ปูพรมรถไฟทางคู่บูมภาคเหนือ ชงงบ40ล้าน ศึกษาเส้นทาง แพร่ -น่านทะลุด่านห้วยโก๋น220กิโล
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ จิ๊กซอว์เติมเต็มโครงข่ายระบบราง กระดูกสันหลังการเดินทางเชื่อมโยงภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านตามแผนแม่บทระบบราง สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สร้างยุทธศาสตร์การเดินทางแบบไร้รอยต่อ จากการเล็งเห็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน
ที่น่าจับตาคือภาคท่องเที่ยว แม่เหล็กสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมากจากคนไทยรวมถึงต่างชาติที่ชื่นชอบการเดินทาง การใช้ชีวิตบนรถไฟ ทั้งประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ มีความปลอดภัยสูง และอานิสงส์ที่ได้กลับมา คือ สร้างความเจริญในพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับชุมชน เกิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ราคาที่ดินโดยรอบมีมูลค่าสูงขึ้น
เช่นเดียวกับ การพัฒนาโครงข่ายระบบรางทางภาคเหนือ โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางสายเหนือใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.1 กิโลเมตร มูลค่ากว่า8หมื่นล้านบาท ก้าวหน้าไปมากกว่า 36% ซึ่งเร็วกว่าแผน 1.5% แม้ผ่านอุปสรรคมากมายเช่นนํ้าท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว รวมถึงผลกระทบจากการเผา ฝุ่น PM2.5 ด้วยความแข็งแกร่งของทีมงานก่อสร้างส่งผลให้เส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่หลายคนรอคอย มีความพร้อมเปิดให้บริการตามแผนต้นปี 2571
นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกจากโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้ว รฟท.ได้ผลักดันโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วง แพร่-น่าน-ห้วยโก๋น (ด่านพรมแดน) ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร เพื่อเติมเต็ม จังหวัดน่าน ให้มีเส้นทางรถไฟเชื่อมถึง เสริมศักยภาพในพื้นที่ ซึ่งประเมินมูลค่าโครงการแต่ละเฟสมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทขึ้นไป
เบื้องต้น เสนอของบกลางปี 2568 ซึ่งเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาล 1.57 แสนล้านบาท จำนวน 40 ล้านบาท ต้องการศึกษาเฟสแรก ช่วง แพร่-น่าน ระยะทาง 90 กิโลเมตรในปี2568ก่อน เพื่อจุดชนวนการก่อสร้าง ต่อจากนั้นจะศึกษาเฟสที่ 2 จากน่าน-ด่านพรมแดนห้วยโก๋น ระยะทาง 120 กิโลเมตร ทั้งนี้ที่ผ่านมา รฟท.ได้เสนองบในปีงบประมาณ 2569 แล้ว แต่ต้องชะลอออกไป
อย่างไรก็ตามมองว่า เส้นทางดังกล่าว มีศักยภาพสูง ซึ่งเป็นเส้นทางส่วนต่อขยายจากโครงการ รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จิ๊กซอว์เติมเต็มการเดินทาง ภาคเหนือให้มีศักยภาพสูงสุด หากได้งบประมาณศึกษาจะดำเนินการคู่ขนานไปกับ การก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของเพื่อให้โครงการทยอยเสร็จและเปิดบริการในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ให้เกิดลักษณะฟันหลอเหมือนในอดีต เนื่องจาก รฟท.รอไม่ได้ เพราะการขยายเส้นทางรถไฟทางคู่ ถือเป็นหนึ่งในเฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
“โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ แพร่-น่าน-ห้วยโก๋น มีเป้าหมายเชื่อมโยงจังหวัดแพร่และน่านเข้ากับโครงข่ายรถไฟทางคู่ และมีแผนจะเชื่อมต่อไปยังด่านชายแดนห้วยโก๋น เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว”
ส่วนการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องรอผล การศึกษา เพราะกว่าจะถึงขั้นตอนการเวนคืน ทั้งมูลค่าที่ดินและแปลงที่ดินจะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการยุบรวมแปลง หรือการแบ่งแยกแปลง คาดว่าจะมีที่ดินหลายแปลงได้รับผลกระทบซึ่งรฟท.มีความพยายามหลบเลี่ยงการเวนคืนสิ่งปลูกสร้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฟสแรก ช่วงแพร่-น่าน การเวนคืน ประมาณ 2,812 ไร่
สำหรับแนวเส้นทาง เริ่มจากสถานีชุมทางหนองเสี้ยว จังหวัดแพร่-สถานีน่าน (เฟสแรก) ระยะทาง ประมาณ 90 กิโลเมตร รวม 10 สถานี ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจังหวัด แพร่ และ น่านมีลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง การก่อสร้างใช้เวลา 5 ปีนับจากปีที่เริ่มโครงการ ส่วนเฟสที่ 2 จากสถานีน่าน-ด่านห้วยโก๋น 120 กิโลเมตร ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี เนื่องจากต้องผ่านภูเขาสูงชั้น
ทั้งนี้ การลงทุนโครงข่ายระบบรางหนึ่งในเฟืองจักร สำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของภาคท่องเที่ยว และเส้นทางการค้าที่น่าจับตายิ่ง!!!
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,111 วันที่ 6 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2568