กลยุทธ์ "ไพรเวทช้อปปิ้ง" ดันสิงคโปร์ผงาดฮับแบรนด์หรูแห่งเอเชีย
ขณะที่ตลาดสินค้าหรูทั่วโลกกำลังซบเซา โดยเฉพาะในจีนและสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์กลับกลายเป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืด 8 ด้าน ยอดการใช้จ่ายสินค้าหรูในประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเศรษฐีกว่า 2.4 แสนคนที่หลั่งไหลเข้ามายังสิงคโปร์ กำลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้แบรนด์หรูระดับโลกต่างพากันแห่มาเปิดสาขาและขยายธุรกิจกันอย่างคึกคัก
Euromonitor International เผยข้อมูลกับ Bloomberg ว่า ยอดขายสินค้าหรูในสิงคโปร์ปีนี้คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1.39 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 3.7 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2567
ซึ่งนับว่าแซงหน้าศูนย์กลางช้อปปิ้งยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอย่างญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ไปอย่างขาดลอย
อัตราการเติบโตของสิงคโปร์แบบปีต่อปีในช่วง 2567 ยังคงเหนือกว่าทุกตลาดในเอเชียที่ Euromonitor ติดตาม ยกเว้นเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น
และในปี 2569 นี้ คาดการณ์ว่ายอดขายจะกลับไปแตะจุดสูงสุดก่อนโควิด-19 ระบาดในปี 2562 ที่ 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์
สิงคโปร์ เล็กพริกขี้หนูแต่ดึงดูดแบรนด์หรูระดับโลก
สิงคโปร์ แม้จะเป็นประเทศเกาะเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่เพียง 280 ตารางไมล์ ซึ่งเล็กกว่านครนิวยอร์ก และมีประชากรราว 6 ล้านคน เท่านั้น น้อยกว่ามหานครใหญ่อย่างโตเกียวหรือเซี่ยงไฮ้หลายเท่า
แต่กลับสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการผงาดขึ้นเป็น อันดับสามของเมืองที่มีการเปิดร้านค้าหรูแห่งใหม่มากที่สุด ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีนแผ่นดินใหญ่) เมื่อปีที่ผ่านมา
โดยข้อมูลนี้อ้างอิงจาก Savills บริษัทอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ชั้นนำ จากทั้งหมด 32 เมืองทั่วเอเชียแปซิฟิกที่ทำการสำรวจ
เห็นได้ชัดจากที่ศูนย์การค้า The Shoppes at Marina Bay Sands ที่แสดงถึงความคึกคักของตลาดสินค้าหรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเปิดตัว Marni แบรนด์หรูสัญชาติอิตาลี ที่ได้ฤกษ์เปิดสาขาแรกในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
Hazel Chan รองประธานอาวุโสฝ่ายค้าปลีกของศูนย์ฯ ได้เผยถึงบริการสุดพิเศษสำหรับ ลูกค้า VIP อาทิ บริการรถบักกี้รับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการจัดสไตล์ส่วนตัว (Personal Styling)
นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังเตรียมเปิด ซาลอนสุดพิเศษ เพื่อจัดแสดงคอลเลกชันสินค้าหรูที่ยังไม่วางจำหน่ายให้กับลูกค้ารายใหญ่โดยเฉพาะอีกด้วย
Irene Ho ซีอีโอของ The Luxury Network Singapore กลุ่มการตลาดสำหรับแบรนด์หรูกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันแบรนด์สินค้าหรูหันมาจัดกิจกรรมการขายแบบเชิญเฉพาะ (private invite-only events) บ่อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยบางแบรนด์อาจจัดถึงสัปดาห์ละหลายครั้ง สะท้อนถึงเทรนด์การช้อปปิ้งที่เน้นความส่วนตัวสุด ๆ
Jonathan Siboni ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Luxurynsight บริษัทที่ปรึกษาด้านสินค้าหรู ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดสินค้าหรูในสิงคโปร์ โดยกล่าวว่า
"สิงคโปร์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับกลุ่มคนรวย ซึ่งส่งผลให้เกิดฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งสำหรับตลาดสินค้าหรูในประเทศ"
เขายังได้เปรียบเปรยสิงคโปร์ว่าเป็น "โอเอซิสกลางทะเลทราย" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของสิงคโปร์ในการเป็นแหล่งรวมความมั่งคั่งและกำลังซื้อสินค้าหรู ท่ามกลางภูมิภาคที่อาจยังไม่เอื้ออำนวยเท่า
สนามทดสอบสำหรับแบรนด์หรู และประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการชะลอตัวของจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าหรูทั่วโลก สิงคโปร์กลับกลายเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างชัดเจน
นโยบายส่งเสริมความมั่งคั่งที่สิงคโปร์ดำเนินมานานหลายทศวรรษได้ดึงดูด กลุ่มบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (High-Net-Worth Individuals) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกับการสร้างภาคการเงินที่แข็งแกร่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
ความแข็งแกร่งนี้ยังได้รับแรงหนุนเสริมจากเสถียรภาพทางการเมืองและฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศ ปัจจุบันสิงคโปร์มีเศรษฐีเงินกว่า 2.4 แสนคน และรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยจากการจ้างงานก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน
การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย หรืออินเดีย ล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายเพื่อค้าปลีกของนักท่องเที่ยวที่พุ่งสูงถึง 3.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2567 เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทำให้สิงคโปร์ทำหน้าที่ทั้งเป็นหลุมหลบภัยและเป็นประตูสำคัญเชิงกลยุทธ์สำหรับแบรนด์หรูที่ต้องการเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความท้าทายและการสร้างสมดุลทางสังคม
แม้สิงคโปร์จะโดดเด่นด้วยภาพลักษณ์ที่หรูหราและเจิดจรัส แต่เบื้องหลังความมั่งคั่งนี้คือประชากรหลายล้านคนที่ไม่ได้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี รัฐบาลสิงคโปร์จึงกำลังเผชิญกับภารกิจอันละเอียดอ่อนในการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ
หนึ่งในความพยายามสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงาน คือ การเพิ่มภาษีคนรวย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้มีความเสี่ยงที่อาจทำให้บรรดาผู้มั่งคั่งเลือกย้ายฐานที่อยู่ไปยังประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีที่เอื้อประโยชน์มากกว่า เช่น ดูไบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้
ธนาคารในสิงคโปร์ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบลูกค้ากลุ่มคนรวยเมื่อปีที่แล้ว สืบเนื่องจากคดีฟอกเงินครั้งประวัติศาสตร์มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งได้เปิดเผยช่องโหว่ในกระบวนการคัดกรองลูกค้าของธนาคารและบริษัทนายหน้าในประเทศ
อย่างไรก็ตาม คุณ Tan จาก RTG ได้ชี้ให้เห็นว่า การสอบสวนในคดีดังกล่าวกลับยิ่งช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของสิงคโปร์ในสายตานักลงทุนและกลุ่มคนรวย
โดยเป็นบทพิสูจน์ว่าสิงคโปร์มีกลไกทางกฎหมายที่เข้มแข็งในการปกป้องความมั่งคั่ง ข้อมูลส่วนตัว และชื่อเสียงของลูกค้า
"สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบทำงานได้จริง และนั่นคือหัวใจสำคัญสำหรับกลุ่มคนที่ร่ำรวยและทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย" เขาสรุป
"เมื่อเกิดความไว้วางใจเช่นนี้ การจับจ่ายใช้สอยย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความไว้วางใจและการยอมรับนี้เองที่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การใช้จ่ายสินค้าหรูในสิงคโปร์ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคจะเริ่มชะลอตัวลงก็ตาม"