ชวนคนกทม.แยกขยะ ในโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม” ใครไม่แยก ต.ค.นี้จ่ายเพิ่ม 3 เท่า
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” ซึ่งจะเริ่มดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแบบใหม่ในเดือนตุลาคม 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของเมือง
ตามโครงการนี้ บ้านพักอาศัยที่ไม่คัดแยกขยะจะถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากเดิม 20 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็น 60 บาทต่อเดือน ขณะที่บ้านเรือนที่มีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องและลงทะเบียนผ่านเกณฑ์ของกรุงเทพมหานคร จะยังคงจ่ายในอัตราเดิมคือ 20 บาทต่อเดือน
ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 ผ่านทางแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ BKK WASTE Pay โดยจะมีสติ๊กเกอร์รับรองให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมและคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ล่าสุด ณ วันที่ 14 กรกฎาคม มีครัวเรือนลงทะเบียนแล้วกว่า 112,000 ครัวเรือน และยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กทม. ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 6,000–7,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีปริมาณขยะสูงถึง 10,000 ตันต่อวัน ซึ่งกว่าร้อยละ 50 เป็นขยะเศษอาหาร โครงการนี้มีเป้าหมายลดขยะให้ได้อย่างน้อย 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดการขยะได้ประมาณ 2 ล้านบาทต่อวัน หรือมากกว่า 2,100 ล้านบาทต่อปี
สำหรับกลุ่มหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัยที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือห้อง จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป และจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราใหม่ในเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน
ในส่วนของภาคเอกชน เช่น ตลาด ห้างร้าน โรงแรม และสำนักงาน ที่มีขยะมูลฝอยเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่าธรรมเนียมจะปรับเพิ่มจาก 2,000 บาทต่อเดือน เป็น 8,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม หากมีการคัดแยกและลดปริมาณขยะได้ อัตราค่าธรรมเนียมก็จะสามารถลดลงได้ตามปริมาณขยะที่ลดลง โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกรุงเทพมหานครในการจัดการสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมของประชาชนอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “มังกรทะเลสีน้ำเงิน” โผล่ทะเลภูเก็ต สวยแต่อันตราย พิษร้ายแรงถึงชีวิต
- “Wisk Aero” เดินหน้าทดสอบ “แท็กซี่บินได้” เข้าสู่ยุคการเดินทางที่ไร้มลพิษ
- ขยะผ้าอ้อมล้นเมือง สหรัฐฯ ใช้เชื้อราช่วยย่อยสลาย
- ลงดาบ ปิด รง.กลั่นน้ำมันยางรถยนต์-พลาสติก พบ ปล่อยน้ำเสีย-ไร้ใบอนุญาติ
- นักวิจัยญี่ปุ่นสุดเจ๋ง คิดค้นพลาสติกที่ละลายในทะเล