รัฐประหารไม่ใช่ทางออก และแก้ไขปัญหาไม่ได้ ฟังเหตุผลที่ไม่ควรเรียกร้องหารัฐประหาร
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ม็อบรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องหลัก ได้แก่ นายกรัฐมนตรีลาออก พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว และปกป้องอธิปไตยไทย
การชุมนุมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากปมคลิปเสียงการเจรจาระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานวุฒิสภาของกัมพูชา ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะชน
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ของแพทองธารเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา จากกรณีที่กลุ่ม สว. ส่งเรื่องให้ศาลวินิฉัยเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรม
ไม่เพียงแค่การชุมนุมและการถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต่างสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะการเมืองที่ผันผวน และยากที่จะคาดเดาว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ยังมีของคนบางส่วนที่เรียกหา ‘รัฐประหาร’ กลายเป็นคำถามว่าทำไมถึงยังมีกระแสดังกล่าว ทั้งที่ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนรัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2475
เพื่อคลี่คลายข้อสงสัย The MATTER คุยกับ รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์, ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ปิยรัฐ จงเทพ สส.พรรคประชาชน ด้วยคำถามสำคัญว่า ทำไมยังมีคนเรียกหาการรัฐประหาร?
การเมืองไทยกับการรัฐประหาร
แพทองธาร ชินวัตร วันที่ 1 กรกฎาคม 2568
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเผชิญกับการรัฐประหารถึง 13 ครั้ง ‘ฝ่าวิกฤติทางการเมือง’ คือหนึ่งในข้ออ้างที่คณะรัฐประหารมักหยิบยกขึ้นมา ข้อมูลจาก ilaw ระบุว่า ผลลัพธ์จากประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นว่าการรัฐประหารไม่ใช่ทางออก ในทางตรงกันข้าม การรัฐประหารกลับทำให้หลักการประชาธิปไตยในสังคมไทย ไม่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซ้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังถดถอย โดยบทเรียนมีดังนี้
ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย เสียระบบแบ่งแยกอำนาจ คณะรัฐประหารไปแล้ว แต่ผลผลิตของคณะรัฐประหารอยู่ยาว คณะรัฐประหารมีอำนาจพิเศษ รับรองการกระทำ-เอาผิดไม่ได้ รัฐประหารหนึ่งครั้ง ตั้งสภาตรายางผ่านกฎหมาย ไม่มีผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปร่วมออกแบบ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนถดถอย ถูกปิดปากด้วยการดำเนินคดี
ด้วยบทเรียนที่มากมาย แล้วทำไมยังเกิดกระแสเรียกร้องการรัฐประหาร และมองว่ารัฐประหารเป็นทางออก?
รัฐประหาร ปี 2557 โดย คสช.
รศ.ยุทธพร อิสรชัย กล่าวกับเราว่า การเรียกหารัฐประหารเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาประชาธิปไตยไทยที่ยังไม่ตั้งมั่น คนส่วนหนึ่งมองว่าทางออกของสังคม ต้องเดินในเส้นทางของประชาธิปไตย แต่มีคนอีกส่วนหนึ่งเห็นว่าทางออกของสังคมนั้นอาจต้องใช้วิธีการอื่นๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างเช่นเรื่องของการรัฐประหาร ตุลากาลภิวัฒน์ ซึ่งตรงนี้เป็นผลมาจากปัญหาเชิงของอุดมการณ์ หรือแนวคิดของรัฐที่ยังไม่ชัดเจน
“บางคนมองว่า อุดมการณ์ของรัฐต้องเป็นประชาธิปไตย ขณะที่บางคนบอกว่าอุดมการณ์ของรัฐนั้นต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่จำเป็นจะต้องไปอิงกับหลักการประชาธิปไตยสากล ไม่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางประชาธิปไตย หลักนิติธรรม หรือแม้กระทั่งด้วยสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของประชาชนมากนัก”
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เสริมว่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหา เพราะในเชิงอุดมการณ์หรือแนวคิดในสังคม เรายังไม่ตกผลึกร่วมกันว่าเราจะต้องเดินในเส้นทางประชาธิปไตย กลายเป็นว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เกมเดียวที่เล่นกันในสังคม แต่มีเกมอื่นๆ ด้วย
“ตลอด 93 ปีของประชาธิปไตยในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน อีกเส้นทางหนึ่ง ที่เดินคู่ขนานกันมาก็คือ เส้นทางของความไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็มีพัฒนาการของมันเหมือนกัน”
เขายกตัวอย่าง ในอดีตเวลาเราพูดถึงรัฐประหาร เราจะเห็นภาพการใช้กำลังทหาร การเอาอาวุธไปยึดสถานที่ แต่พอระยะหลัง อย่างการรัฐประหารปี 2549 ที่การรัฐประหารใช้มวลชนปูทาง เพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร
“ในปัจจุบันผมว่าเป็นการรัฐประหารโดยคลิปเสียง ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพให้เราเห็นว่าตลอดเส้นทาง 93 ปี ของประชาธิปไตยไทยนั้น เราไม่สามารถจะทำให้ประชาธิปไตยนั้นลงหลักปักฐานได้ในสังคมไทย”
ปิยรัฐ จงเทพ แสดงความเห็นว่า การเรียกหารัฐประหารเป็น mindset จากคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
“ผมไม่ได้มองว่าสังคมไทยกำลังเรียกร้องหรือโหยหาการรัฐประหารอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผมคิดว่ามันเป็นการถ่ายทอดไอเดียของคนกลุ่มหนึ่ง ที่เขาเชื่ออย่างนี้มาตั้งแต่ครั้งอดีตว่า การที่เขาจะเข้าสู่อำนาจได้ ต้องผ่านกระบวนการที่ต้องมาจากนอกระบบ ที่ไม่ใช่แค่การรัฐประหาร”
เขาระบุว่าการเรียกร้องครั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงการทำรัฐประหารอย่างเดียว คนเหล่านี้โดยเฉพาะแกนนำ ไม่ใช่เพิ่งจะมาเรียกร้องอำนาจนอกระบบแบบนี้ แต่เรียกร้องมาตลอด แล้วก็ subvert มาทุกครั้ง
เหตุใดถึงไม่ควรเรียกหาการรัฐประหาร?
อ.ยุทธพร ระบุว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกของระบอบประชาธิปไตย และการรัฐประหารนั้นท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการลดทอน และไม่ให้ความสำคัญกับเสียงของพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ การรัฐประหารจะนำพามาซึ่งผลผลิตต่างๆ หลายรูปแบบที่เราเห็นอย่างทุกวันนี้ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกเขียนขึ้นหลังจากการรัฐประหารปี 2557
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้นำมาซึ่งปัญหาทางการเมืองมากมาย องค์กรอิสระที่ถูกตั้งคำถาม ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งคำถาม หรือแม้กระทั่งเรื่องของกฎหมายหลายๆ ฉบับ ที่เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากการรัฐประหารปี 57”
เขาพูดต่อ ถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นมา การเมืองไทยจะถดถอย ถดถอยกลับไปสู่ที่เดิม อยู่ในวังวนทางการเมืองแบบเดิม การพัฒนาประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ ในช่วงปี 2540 ประเทศไทยเราเป็น role model เป็นแม่แบบของการพัฒนาประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หลังจากนั้นมาประเทศไทยก็ถดถอยมาโดยตลอด ในเรื่องของการเมือง เรื่องประชาธิปไตย เกิดความขัดแย้งวนเวียนตลอด 20 ปี
“การรัฐประหารไม่ได้ส่งผลกระทบแค่การเมือง แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประเทศไทยก็เผชิญกับวิกฤตของการเมืองควบคู่กันไปกับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังปี 2548”
เขาพูดปิดท้ายว่า ถ้าเรายังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร ประเทศไทยก็ถดถอยในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงการถูกยอมรับในประชาคมโลก
“วันนี้ผมคิดว่าการรัฐประหาร ไม่ใช่เป็นเพียงการนำกำลังทหารออกมา การรัฐประหารในรูปแบบอื่น ก็ถือว่าเป็นการรัฐประหารทั้งหมด สรุปง่ายๆ คือวิธีการใดก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในวิถีทางประชาธิปไตย ต่างเป็นการรัฐประหารทั้งสิ้น”
สอดคล้องกับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ที่บอกกับเราว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออก สังคมไทยมีผลพิสูจน์อยู่แล้ว ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมันสอนเรา ระยะใกล้ที่สุดก็รัฐประหารปี 2557 การรัฐประหารนอกจากจะแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้แล้ว ยิ่งเพิ่มปัญหาใหม่เข้าไปด้วยซ้ำ
“ทำให้ปัญหาการเมืองในวันนี้สลับซับซ้อนวุ่นวายมากกว่าเก่า เพราะฉะนั้นการรัฐประหารโดยประวัติศาสตร์ไม่ใช่ทางออก และที่สำคัญโดยสถานการณ์ตอนนี้มันก็ไม่ใช่ทางออกอีกเช่นกัน”
ม็อบรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568
เขากล่าวต่อ เพราะถามว่าวันนี้ปัญหาอะไรที่ทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม ขาดความเชื่อมั่น จะอยู่ในอำนาจไม่ได้ มันมีปัญหาให้เห็นชัด ตัวเล่นสุดท้ายก็คือคลิปการเจรจาที่ถูกปล่อย ที่ทำให้รัฐบาลถูกรู้สึกว่าไม่น่าไว้วางใจ เพราะจัดการปัญหาของชาติเป็นประโยชน์ส่วนตัว
และก่อนหน้านี้รัฐบาลก็รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ไม่ดีอยู่แล้ว ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้บางคนรู้สึกไม่เห็นความหวังอะไรเลย ไม่เห็นการทำงานเชิงนโยบายที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสถานการณ์ต้องดีขึ้น
“ทว่าปัญหาทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขด้วยการทำรัฐประหาร การรัฐประหารจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหามากขึ้นอีก”
นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ยกตัวอย่างว่า ขณะนี้ยังมีข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นมา ประเทศไทยถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหาร เวลาข้อพิพาทเหล่านี้ออกสู่เวทีโลก เราเสียเปรียบทันที เพราะกัมพูชายังเป็นรัฐบาลพลเรือน แม้จะถูกรวบอำนาจอยู่ที่ ฮุน เซน หรือ ตระกูลฮุน แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลกัมพูชาเกิดขึ้นมาตามกติการัฐธรรมนูญของประเทศเขา
ปัญหาเศรษฐกิจโลกก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าเราเป็นรัฐบาลทหารเมื่อไร เราโดน sanction จากประเทศตะวันตกแน่นอน ซึ่งขณะนี้ไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายภาษีทรัมป์ ที่ขนาดเราเป็นรัฐบาลที่มากจากการเลือกตั้ง เรายังไม่ได้เข้าไปคุยเลย
สนธิ ลิ้มทองกุล ขึ้นปราศรัยในฐานะแกนนำม็อบรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568
ความเห็นของ ปิยรัฐ สส.พรรคประชาชน มองว่า สิ่งหนึ่งที่จะกระทบแน่ๆ ก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด และเขาเองก็ไม่ได้ชอบรัฐธรรมนูญนี้ และต้องการแก้ไขอยู่ แต่มันก็เป็นไปตามกลไกของประชาธิปไตย
“ดังนั้นแล้ว สิ่งแรกที่จะกระทบประชาธิปไตยคือ การหยุดใช้รัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราวหรือเป็นการถาวร ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้นำการรัฐประหารในครั้งนั้น เมื่อเราไม่มีรัฐธรรมนูญ อำนาจของประชาชนจะไม่ได้รับการรับรองในสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงอำนาจทางการเมืองผ่านผู้แทน”
เขาเสริมว่า ถ้ารัฐประหารเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่มีปากมีเสียงเลย อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ ซึ่งอำนาจจะอยู่ในรูปแบบบนลงล่าง มีเพียง 1 คนที่มีอำนาจในการสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการศาล กระบวนการยุติธรรม กระบวนการนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ฝ่ายนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร จะอยู่ภายใต้อำนาจของคนคนเดียว ซึ่งคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันแรกที่มีการรัฐประหาร
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Editor: Thanyawat Ippoodom