ก.ล.ต. เดินหน้าตั้งทีมสอบสวน 10 คน รองรับ พ.ร.ก.ใหม่เพิ่มอำนาจทำงานสอบสวนคดีความผิดในตลาดทุน มั่นใจช่วยทำคดีได้เร็วขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุถึง ความคืบหน้าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการร่วมสอบสวนคดีความผิดในตลาดทุนกับพนักงานสอบสวน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีที่ส่งผลกระทบสูง (High Impact ) ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุนและตลาดทุนโดยรวม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา
พันตำรวจโทสุทธิศักดิ์ จิตพิมลมาศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 2 ก.ล.ต. เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หาก พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ ก.ล.ต. จะสามารถเข้าไปร่วมทำงานกับพนักงานสอบสวนได้ตั้งแต่ต้นกระบวนการสอบสวน ซึ่งจะช่วยให้การรวบรวมพยานหลักฐานและสรุปสำนวนคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลดขั้นตอน เพิ่มความรวดเร็ว
พันตำรวจโทสุทธิศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยปกติ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะเริ่มจากการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก่อนจะส่งต่อไปยังศาล ซึ่งแต่ละขั้นตอนใช้ระยะเวลานาน แต่ถ้า ก.ล.ต. ได้รับอำนาจตาม พ.ร.ก. นี้ ก.ล.ต. จะสามารถเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนได้ตั้งแต่ชั้นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีพิเศษที่ DSI รับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและลดระยะเวลาในการดำเนินคดีได้อย่างมาก”
ทั้งนี้จะมีการทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของ ก.ล.ต. ในเรื่องของตลาดทุน เช่น การปั่นหุ้น หรือการใช้ข้อมูลภายใน เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสรุปสำนวนคดีและป้องกันการหลุดรอดของผู้กระทำความผิด
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเตรียมความพร้อมในการขยายทีมงานอีกประมาณ 10 คนเพื่อรองรับกฎหมายดังกล่าว เตรียมความพร้อมในการทำงานสอบสวน หากกฎหมายดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ โดยส่วนใหญ่เปิดสมัครมาจากพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีประสบการณ์ในการทำงานอยู่แล้วเพื่อรองรับการสอบสวน หลัง พ.ร.ก. ฉบับใหม่เพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต.
เกณฑ์คดี High Impact และความพร้อมของ ก.ล.ต.
ด้านพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 2 สำนักงาน ก.ล.ต.กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคดี High Impact ที่จะนำ พ.ร.ก. นี้มาใช้ คาดว่าจะพิจารณาจากมูลค่าความเสียหาย และจำนวนผู้เสียหาย แต่ยังคงต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. อีกครั้งเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
พร้อมทั้งย้ำว่า ก.ล.ต. ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ระบบงาน และวิธีการทำงาน เพื่อรองรับอำนาจใหม่นี้แล้ว หาก พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม
ปิดช่องโหว่ เพิ่มความเชื่อมั่นตลาดทุน
โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้การดำเนินคดีรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการปิดช่องโหว่ที่อาจทำให้คดีหลุด หรือถูกยกฟ้อง เนื่องจากความเข้าใจในรายละเอียดของตลาดทุนที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงาน
“เราเชื่อมั่นว่าเมื่อ ก.ล.ต. สามารถเข้าไปร่วมทำงานได้ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ความรู้ความเข้าใจในตลาดทุนของเราจะถูกถ่ายทอดไปยังพนักงานสอบสวนและอัยการได้อย่างครบถ้วน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทยมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่จะเป็นการเพิ่มอำนาจเปิดให้ ก.ล.ต. สามารถเตรียมทำสำนวนคดีอาญาและร่วมสอบสวนได้เอง ส่งผลให้ระยะเวลาในการดำเนินคดีลดลงอย่างมาก โดยจะช่วยให้การดำเนินการในแต่ละคดีเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้ทางกฎหมายและยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้เร็วขึ้นอย่างน้อย 6-7 เดือน คดีที่ไม่มีการจับกุมคุมขังอาจลดระยะเวลาให้เร็วขึ้นจากเดิมเกือบ 1 ปี แต่การส่งฟ้องคดียังเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการ
สำหรับคดีที่เข้าข่ายกรณี High Impact จะออกเป็นเกณฑ์โดยพิจารณาจากมูลค่าความเสียหาย จำนวนผู้เสียหาย และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะพิจารณากำหนดร่วมกันอีกครั้ง
ขณะที่กระบวนการออก พ.ร.ก. ภายหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว จะส่งร่างกฎหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจร่าง จากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ได้ทันที