กกพ.เผยต้นทุนลดเปิด 3 แนวทางเลือกค่าไฟส่งท้ายปีต่ำสุด 3.98 บาท
กกพ. เคาะเสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟงวด ก.ย. - ธ.ค. 2568 ต่ำสุดที่ 3.98 บาท/หน่วย เท่ากับราคาเดิม และสูงสุด 5.10 บาท/หน่วย จ่ายคืนหนี้ กฟผ. หมดในงวดเดียว ชี้ต้นทุนหลักค่าเชื้อเพลิงคลายตัว
17 ก.ค. 2568 - นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 26/2568 (ครั้งที่ 968) เมื่อวันพุธที่ 16 ก.ค. 2568 มีมติให้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับงวด ก.ย. - ธ.ค. 2568 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 17 - 28 ก.ค. 2568 เป็น 3 กรณี ตั้งแต่เรียกเก็บต่ำสุดที่ 3.98 บาทต่อหน่วยจนถึงสูงสุดที่ 5.10 บาทต่อหน่วย
“สาเหตุที่ กกพ. ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าเอฟทีและค่าไฟได้ทันที ก็เพราะว่ายังคงมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนคงค้างลง 13,142 ล้านบาท แต่ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจริงสูงกว่าการคาดการณ์ ทำให้สามารถลดต้นทุนคงค้างจริงได้เพียง 4,847 ล้านบาทและจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ 8,295 ล้านบาท”นายพูลพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2568 แบ่งเป็น 3 กรณีตามเงื่อนไข ดังนี้ กรณีที่ 1 ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมดภายในเดือนธ.ค.) เท่ากับ 131.94 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.10 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 1.21 บาท คิดเป็น 28% จากระดับ 3.98 บาทต่อหน่วยในงวดปัจจุบัน
กรณีที่ 2 ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 109.09 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.87 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 0.98 บาท คิดเป็น 22% จากระดับ 3.98 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน กรณีที่ 3 กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 19.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 3.98 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับปัจจุบัน
"รอบนี้เรามีสัญญาณที่ดีในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มถูกลง โดยเฉพาะ Spot LNG ระดับ 13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เราสามารถลดต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมีปริมาณน้ำจากประเทศลาวที่เป็นเชื้อเพลิงให้การผลิตไฟฟ้าในอัตราสูง ทำให้เราสามารวางแนวทางค่าไฟในงวดสิ้นปีไว้ 3 กรณีนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศตัวเลขที่ชัดเจนได้ภายในสิ้นเดือนนี้"นายพูลพัฒน์ กล่าว
นายพูลพัฒน์ กล่าวถึงความเป็นไปได้ กรณีอัตราค่าไฟลดลงไปถึงหน่วยละ 3.70 บาทเมื่อไร ว่ากรณีทางกระทรวงพลังงาน กกพ. และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง กำลังเร่งดำเนินการหาแนวทางอยู่ เป็นประเด็น ที่ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งมองว่าจากสถานการณ์ในตอนนี้ 3.98 บาทต่อหน่วยเป็นตัวเลขเหมาะสม และเป็นไปได้ เพราสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง.