'ไทย' ยื่นข้อเสนอสุดท้ายเจรจาสหรัฐ หวังภาษีแข่งขันอาเซียนได้
การเจรจาภาษีระหว่างไทย และสหรัฐ มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนครบเส้นตายวันที่ 1 ส.ค.2568 โดยมีแรงกดดัน และคาดหวังต่อทีมไทยแลนด์ที่ทำหน้าที่เจรจา หลังจากหลายประเทศในอาเซียนปิดดีลภาษีได้แล้ว ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศแรกในเอเชียสรุปสหรัฐเก็บอัตราภาษีตอบโต้ 20% ต่อมาอินโดนีเซียสรุปที่ 19%
ล่าสุดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ญี่ปุ่น 15% ลดลงจาก 25% โดยทรัมป์ ระบุว่า ญี่ปุ่นจะเปิดประเทศสู่การค้าขาย ซึ่งรวมถึงนำเข้ารถยนต์และรถบรรทุก ข้าว และสินค้าเกษตรบางประเภท และอื่นๆ ” ข้อตกลงดังกล่าวจะสร้าง “งานหลายแสนตำแหน่ง” อีกด้วย
ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อตกลงเบื้องต้นกับญี่ปุ่น รวมถึงประเด็นสำคัญ หากรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่นจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 25% แยกต่างหาก ยังไม่เปิดเผยในทันที
ก่อนหน้านั้นวันเดียวกันหลังพบกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ทรัมป์ประกาศผ่านทรูธโซเชียลว่าบรรลุข้อตกลงกับฟิลิปปินส์ โดยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ 19% ซึ่งเป็นข้อตกลงล่าสุดที่บีบให้ผู้นำฟิลิปปินส์ยอมยกเว้นภาษีให้กับสินค้าสหรัฐ เดิมทรัมป์กำหนดอัตราภาษีนำเข้า 17% ให้ฟิลิปปินส์พันธมิตรของสหรัฐในเดือนเม.ย.2568 แต่ถูกระงับชั่วคราว
“ฟิลิปปินส์จะเปิดตลาดเสรีกับสหรัฐ และไม่มีภาษีนำเข้าใดๆ ฟิลิปปินส์จะจ่ายภาษีนำเข้า 19% นอกจากนี้เราจะร่วมมือกับทางทหาร” ทรัมป์โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคาร โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้านี้
สถานการณ์การเจรจาที่หลายประเทศเอเชียทยอยบรรลุข้อตกลงกำลังสร้างแรงกดดันให้กับไทยที่ได้ยื่นข้อเสนอให้สหรัฐอย่างเป็นทางการแล้ว 2 รอบ และล่าสุดได้ยื่นข้อเสนอรอบสุดท้ายให้สหรัฐ
“พิชัย” ส่งข้อเสนอสุดท้ายถึงสหรัฐ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สหรัฐเห็นข้อเสนอไทยแล้ว 90% โดยสหรัฐทำคำอธิบายหรือข้อเสนอตอบกลับมาบ้างเกี่ยวกับนโยบายที่สหรัฐต้องการ ซึ่งไทยจะนำกลับมาพิจารณาว่าทำได้หรือไม่อย่างไร
“หวังว่าสหรัฐจะลดอัตราภาษีนำเข้าจาก 36% ลงมาอยู่อัตราใกล้เคียงกับภูมิภาค ซึ่งสหรัฐจะพิจารณาอัตราภาษีแบบมองเป็นกลุ่มประเทศ เพื่อที่สหรัฐจะได้บริหารจัดการภาษีได้มีประสิทธิภาพ”
นายพิชัย ตอบคำถามประเด็นสหรัฐยื่นเงื่อนไขเพิ่มหรือไม่ว่า ไม่ถึงขั้นสหรัฐขอเพิ่มเติม แต่สหรัฐมีรายการที่ต้องการเห็นนโยบายของไทย ซึ่งไทยต้องนำมาพิจารณาว่าทำได้หรือไม่อย่างไร โดยหวังว่าจะได้คำตอบจากสหรัฐก่อนวันที่ 1 ส.ค.2568 เพราะส่งข้อมูลไปหมดแล้ว
“ทีมไทยแลนด์ทำงานทุกด้านเต็มที่เพื่อบรรลุการเจรจา โดยวันที่ 23 ก.ค.2568 ยื่นข้อเสนอสุดท้ายเรียบร้อย น่าจะสุด ๆ แล้วที่เสนอเพิ่ม ตอนนี้เหลืออีกนิดเดียว เพราะสหรัฐจะมีคำอธิบายข้อเสนอกลับมาที่ผมต้องนำมาดูประกอบ” นายพิชัย กล่าว
ไทยลุ้นผลกระทบภาษี 3 ระดับ
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ได้มีการคาดการณ์ผลกระทบจากการเจรจาภาษีสหรัฐ (U.S.tariff,)ของไทยไว้ 3 กรณี ได้แก่
1.กรณีเจรจาลดภาษีไม่ได้เลย สหรัฐเรียกเก็บภาษีจากไทย 36% เท่าเดิม ภาษีของไทยสูงกว่าคู่แข่งหลักจะกระทบกับเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก โดยจีดีพีในปี 2568 จะขยายตัวได้เพียง 1.1% และจีดีพีปี 2569 จะขยายตัวได้แค่ 0.4%
2.กรณีที่เจรจาลดภาษีลงมาได้บ้าง แต่ยังสูงกว่าคู่แข่งหลัก บนสมมติฐานที่ไทยเสียภาษี 25% จะทำให้จีดีพีในปี 2568 ขยายตัวได้ 1.5% และจีดีพีในปี 2569 ขยายตัวได้ 1.2%
3.กรณีที่ไทยเจรจาลดภาษีลงมาได้ใกล้เคียงกับคู่แข่งหลัก โดยอยู่ที่ไม่เกิน 23% จีดีพีของไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ 1.5% และในปี 2569 จะขยายตัวได้ 1.4%
ภาษีไม่ใช่เงื่อนไขเดียวลงทุนไทย
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ญี่ปุ่นปิดดีลภาษีสหรัฐอัตรา 15% ไม่น่ามีผลกระทบต่อไทยมากนัก เพราะส่วนใหญ่ญี่ปุ่นส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐมาก รวมถึงไม่กระทบการลงทุน และการย้ายฐานการผลิตในไทย ไปสหรัฐ เพราะภาษีไม่ใช่เงื่อนไขเดียวของการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิต
ทั้งนี้ การตัดสินใจลงทุนที่ประเทศใดจะดูหลายองค์ประกอบคือ ความพร้อมด้านการลงทุน พื้นที่ แรงงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยหากจะย้ายฐานจริงไม่เฉพาะไทยประเทศเดียว แต่ย้ายจากประเทศอื่น ดังนั้นจึงไม่กระทบกับไทยนัก
ขณะนี้ต้องรอข้อสรุปการเจรจาภาษีระหว่างไทย และสหรัฐ เพราะหลายประเทศในอาเซียนปิดดีลแล้ว โดยอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์สรุปภาษีอัตรา 19% ซึ่งหวังว่าไทยจะสรุปไม่มากกว่า 20% โดยนายพิชัย จะประชุมกับผู้แทนการค้าไทย (ยูเอสทีอาร์) อีกรอบผ่านระบบออนไลน์ ในสัปดาห์นี้ คาดว่าไทยจะปิดดีลได้สัปดาห์หน้า
จับตาผลกระทบญี่ปุ่นลงทุนไทย
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กรณีญี่ปุ่นปีดดีลเจรจาภาษีกับสหรัฐที่อัตราภาษี 15% และญี่ปุ่นจะลงทุนในสหรัฐ 500,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประเด็นนี้ต้องประเมินความชัดเจนจะกระทบลงทุนในไทยหรือไม่ เพราะการลงทุนเป็นกิจกรรมหวังผลระยะปานกลางถึงยาว 5-10 ปี
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงการลงทุนทำได้ไม่ง่าย ซึ่งการย้ายฐานจะเกิดขึ้นกรณีนักลงทุนแน่ใจว่าไทยได้ข้อสรุปเจรจาสหรัฐที่แข่งขันไม่ได้ และภาษีไทยจะสูงกว่าญี่ปุ่นระยะยาว
“นอกจากเรื่องภาษี ต้นทุนการย้ายการลงทุนก็ไม่ถูก และไม่ได้ย้ายกันง่ายๆ นั่น คือถ้าภาษีที่โดนจัดเก็บของไทยไม่สูงกว่าญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สูงกว่า 10-15% อาจไม่ตัดสินใจย้ายเพราะมีปัจจัยเรื่องอื่นด้วย”
สำหรับการลงทุนขณะนี้นักธุรกิจชะลอการลงทุน เพื่อรอข้อสรุปอัตราภาษีให้ชัดเจนจึงจะเริ่มลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่าตัดสินใจได้ถูกต้อง
ส่วนประเด็นข้อเสนอการลงทุนในสหรัฐของญี่ปุ่น 500,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อาเซียนลดหรือไม่ นายนณริฏ กล่าวว่า ต้องจับตาดูเป็นการลงทุนสาขาใด และระยะเวลาที่ลงทุนนานแค่ไหน โดยถ้าลงทุนระยะยาวเมื่อเฉลี่ยมูลค่าการลงทุนต่อปีจะไม่สูง
ขณะที่ถ้าเป็นการลงทุนสาขาที่ไม่ตรงกับการลงทุนในไทยอาจเป็นเงินคนละส่วน และไม่กระทบแผนการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย ส่วนถ้าเป็นเงินลงในสาขาที่ตรงกับไทยอาจจะเสี่ยงมากขึ้น
เงินทุนกระจายความเสี่ยงในภูมิภาค
ความเคลื่อนไหว “ตลาดหุ้นไทย” วันที่ 23 ก.ค.2568 พุ่ง 27.87 จุด มาอยู่ที่ 1,219.62 จุด หรือ 2.34% โดยระหว่างวันทำจุดสูงสุดที่ 31 จุด มูลค่าซื้อขาย (วอลุ่ม) 45,127.72 ล้านบาท ซึ่งหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยทั้งเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาสะท้อนนักลงทุนต่างชาติ “ซื้อสุทธิ” วานนี้อยู่ที่ 4,492.43 ล้านบาท
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นวานนี้ปัจจัยหลักจากการซื้อของต่างชาติค่อนข้างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในไทยแต่รวมถึงตลาดภูมิภาคนี้ ซึ่งสะท้อนการกระจายความเสี่ยงออกจากภูมิภาคอื่นเข้ามาตลาดเกิดใหม่มากขึ้น
ทั้งนี้ แม้การเจรจาการค้ายังไม่ชัดเจนแต่ตลาดมองเป็นบวกที่อัตราภาษีแต่ละประเทศไม่ต่างกันมาก โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 19-20% ไม่รวมญี่ปุ่นที่ได้อัตรา 15% ซึ่งการที่อัตราภาษีไม่ต่างกันมากทำให้คาดหวังว่าอาเซียนรวมถึงไทยอาจอยู่ช่วงบวกลบ 20% ดังนั้นปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดมองว่าภาษีการค้าของไทย และภูมิภาคอาจไม่ต่างกันนัก และเป็นเหตุผลทำให้หุ้นขนาดใหญ่หลายตัวฟื้น
ขณะเดียวกัน บวกกับผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2568 มีแนวโน้มดีกว่าปกติ ซึ่งไตรมาส 2 มักเป็นช่วง soft season นอกจากนี้ หากดูตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐสูงเป็นประวัติการณ์ และ GDP ที่ดีของจีน และเวียดนามที่เป็นประเทศส่งออกเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าธุรกิจส่งออกไทยควรดีตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แนะนำนักลงทุนระวังในระยะสั้นโซน 1,210-1,230 จุด เป็นโซนที่นักลงทุนควรระมัดระวัง ซึ่งหุ้นหลายตัวได้ปรับตัวขึ้นมาระดับ 30-40% แล้ว และบางตัวขึ้นโดยไม่สนใจผลประกอบการ ซึ่งในความเป็นจริงผลประกอบการอาจไม่ดีทุกตัว
มองผลเจรจาภาษีทรัมป์ในภูมิภาคใกล้เคียงกัน
นายพิริยพล คงวาณิช ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์พื้นฐานสายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมีปัจจัยหนุนข่าวดีจากต่างประเทศเป็นหลัก จากดีลภาษีกับฟิลิปปินส์ที่ระดับ 19% และการเจรจาระหว่างจีน และสหรัฐมีแนวโน้มกลับมาพูดคุยอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันจีนถูกเก็บภาษี 55% จะหมดอายุวันที่ 12 ส.ค.68 นี้ และจะพูดคุยกันว่าจะขยายเวลาการเจรจา ขณะที่ญี่ปุ่นได้รับดีลที่ 15%
สำหรับประเทศอาเซียนเริ่มเห็นอัตราภาษีใกล้เคียงกัน เช่น ฟิลิปปินส์ 19% เวียดนาม 20% อินโดนีเซีย 19% และมาเลเซีย 25% ซึ่งคาดการณ์ว่าไทยจะได้อัตราภาษี 20-25% ซึ่งหมายความว่าผลกระทบต่อตลาดจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบคู่แข่ง
ทั้งนี้ แม้ว่าจะเห็นโฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อ ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นได้รับข่าวดี และปรับตัวขึ้นมามากพอสมควรแล้ว หากมีการประกาศอัตราภาษีที่ 20-25% จริง ตลาดอาจมีแรง Sell on fact หรือมีการเทขายทำกำไรออกมา หลังจากนั้นคาดว่าตลาดจะเคลื่อนไหวออกข้าง เนื่องจากที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก
“ศิริกัญญา” กังวลข้อเสนอไทย
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า การเจรจากับสหรัฐเหลือเวลาน้อยลง แต่ไทยยังแก้ไขข้อเสนอกับสหรัฐ ซึ่งหลายประเทศบรรลุข้อตกลงแล้วไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ได้เกรดเดียวกับอินโดนีเซียที่ 19% หรือจะเป็นญี่ปุ่นที่ได้ 15%
“วันนี้สำหรับเราต้องรอไฟนอล บีบหัวใจของคนไทยทุกคนว่าสุดท้ายจะโดนอัตราภาษีที่เท่าไร และจำเป็นต้องเปิดตลาดให้สหรัฐมากขนาดไหน การเจรจาครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อลดอัตราภาษีอย่างเดียว เพราะหากจำได้ ฟิลิปปินส์ ตั้งแต่เดือนเม.ย.ได้ 17% แต่พอต้นเดือนก.ค. ขึ้นเป็น 20% พอปิดดีลจบที่ 19% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ประกาศในครั้งแรก”
ดังนั้น เมื่อดูจากอัตราภาษีหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับ 19-20% พอจะคาดเดาได้ว่าประเทศไทยน่าจะใกล้กัน คงไม่ลดลงไปถึงญี่ปุ่นที่ 15% แต่ต้องแลกกับการนำเงินไปลงทุนในสหรัฐ 550,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อถามว่านายพิชัย คาดการณ์ไทยจะได้ไม่เกิน 20% เป็นไปได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า มีแนวโน้มจบไม่ถึง 20% ถ้าดูตัวอย่างอินโดนีเซีย และทางอินโดนีเซียเปิดเผยเงื่อนไขให้กับสหรัฐ เช่น การยกเลิกการจัดเก็บภาษีดิจิทัลในโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆ และข้อตกลงในการส่งออกแร่สำคัญ รวมถึงยอมรับมาตรฐานรถยนต์ของสหรัฐ แต่สุดท้ายก็ต้องรอฟังคำตอบจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนเดียว
ห่วงเปิดเสรีสินค้าเกษตรกระทบหนัก
ทั้งนี้ หากเปิดเสรีสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ เตือนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตอนนี้ให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ถ้าเราเอาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปเปิดเสรีให้กับสหรัฐทั้งหมด ไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถแข่งขันได้ ตนได้ข่าวว่าบริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของประเทศหยุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว แม้จะมีการประกันราคาที่ 7 บาท แต่ก็ไม่รับซื้อ ดังนั้นเกษตรกรกำลังกังวลกับอนาคตของตัวเองอยู่
ส่วนการสวมใส่สินค้าจีนส่งออกไปยังสหรัฐ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ถ้าเป็นสินค้าที่เราตรวจจับง่ายๆ แค่เข้ามาผ่านทางแล้วออกไป เราก็ไม่ยอมให้เขามานุ่งโจงกระเบน แล้วตีตราว่าเป็นสินค้าไทยอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะสหรัฐเองอาจจะตั้งเกณฑ์ ต้องเป็นวัตถุดิบที่ผลิตในไทย
ทั้งนี้ทำให้ไทยไม่สามารถใช้วัตถุดิบที่ผลิตจากประเทศจีนได้เลย ซึ่งเป็นความซับซ้อนและยุ่งยาก เพราะสหรัฐต้องการที่จะตัดห่วงโซ่อุปทานที่ไทยมีกับประเทศจีนอย่างเหนียวแน่น เป็นการตรวจเข้มมากขึ้นว่าสินค้าใดใช้วัตถุดิบจากประเทศจีน เรื่องของการสวมสิทธิปกติ เพราะหากตรวจเข้มข้นขนาดนี้ เราก็ไม่มั่นใจว่ากระทบเศรษฐกิจมากหรือไม่
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์