กฤษฎีกาขวางยุบสภา รักษาการนายกฯไร้อำนาจ พท.โวมี‘ชัยเกษม’ขึ้นแทน
"ภูมิธรรม" ยอมรับ "เลขาฯ กฤษฎีกา" แจงครม. "รักษาการนายกฯ" ยุบสภาไม่ได้ โบ้ยเป็นแค่ความเห็นเช่นเดียวกับ "วิษณุ" ก็ต้องฟัง ยันยังไม่ยึดแนวทางไหน เหตุยังไม่เกิดหวั่นสร้างความไม่มั่นใจ "ปกรณ์" ยกหลักความไว้วางใจในระบอบรัฐสภา ชี้ชัดไร้อำนาจยุบสภา-ตั้ง รมต. ระบุเป็นอำนาจเฉพาะตัวนายกฯ ที่ได้รับจากสภา "แกนนำ พท." เบรกคนอื่นอย่าใจร้อน พท.ยังมี "ชัยเกษม" แทน "แพทองธาร" ขานรับให้ รมต.พท.ทิ้งเก้าอี้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ "ศรีสุวรรณ" บุก กกต.ร้องสอบ ปชป.เสนอชื่อ "เดชอิศม์-ชัยชนะ" เป็น รมต. ขัดข้อบังคับพรรคผิดจริยธรรม ขณะที่ "พรรคส้ม" ยื่นร่างแก้ รธน.รายมาตราให้ "รัฐสภา" โหวตเลือกองค์กรอิสระ-ศาล รธน.
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 กรกฎาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกฯ ได้มีการเสนอเรื่องอำนาจรักษาราชการแทนนายกฯ ให้ ครม.รับทราบหรือไม่ หลังเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า รักษาราชการแทนนายกฯ ไม่มีอำนาจยุบสภา ว่าไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจกัน เพราะเรื่องที่ประชุมกันเป็นการมอบอำนาจหน้าที่ เลขาฯ กฤษฎีกาได้พูดข้อคิดเห็นและแนะนำ แต่ไม่ใช่ข้อที่บันทึกในที่ประชุม เป็นเพียงการยกตัวอย่างการปกครองในระบอบรัฐสภาแบบ Westminster ของประเทศอังกฤษ และได้มีการสอบถามว่าได้มีการพักราชการนายกฯ แบบ Westminster ซึ่งไม่มี นั่นคือความเห็นทางวิชาการอีกแง่มุมหนึ่ง
เมื่อถามว่า แล้วรัฐบาลเชื่อความเห็นของเลขาฯ กฤษฎีกาหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็เป็นหนึ่งความเห็นที่ควรพิจารณารับฟัง แต่ไม่มีอะไรเป็นที่ยืนยัน ซึ่งความเห็นดังกล่าวนี้ในส่วนของนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายก็เคยเสนอความเห็น และหลายท่านเสนอก็เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องพิจารณา
"จะใช้อำนาจอะไรก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองแต่ละช่วง ในเมื่อยังไม่ถึงสถานการณ์จะไปนั่งคิดทำไม วันนี้ไม่ใช่เวลานั่งคิดว่าเราจะอยู่หรือเราจะไป วันนี้ต้องมานั่งคิดว่าจะทำงานให้เต็มที่ได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานทั้งหมด ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาทำให้เกิดความไม่แน่นอน ไปสร้างความไม่มั่นใจอะไรต่างๆ ปัญหาที่ยังไม่เกิดเรายังไม่ควรถาม ควรจะถามในปัญหาที่คิดว่าสำคัญว่าทำต่อไปอย่างไร และยังไม่รู้ว่าเรื่องจะออกบวกหรือลบอย่างไร ไม่ควรมาคิดเรื่องลบอย่างเดียว" นายภูมิธรรมกล่าวตอบ เมื่อถามว่ายังไม่คิดจะใช้อำนาจยุบสภาใช่หรือไม่หากเกิดสถานการณ์การเมืองคับขัน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุม ครม.ดังกล่าวไม่มีการบันทึกอะไร เพียงแต่มีการแลกเปลี่ยนกันแค่นั้นเอง ส่วนจะให้ความเห็นอย่างไรก็ไปถามเลขาธิการกฤษฎีกาเอาเอง
เมื่อถามว่า รัฐบาลเชื่อว่าอำนาจรักษาราชการนายกฯ สามารถยุบสภาได้หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นความเห็นทางกฎหมาย เพียงแต่ไม่มีการบันทึกอะไร ก็ลองไปฟังดู แต่ละคนก็เห็นแตกต่างกัน อย่างนายวิษณุก็มีความเห็นแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีการบันทึก เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปพิจารณาดู
เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองเรื่องนี้อย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขอยังไม่ให้ความเห็น เมื่อถามอีกว่า เรื่องอำนาจการยุบสภามีผลต่อสถานการณ์การเมืองอย่างไร นายชูศักดิ์ปฏิเสธตอบคำถาม
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โฟสเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า "อธิบายซ้ำ : ผมอธิบายว่า ตามประเพณีการปกครองในระบอบ ปชต. ของบ้านเรา การเสนอแต่งตั้ง รมต.และการยุบสภา เป็นอำนาจเฉพาะตำแหน่ง นรม.เท่านั้น เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศที่ปกครองในระบอบรัฐสภาแบบ Westminster เป็นไปตามหลักความไว้วางใจ"
"ประเทศไทยจะเห็นได้ชัดในประกาศแต่งตั้ง นรม. ซึ่งมีความสรุปว่า ประธานสภา ….กราบบังคมทูลว่าสภาลงมติไว้วางใจให้ นาย/นางสาว … เป็นนายกรัฐมนตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น นรม
ส่วนกรณีประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็ชัดเจนว่าบัดนี้นาย/นางสาว … นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นรัฐมนตรี"
ชี้ชัดยุบสภาไม่ได้
"จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความไว้วางใจมาเป็นทอดๆ และพระมหากษัตริย์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นรม.ตามที่สภาเสนอและประธานสภานำความกราบบังคมทูล หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รมต.ตามที่ นรม.กราบบังคมทูลว่าสมควรไว้วางใจ
โดยนัยนี้เอง รนม.รักษาราชการแทน นรม.จึงไม่มีอำนาจเสนอแต่งตั้ง รมต. หรือเสนอให้ รมต.พ้นจากตำแหน่ง เพราะ รนม.รักษาราชการแทน นรม.นั้นเป็นเพียง รมต.คนหนึ่งซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก นรม.เฉกเช่นเดียวกับ รมต.คนอื่น ไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จึงจะแต่งตั้งหรือปลด รมต.คนอื่นๆ มิได้
หรือยิ่งไปกว่านั้นคือ รนม.รักษาราชการแทน นรม. จะเสนอให้ยุบสภาถ้ายังมีผู้ดำรงตำแหน่ง นรม.อยู่ยิ่งไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร หากเป็นเพียงผู้ซึ่ง นรม.ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ว่าเป็นผู้สมควรไว้วางใจให้แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น การยุบสภาจึงเป็นอำนาจเฉพาะของ นรม. เท่านั้น กล่าวได้ว่าการกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รมต.ก็ดี หรือถวายคำแนะนำให้ยุบสภาก็ดี เป็นเรื่องของ นรม.ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยแท้
ถ้า นรม.พ้นจากตำแหน่ง รนม.รักษาราชการแทน นรม. จะมีอำนาจเช่นนั้นหรือไม่ ต้องทราบว่าถ้า นรม.พ้นจากตำแหน่งไปไม่ว่าด้วยเหตุใด ผลคือ ครม.จะพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และ รธน.บัญญัติรองรับไว้ว่า เมื่อ ครม. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ดำเนินการเพื่อให้มี ครม.ขึ้นใหม่ implication จึงชัดเจนว่าสภาต้องดำเนินการเพื่อให้มีการเลือก ครม.ใหม่ขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีสภาอยู่เพื่อดำเนินการดังกล่าว เป็นบทบังคับที่ต้องดำเนินการ สภาจึงไม่อาจถูกยุบได้ในห้วงเวลานี้ และถึงอยากจะทำก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีความชอบธรรมที่จะทำดังกล่าวมาข้างต้น
ถ้า นรม.เกิดป่วยจนปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้โดยสิ้นเชิง รนม.รักษาราชการแทน นรม.จะกราบบังคมทูลเพื่อยุบสภาได้ไหม ต้องบอกว่าในระบบความไว้วางใจนั้น ถ้าผู้ซึ่งสภาให้ความไว้วางใจปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้โดยสิ้นเชิง สภาก็ต้องเรียกประชุมกันเพื่อถอดถอนความไว้วางใจสำหรับท่านเดิม แล้วพิจารณาลงมติกันว่าสมควรไว้วางใจผู้ใดขึ้นแทน เป็นกระบวนการของสภาที่จะต้องปรึกษาหารือตกลงกัน ไม่ใช่กิจของผู้รักษาราชการแทน"
"ย้ำว่าคำว่า 'ไว้วางใจ' ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ 'แบบ' แต่มันคือ 'ระบบ' ที่เขียนมานี้เพียงเพื่ออธิบายหลักการของ รธน.ตามความรู้ที่ร่ำเรียนมาเท่านั้น" นายปกรณ์ระบุ
นายภูมิธรรม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่พรรคประชาชน (ปชน.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะจับมือกันเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว แล้วพรรค พท.จะแก้เกมอย่างไรว่า ไม่ใช่เรื่องการแก้เกม แต่เป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้านที่เขาตัดสินใจ
"ต้องถามว่าพรรคประชาชนมั่นใจแล้วหรือที่จะร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย ที่จะมาแก้รัฐธรรมนูญ ต้องจำให้ได้ว่าวันที่พรรคเพื่อไทยเสนอแก้รัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยเดินออกทั้งพรรค เขาไม่พร้อมจะทำ การที่บอกว่าจะให้เขาทำให้ได้ภายใน 6 เดือน มั่นใจเหรอ เพราะพรรคภูมิใจไทยเป็นคนที่ขวางการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐบาลมาโดยตลอด ก็ขอฝากให้พรรคประชาชนคิด" นายภูมิธรรมกล่าว
ชู 'ชัยเกษม' แทน 'อิ๊งค์' ได้
ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พท.ปิดประตูเรื่องนายกฯ ชั่วคราว ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจะมีการเสนอคนอื่นหรือไม่ว่า พรรค พท.จะไปเสนอคนอื่นได้อย่างไร พท.ก็เสนอคน พท.อยู่แล้ว วันนี้ น.ส.แพทองธารแค่หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ยังมีโอกาสชี้แจง ยังไม่ถึงที่สุด หลายคนก็กระดี๊กระด๊ายังไม่ถึงเวลา ขอให้รอฟังศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะพิจารณาอย่างไร ย้ำว่าไม่ได้รีบร้อนอะไร หลังจาก น.ส.แพทองธารก็ยังมีนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท.อีก เพราะฉะนั้นคนอื่นต้องรอไปตามคิว อย่าใจร้อน
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยึดจำนวนเสียงของ สส.ตามที่เคยได้ สส.มาครั้งแรกนั้นว่า ยืนยันว่าไม่ได้ ซึ่งต้องใช้เสียง สส.ปัจจุบันในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และกระบวนการเสนอชื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 8 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรและมติของสภา ที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มี สส.ในสภาจำนวน 495 คน ร้อยละ 5 คือ 24.75 คน ในขณะที่พรรค พปชร.ขณะนี้มี สส.อยู่เพียง 19 คน ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 5 จึงไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดต คือ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรีได้
นายภูมิธรรมในฐานะแกนนำพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สส.ภาคอีสาน พรรค พท.เรียกร้องให้รัฐมนตรีที่เป็น สส.บัญชีรายชื่อลาออกจากตำแหน่ง สส.เพื่อรักษาองค์ประชุมในสภาว่า เป็นข้อเสนอที่น่าพิจารณา และมีสิทธิ์เสนอที่ประชุมสส.พรรค พท.อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้เป็นวิธีปฏิบัติของพรรค พท.อยู่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ว่าใครมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับสภามาก คนนั้นก็อาจจะต้องอยู่ 2 แห่ง ส่วนคนที่ไม่ได้มีบทบาทในสภามาก การลาออกก็ไม่ได้ช่วย แต่หากมีปัญหาก็ให้สามารถเลื่อนคนใหม่ขึ้นมา เพื่อจะได้โฟกัสกับงานรัฐมนตรีทั้งหมดอย่างเต็มที่ ซึ่งตนก็มองว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่ต้องรับไปพิจารณา
'สุชาติ' พร้อมลาออกจาก สส.
นายสุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า จริงๆ ที่ผ่านมายังไม่มีการลาออก แต่โดยธรรมเนียมก็ควรลาออก เพราะการทำหน้าที่รัฐมนตรีก็เต็มเวลาอยู่แล้ว คงไม่มีเวลาไปช่วยทางสภา โดยเฉพาะตอนนี้สภาเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งตนมีความตั้งใจที่จะลาออกจากตำแหน่ง สส.อยู่แล้ว เพื่อให้คนที่อยู่ในลำดับถัดไปได้ขึ้นมาทำหน้าที่
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวเช่นกันว่า เป็นหนึ่งในทางเลือกซึ่ง สส.ที่เป็นรัฐมนตรี มี 2 แนวทาง คือถ้าไม่ลาออก ในวันที่มีประชุมสภาต้องมานั่งประชุมในสภาและทำสองหน้าที่ แต่ถ้าอยากทำหน้ารัฐมนตรีอย่างเต็มที่ก็ควรลาออกจาก สส.เพื่อให้ผู้มีรายชื่อในลำดับถัดไปเข้ามาทำหน้าที่แทน ระบบการทำงานในปัจจุบันสามารถประชุมผ่านซูมได้ ก็มาใช้สภาทำงาน ดังนั้นรัฐมนตรีที่เป็น สส.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ให้ สส.และประธานวิปรัฐบาลรับผิดชอบทั้งหมดคงไม่ได้ เนื่องจากเสียงฝ่ายค้านและรัฐบาลเกินกันประมาณ 20 เสียง ก็ต้องอยู่ด้วยกันหมดที่สภาจึงจะไปรอด จึงต้องแจ้งไปยัง สส.ทุกคน
"ในวันประชุมสภาทุกวันพุธและพฤหัสบดี ขอให้ประชาชนสอดส่องดูว่าผู้แทนฯ ต้องไม่อยู่ในพื้นที่ ต้องทำมาทำหน้าที่ในสภา ใน 1 เดือนขอแค่ 8 วัน เงินเดือนหลักแสนบาท ต้องทำหน้าที่ในสภา ต่อไปนี้ถ้าสภาล่ม ใครไม่อยู่ในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็น สส.หรือรัฐมนตรีที่เป็น สส. หากไม่อยู่ประชุม ผมจะเปิดเผยรายชื่อต่อสื่อมวลชน ให้ประชาชนได้ทราบว่าบุคคลนั้นละทิ้งหน้าที่ ไม่รับผิดชอบงานสภา จะเปิดเผยให้ทราบว่าใครบ้างที่ขี้เกียจสันหลังยาว พี่น้องจะได้รู้ ต่อไปจะได้ไม่ต้องเลือกอีก" นายวิสุทธิ์กล่าว
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน มายื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการเสนอชื่อนายเดชอิศม์ ขาวทอง และนายชัยชนะ เดชเดโช ขึ้นเป็นรัฐมนตรี เป็นไปตามข้อ 96 (2) ของข้อบังคับพรรค ปชป.ตามประกาศของนายทะเบียนพรรคการเมือง ฉบับ 27 มิ.ย. 2567 หรือไม่ สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ว่า ปชป.มีข้อบังคับกำหนดไว้ชัดเจนในการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องผ่านการพิจารณาของ กก.บห.พรรค แล้วจึงนำรายชื่อเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของ กก.บห.กับ สส.ของพรรค แต่การเสนอชื่อครั้งล่าสุดกลับไม่มีขั้นตอนใดที่เป็นไปตามกติกาที่กำหนดในข้อบังคับพรรค โดยเฉพาะในข้อ 96 (2) แต่อย่างใด
จึงเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง คือเลขาธิการ กกต.ที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการเสนอชื่อรัฐมนตรีของพรรค ปชป. 2 คน หากไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคก็อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค ปชป.ข้อ 24 ว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรมของ กก.บห.และสมาชิกพรรคอีกด้วย นายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 15 (13) มาตรา 21 วรรคแรก และวรรคสาม มาตรา 22 วรรคแรกและวรรคสี่ ประกอบมาตรา 104 และมาตรา 92 (2) ซึ่ง กก.บห.ทั้งหมดอาจต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 5 ปี
"หาก กกต.วินิจฉัยว่าเป็นกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็อาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ต่อไป" นายศรีสุวรรณกล่าว
ปชน.ยื่นแก้ รธน.รายมาตรา
ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส.พรรค ปชน.ร่วมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นว่าด้วยองค์กรอิสระ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา
โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรค ปชน. กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรายื่นในวันนี้ มุ่งสู่การสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่เป็นอิสระจากประชาชน โดยแบ่งออกเป็น 3 ร่าง โดยร่างที่ 1 เป็นการเปลี่ยนระบบที่ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก คือเป็นการแก้ไขว่าด้วยกระบวนการที่มาและกระบวนการสรรหาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จากเดิมมีการสรรหาและเสนอชื่อผ่านคณะกรรมการสรรหาซึ่งเป็นช่องทางเดียว ส่วนที่แก้ไขคือให้มีการเสนอชื่อได้ ช่องทางจากที่ประชุมศาล ช่องทางจาก สส.รัฐบาล ช่องทาง สส.ฝ่ายค้านและช่องทางของ สว. ทั้งนี้จะไม่มีการปรับแก้ไขในเรื่องคุณสมบัติ ยกเว้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีความเห็นว่ากรรมการทั้ง 9 คนควรมีความหลากหลาย
ประเด็นที่ 2 การคัดเลือกและเห็นชอบ จากเดิมที่ต้องใช้การลงมติของ สว. โดยแก้ไขให้มาจากการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา และต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา รวมถึงมีเงื่อนไขกำหนดว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้านด้วย และประเด็นที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมในกระบวนการถอดถอน ที่ให้สิทธิ สส.และประชาชนเข้าชื่อ 2 หมื่นคน ยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ ในกรณีที่เห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ
“การปรับกระบวนการสรรหาที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ คือการแก้ปัญหาที่องค์กรต่างๆ นั้นไม่ยึดโยงกับประชาชน ข้อเสนอของพรรคประชาชนเชื่อว่าจะได้รับเสียงฉันทามติขั้นต้นจากสมาชิกรัฐสภา โดยทั้ง 3 ฉบับนั้นเป็นการทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่เป็นอิสระจากประชาชน แต่เป็นอิสระจากการถูกครอบงำจากกลุ่มก้อนทางการเมือง ในประเด็นองค์กรอิสระที่ผ่านมาถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เราควรต้องช่วยกันปลดชนวน ซึ่งการแก้ไขรายมาตราดังกล่าวเป็นการทำคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการบรรจุและผลักดันร่างดังกล่าวในรัฐสภาโดยเร็ว” นายพริษฐ์กล่าว.