เห็บกัด! หมอยง เตือนโรคไข้สูงเกล็ดเลือดต่ำ ไทยพบเสียชีวิตแล้ว 2 ราย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan โดยระบุว่า เห็บกัด อาจทำให้เสียชีวิตได้ จากโรค ไข้สูงเกล็ดเลือดต่ำ (SFTS)
จากการศึกษา ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬา มานานมากกว่า 5 ปี พบโรคไข้สูงเกร็ดเลือดต่ำ (SFTS, Severe Fever with Thrombocytopenic Syndrome) ที่เกิดจากไวรัส พบโรคนี้กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในชานเมืองกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ภาคตะวันออก เข้าใจว่าพบได้ทุกภาคของประเทศไทย
แต่เดิมเข้าใจว่าโรคนี้พบได้เฉพาะในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันมีรายงานเพิ่มขึ้นแม้กระทั่งเวียดนามและพม่า จึงไม่แปลกที่จะพบในประเทศไทย และอุบัติการณ์ถ้าตรวจก็คงพบได้ไม่น้อย
ในผู้ป่วยที่มีไข้สูง ไม่ทราบเหตุ พบได้ประมาณ 1-2 % และถ้ามีอาการคล้ายไข้เลือดออก และตรวจไม่พบว่าเป็นไข้เลือดออก จะมีเปอร์เซ็นต์สูงยิ่งขึ้น ทางศูนย์ได้ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ ระดับน้ำนานาชาติ เช่น Emerg Infect Dis. 2022 Dec;28(12):2572-2574. doi: 10.3201/eid2812.221183.
โรคนี้ทำให้เสียชีวิตได้ และมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วในประเทศไทย อย่างน้อย 2 ราย พาหะที่สำคัญนำโรคนี้ในประเทศไทย คือ เห็บสุนัข (Rhipicepharus sanquineus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทย ส่วนการแพร่ระบาดในประเทศจีน จะเป็นเห็บสายพันธุ์ Long horn tick
ทางศูนย์ได้ศึกษาระบาดวิทยาในเห็บ และยังพบได้ในไรอ่อนของหนู ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก
โรคนี้เชื่อว่าพบได้ทั่วไปและไม่เคยรายงาน เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก และไม่ทราบว่าจะตรวจด้วยวิธีอะไร
ถ้ามีผู้สงสัยป่วยเป็นโรคนี้ จะส่งมาตรวจทางศูนย์ ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจให้ และเพื่อให้เป็นที่รู้จักของแพทย์ทั่วไป ให้ได้วินิจฉัยโรคดี รวมทั้งต่อไปจะต้องมีแนวทางมาตรการในการควบคุม เพราะโรคนี้ มีความรุนแรงนอกจากไข้สูง เกล็ดเลือดต่ำแล้ว อาจทำให้เสียชีวิตได้ ยังไม่มียารักษาจำเพาะ และวัคซีนในการป้องกัน
อาการไข้สูงเกล็ดเลือดต่ำ (SFTS)
จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะภายใน 7–14 วัน ส่วนใหญ่มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว บางรายอาจพบความผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ ชัก ซึม ร่วมด้วย
หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ตับอักเสบและการทำงานของอวัยวะภายใน ล้มเหลวก่อความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมผู้ป่วยจะมีอาการจะดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทาสหมา-ทาสแมว ระวัง! “เห็บกัด” เอาออกไม่ถูกวิธี เสี่ยงอัมพาตชั่วคราว
- เชื้อไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ทำชายสเปนเสียชีวิต หลังจากถูกเห็บกัด
- โควิด กำลังระบาด! "หมอยง" ไขข้อสงสัย จะต้องฉีดวัคซีนหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำไมเกาหลีใต้อาจต้องจำใจการุณยฆาต สุนัขกว่า 500,000 ตัว ทั้งที่แบนบริโภค-จำหน่าย เนื้อสุนัขแล้ว
- แฟนคลับส่งกำลังใจ "อั้ม พัชราภา" มีภาวะเศร้า หลังสูญเสียสุนัขสุดที่รัก
- ญี่ปุ่นเฝ้าระวังโรคติดเชื้อจากแมวหลังสัตวแพทย์เสียชีวิต
- อิหร่านขยายคำสั่งห้ามสุนัขเดินเล่นไปหลายเมืองทั่วประเทศ
- กำลังใจล้นโซเชียลถึง "อั้ม พัชราภา" หลังสูญเสียสุนัขสุดที่รัก