ชวนมโนเรื่องนายกฯ ใหม่ ชัยเกษม อนุทิน หรือ ‘ลุงตู่’ รีเทิร์น
หลังเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า ‘นิติสงคราม’ หรือ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ทำให้ แพทองธาร ชินวัตร ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราวตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ฝุ่นยังไม่ทันหายตลบ กระแสนายกฯ คนใหม่ที่เคยอยู่ในวงกระซิบกระซาบก็ดังชัดถ้อยชัดคำ ด้วยคาดกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว นายกฯ อิ๊งค์ น่าจะหลุดจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 31 แน่ๆ
เมื่อถึงตอนนั้น แพทองธารก็จะเป็นคนจากบ้านชินวัตรรายที่ 3 ที่หลุดจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยวิธีไม่ปกติ และเป็นคนที่ 4 จากสาแหรกไทยรักไทยเดิมที่ต้องกลายเป็นอดีตผู้นำประเทศด้วยมติศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลัง สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ เศรษฐา ทวีสิน ฃ
สื่อหลายสำนักจึงนำเสนอรายชื่อผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นนายกฯ คนต่อไปผ่านรูปแบบอินโฟกราฟิกสวยงาม โดยใบหน้าที่ปรากฏบนนั้นก็ซ้ำๆ เหงาๆ เก่าๆ เพราะเป็นแคนดิเดตเดิมจากการเลือกตั้ง 2566 และมี สส. อยู่ในมือ 25 คนขึ้นไป
บุคคลที่อยู่ในตะกร้าใบเดิมก็คือ
- ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย: สส. 142 คน
- อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย: สส. 69 คน
- พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ: สส. 36 คน
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์: สส. 25 คน
ถ้าเป็นสถานรับพนันถูกกฎหมายแบบในอังกฤษ อัตราต่อรองคงเทไปทาง ชัยเกษม นิติสิริ ก่อนในเบื้องต้น เพราะเป็นแคนดิเดตที่เหลืออยู่ของเพื่อไทยในฐานะพรรครัฐบาลที่มีเสียงมากที่สุด
แต่บังเอิญเหลือเกินว่าที่นี่ประเทศไทย อัตราต่อรองมีสิทธิแกว่งไปมาขยับขึ้นลงได้ทุกครึ่งวันตามกระแสข่าวใหม่ๆ และ ‘อื่น’ ที่เราๆ คาดกันไม่ค่อยถึง
จากการปล่อยภาพตีกอล์ฟ ชัยเกษมดูเหมือนจะมีความพร้อมมากขึ้นหลังมีปัญหาสุขภาพ แต่หลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่าแคนดิเดตไพ่ใบสุดท้ายของเพื่อไทยจะรอดจริงหรือไม่ จนถึงว่าตัวชัยเกษมเองลึกๆ จะเอาด้วยหรือเปล่า
ว่ากันว่าชัยเกษมไม่ใช่คนสั่งอะไรได้ง่าย ในภาวะที่ ‘เจ้าของพรรค’ ต้องการทางเลือกที่เป็นทางรอด หากชัยเกษมเลือกคิดเองหรือไม่โอนอ่อนเชื่อฟัง การทิ้งไพ่ใบสุดท้ายลงบนโต๊ะอาจกลายเป็นการโยนไม้ขีดไฟใส่หญ้าแห้งก็ได้
ที่สำคัญคือ เพื่อไทยต้องมั่นใจว่าการส่งชื่อชัยเกษมให้สภาโหวตนั้นผ่านแน่ๆ เพราะหากเกิดสะดุด เพื่อไทยจะมีแค่ความว่างเปล่าในมือ เพราะไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำเป็นครั้งที่สองได้ โดยมีกรณีศึกษาของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นบทเรียนไว้เมื่อ 2 ปีก่อน
ดังนั้น อุปสรรคสำคัญอยู่ที่คะแนนโหวตในสภา ที่ต้องถึง 250 เสียง ซึ่งขณะนี้พรรคร่วมที่มี สส. พอจะเป็นตัวพลิกเกม และมีความเป็นไปได้ว่าจะโหวตให้แคนดิเดตเพื่อไทย คือ
- เพื่อไทย 142
- รวมไทยสร้างชาติ 36
- ประชาธิปัตย์ 25
- ชาติไทยพัฒนา 10
- ประชาชาติ 9
ทั้งหมดนี้รวมเป็น 222 เสียง ขาดอีก 28 เสียง เนื่องจากเพื่อไทยตบตีกับภูมิใจไทยสารพัดเรื่อง เช่น เรื่องยึดตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย โค่นนโยบายกัญชา ทำให้ อนุทิน ชาญวีรกูล ถอนตัวจากพรรคร่วม หอบ สส. 69 คน ไปเป็นฝ่ายค้าน และยังเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นดาบสอง
ประการถัดมา คือปัจจัยที่หายเงียบไปเกือบ 2 สัปดาห์ ‘กลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย’ กำลังหารือท่าทีหลังนายกฯ ถูกพักงาน หลังประกาศชัดในการชุมนุมเมื่อ 28 มิถุนายนว่าไม่เอารัฐประหาร และยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องเดิม คือ แพทองธารต้องลาออก พรรคร่วมต้องถอนตัวจากรัฐบาล และปกป้องอธิปไตย
คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลา 45-60 วัน เพื่อพิจารณาว่านายกฯ แพทองธารมีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งตกประมาณต้นเดือนสิงหาคม ช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มรวมพลังฯ ก็จะนัดชุมนุมอีกครั้งหนึ่งเมื่อรู้ผลชัดเจนว่านายกฯ จะหลุดจากตำแหน่งตามข้อเรียกร้องแรกจริงไหม
ถ้าศาลพิจารณาแล้วว่า แพทองธารสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ต่อได้ ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลง กลุ่มรวมพลังฯ ต้องนัดชุมนุมใหญ่แน่นอน
และต่อให้เพื่อไทยเสนอชื่อชัยเกษมเป็นนายกฯ ก็เชื่อว่ากลุ่มรวมพลังฯ จะสร้างโจทย์ใหม่ขึ้นมารองรับ คือ ‘ต่อต้านระบอบทักษิณ’
หากนายกฯ คนใหม่เป็นชัยเกษมจากเพื่อไทย มีความเป็นไปได้ว่า แกนนำหน้าเดิมอาจขุดวาทกรรมเก่าแก่ ‘ขับไล่ระบอบทักษิณ’ มาใช้อีกครั้ง ซึ่งหากการชุมนุมจุดติดและลามทุ่ง ก็อาจนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขให้เกิดสุญญากาศและความวุ่นวายทางการเมือง
แต่เกมก็มีสิทธิพลิก จากเดิมที่หลายคนเคยคิดว่าพรรคประชาชนจะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับการเลือกนายกฯ คนใหม่ เพราะสนับสนุนแนวทางยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมองในทางหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าพรรคส้มจะได้เปรียบมากสุด เพราะความนิยมในทุกโพลยังสูงกว่าใคร
ก่อนประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แง้มว่าพร้อมจะโหวตนายกฯ โดยมีโจทย์คือไม่ต้องการให้ประเทศถึงทางตัน
ข้อเสนอของพรรคส้มที่ออกมาภายหลัง คือ นายกฯ คนนั้นต้องดำรงตำแหน่งแค่ชั่วคราว เพื่อรอยุบสภาภายในสิ้นปี เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่สามารถเกิดจากสภาชุดปัจจุบันได้ และระหว่างนั้นมีภารกิจเฉพาะหน้าสำคัญ เช่น ขับเคลื่อนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งประชามติและ สสร. หากผิดสัญญา พรรคส้มพร้อมนำ 142 สส. ล้มรัฐบาล
นั่นหมายความว่า พรรคประชาชนกำลังจะกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญ พร้อมใช้เสียง สส. 142 คนโหวตให้แคนดิเดตคนไหนก็ได้ที่รับข้อเสนอ ทำให้มีกระแสข่าวชวนปั่นกันว่า พรรคส้มอาจโหวตให้อนุทินก็ได้นะ
วันถัดมา การประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภาพถ่ายตัวแทนจาก 5 พรรคนั่งเรียงแถวช่างน่าสนใจและชวนมโนต่อว่า ถ้าเพื่อไทยและพรรคร่วมไม่สามารถรวบรวมเสียงโหวตชัยเกษมได้ แล้วพรรคประชาชนก็เลือกที่จะไม่โหวตให้ชัยเกษมเช่นกัน แต่เสนอชื่ออนุทินสวนเข้าไป จะเกิดอะไรขึ้น
นับคร่าวๆ จากเฉพาะกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ประชุมร่วมกัน จินตนาการต่อว่า สส. ของทุกพรรคร่วมกันกล่าวคำว่า “เห็นชอบ” กับชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล
- ประชาชน 142
- ภูมิใจไทย 69
- พลังประชารัฐ 20
- ไทยสร้างไทย 6
- เป็นธรรม 1
ทั้งหมดรวมกันได้ 238 เสียง แค่หา สส. อีก 12 คนมาเข้าทีมโหวต ซึ่งอาจมาจากการใช้กุศโลบายตามถนัด จับ ‘งูเห่า’ หรือ ‘แจกกล้วย’ อะไรเทือกนั้น เกมก็อาจพลิกมาออกหน้านี้ได้เหมือนกัน
แต่หลังจากนั้นก็เกิดเสียงวิจารณ์กันให้แซ่ดว่า พรรคประชาชนคิดอะไรอยู่ถึงได้เตรียมโหวตให้อนุทิน ซึ่งใครๆ มองว่าไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ภูมิใจไทยไม่เคยมีสัญญาณใดๆ ว่าจะเอาด้วย เรื่องนี้จึงกลายเป็นดราม่าแบบหนังจีนกำลังภายในประมาณว่า “เจ้าส้มเอ๋ย ช่างอ่อนหัดยิ่งนัก กำลังจะสนับสนุน ‘พรรคมาร’ เห็นผิดเป็นชอบ เจ้าจะโดนต้มจนคุ้มคลั่ง ธาตุไฟเข้าแทรก…”
ส่วนตัวเลือกอื่นๆ ในตะกร้าแคนดเดตเดิม พลังประชารัฐของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แตกกระจุยจนไม่น่ารวมเสียงเสนอชื่อได้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็เสี่ยงขาดคุณสมบัติจากข้อกล่าวหาถือครองหุ้นบริษัทเอกชน ส่วน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ …ไม่มั้ง
ถ้าหากลองมโนกันไปจนสุดทาง ว่าในสถานการณ์ที่เราไม่ต้องการรัฐประหาร ไม่ต้องการให้สภาหานายกฯ คนนอก และไม่ต้องการทำตามข้อเรียกร้องของคนบางกลุ่มที่ต้องการใช้อำนาจพิเศษ ขอนายกฯ พระราชทาน ตามมาตรา 5
ชื่อของคนที่ไม่อยากคิดถึงก็แว่บเข้ามา นั่นคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
จริงอยู่ว่าปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งองคมนตรี โดยทางปฏิบัติอาจเป็นการไม่สมควร แต่โดยทางทฤษฎีและความเป็นจริง พลเอกประยุทธ์ยังเป็นแคนดิเดตของรวมไทยสร้างชาติ และเคยเป็นเบอร์หนึ่งของพรรคที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้ง 2566 ก็ไม่แปลกถ้า ‘ลุงตู่’ จะถูกเสนอชื่ออีกครั้ง เป็นคนกลางๆ ไม่อยู๋ในความขัดแย้งมุมน้ำเงินมุมแดง มาเพื่อแก้วิกฤติ สร้างความสงบให้จบที่ลุงตู่อีกรอบ
ในอดีต มีองคมนตรีที่กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งมาเป็นนายกฯ เพื่อ ‘แก้วิกฤติชาติ’ คือ สัญญา ธรรมศักดิ์ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังรัฐประหาร 19 กันยา 49
กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแคนดิเดตจากสองพรรคใหญ่ ภูมิใจไทยและเพื่อไทย อนุทินและชัยเกษม ไม่เหมาะกับการเป็นนายกฯ คนใหม่
ก่อนหน้านี้หลายสำนักก็คาดเดากันเงียบๆ ว่า รวมไทยสร้างชาติอาจมีโอกาสได้โควตานายกฯ เพราะเป็นพรรคร่วม และเพื่อไทยก็อาจโหวตให้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ซูเปอร์ดีล’ ครั้งใหม่ (ครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้) เพื่อให้ ทักษิณ ชินวัตร เห็นความหวังทางรอดจากคดีมาตรา 112 และคดีชั้น 14 ได้บ้าง
แต่นั่นก็อาจเป็นการ ‘มโน’ จริงๆ เพราะนอกจากจะดูไม่เหมาะสม คนไทยหลายคนคงส่ายหัวกับบุคคลที่เคยทำรัฐประหารและถูกชุมนุมขับไล่ขนานใหญ่
แต่… ลองลิสต์เล่นๆ ขำๆ ว่าพลเอกประยุทธ์มีข้อได้เปรียบอะไรเหนือกว่าคนอื่นๆ บ้าง
- คนเคยทำรัฐประหารคงไม่ถูกรัฐประหาร
- นายกฯ ที่เป็นทหารกับกองทัพคงไม่ขัดใจกัน
- ชนชั้นนำและอนุรักษนิยมคงพอใจ
- กลุ่มรวมพลังฯ คงไม่มีข้ออ้างสร้างเงื่อนไขชุมนุมยาวๆ
- กลุ่มขับไล่ก็ยังคงยังไม่มีข้ออ้างให้ออกมา เพราะลุงตู่มีความชอบธรรมและเป็นแคนดิเดตถูกต้องตามระบบ
- เพื่อไทยคงโหวตให้ ถ้ามีซูเปอร์ดีลให้ทักษิณจริง
- ภูมิใจไทยคงโหวตให้ ถ้าคืนเก้าอี้มหาดไทยและช่อดอกกัญชา
- พรรคประชาชนก็คงโหวตให้ ถ้ารวมไทยสร้างชาติรับข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญก่อนยุบสภา
การมโนชอยส์หลังสุดนี้ มีความเป็นไปได้น้อย แต่หากเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย อะไรๆ ก็ไม่น่าแปลกใจ
อย่างไรเสีย การมองโลกในแง่ดีบ้างร้ายบ้างแบบนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยและการเมืองระบบสภา ให้เห็นว่ายังมีตัวเลือกนายกฯ ใหม่อยู่อีกหลายคน
ทั้งหมดนี้คือการยืนยันว่า ในความมืดและทางตันอันน่ากลัว ยังมีประตูบานเล็กๆ ที่พอจะไขไปให้เห็นแสงสว่างๆ ของโลกภายนอกได้ แม้ว่ามันจะออกไปเจอชะตากรรมแบบไหน ไม่ว่านายกฯ ที่สภาเลือกจะเป็นใคร แต่มันจะไม่ใช่ทางตัน ฉะนั้น จริงหรือไม่ว่าเราต้องเปิดทางให้กระบวนการเหล่านี้ได้ทำงาน โดยไม่ต้องเอาค้อนปอนด์มาทุบ ไม่ต้องพาไปหาสุญญากาศ หรือใช้อำนาจนอกระบบมาเปิดทาง จนทำให้ประเทศต้องเดินหน้าไปข้างหลังอีกครั้ง
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath