“ดองกี้” MOU เขตสุขภาพที่ 5 ดันผลิตภัณฑ์ชุมชน รุกตลาดไทย-ต่างประเทศ
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า บริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 5 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา
เพื่อยกระดับและส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพจากชุมชนท้องถิ่น ผลักดันการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
“ความร่วมมือกับในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้า และเสริมสร้างเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและในระดับชุมชนฐานราก ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ให้เข้าถึงผู้บริโภค สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและอุตสาหกรรม สินค้าเพื่อสุขภาพของประเทศไทยอย่างยั่งยืน”
ด้านนาย เทอิจิ โอมุระ ประธานบริษัท ดองกิ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การส่งเสริมการผลิตที่มีมาตรฐานสากล รวมถึงการขยายช่องทางการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการสร้างเส้นทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับสินค้าที่ผลิตขึ้นในเขตสุขภาพที่ 5 ไม่เพียงช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์สุขภาพ จากแหล่งผลิตท้องถิ่นที่มีคุณภาพ ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของดองกิ ในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในประเทศไทย สร้างประโยขน์ในระยะยาวแก่ประชาชนและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ดองกิ (ประเทศไทย) ยังมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์บริษัท (สินค้า Private Brand หรือ PB) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีก และส่งเสริมการขยายตลาดสินค้า PB ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศไทย สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า และตอกย้ำการมีส่วนร่วมต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของทั้งสองฝ่าย
นาย เทอิจิ กล่าวว่า การลงนามใน MOU ครั้งนี้ เป็นผลจากการประชุมและความร่วมมือ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 หลังจากที่บริษัท ดองกิ(ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตสไตล์ญี่ปุ่น “ดอง ดอง ดองกิ” สาขาแรกในประเทศไทย และปัจจุบัน เขตสุขภาพที่ 5 มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพในภูมิภาค โดยส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และช่วยให้การขยายตลาดเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ผ่านการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพในตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งในด้านการสร้างงานและการยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน