้ใหญ่เกินไปและขาดความคล่องตัวในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ความพยายามของกลุ่มที่จะแสดงจุดยืนร่วมแตกต่างจากตะวันตก มักติดขัดเพราะมุมมองที่ขัดแย้งกัน ตัวอย่างเช่น แถลงการณ์เมื่อเดือนที่แล้วระบุว่ามีความกังวลอย่างยิ่งต่อการโจมตีทางทหารต่ออิหร่าน ซึ่งเป็นสมาชิกของ BRICS แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อสหรัฐฯ หรืออิสราเอล ซึ่งเป็นสองประเทศที่ดำเนินการโจมตีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะจับตามองว่าประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มจะพูดถึงประเด็นที่มักจะมีจุดยืนร่วมกันอย่างไร การเปลี่ยนการค้าและการเงินไปใช้สกุลเงินประจำชาติ แทนการพึ่งพาเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ แนวทางการลดบทบาทดอลลาร์ (de-dollarization) นี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับประเทศสมาชิกอย่างรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ อย่างหนัก
เมื่อต้นปีนี้ หนึ่งในเป้าหมายของบราซิลในฐานะเจ้าภาพ คือการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินเพื่อลดความเปราะบางและต้นทุนด้านการเงิน
รัสเซียเคยเสนอให้พัฒนาระบบชำระเงินข้ามพรมแดนแบบเฉพาะ เมื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มนี้ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่น่าจะอยู่บนโต๊ะเจรจา คือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของการสร้าง “สกุลเงิน BRICS” แนวคิดที่บราซิลเสนอในปี 2023 ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจจากทรัมป์
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยขู่ในเดือนมกราคมว่าจะเก็บภาษีนำเข้า 100%กับประเทศในกลุ่ม BRICS ที่ดูเป็นปฏิปักษ์ หากสนับสนุนการใช้สกุลเงิน BRICS หรือสนับสนุนสกุลเงินใดที่จะมาแทนที่ ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศต่าง ๆ มารวมตัวกันที่บราซิล ผู้สังเกตการณ์จะจับตาดูว่าผู้นำจะยืนกรานแค่ไหนในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินประจำชาติ ในเวทีที่จีนเป็นผู้นำหลัก แต่เงาของอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงปกคลุม