รู้จัก ‘Soft Control’ ในความสัมพันธ์เมื่อ ‘ความหวังดี’ กลายเป็นดาบสองคม เจตนาดีไม่ใช่คำตอบ แต่คือการทำร้ายกันโดยไม่รู้ตัว
“ก็แค่หวังดีจริงๆ นะ”
ประโยคนี้อาจฟังดูอบอุ่นและมีเมตตา แต่ใครจะรู้ว่าสำหรับผู้ที่ได้ฟัง บางทีมันอาจไม่ใช่คำปลอบใจ แต่เป็นความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่
แน่นอนว่าเราต่างถูกปลูกฝังเรื่อง ‘ความดี’ และ ‘ความหวังดี’ โดยเฉพาะที่มีต่อคนอื่น เพราะมันเป็นเหมือนเครื่องหมายของความมีน้ำใจ ทั้งยังเป็น ‘พื้นฐาน’ ของความรักที่ ‘แท้’ จึงไม่แปลกที่เรามักใช้คำคำนี้เมื่อต้องการแสดงออกถึงความห่วงใยกับใครบางคนที่รัก
เพียงแต่ในโลกแห่งความสัมพันธ์นั้นซับซ้อน ไม่ใช่ทุกความหวังดีที่สามารถนำไปสู่ ‘ความเข้าใจ’ และ ‘ความสุข’ เจตนาดีทั้งหลายที่เราหยิบยื่นให้อีกคน ก็อาจกลายเป็นการบีบรัดอีกฝ่ายไว้ใน ‘กรอบ’ ของสิ่งที่เรานั้น ‘คิดว่าดี’ จนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด
สิ่งนี้ไม่ต่างกับ ‘Soft Control’ หรือการควบคุมแบบอ่อน ฟังดูคล้าย ‘Soft Power’ หรืออำนาจอ่อน ที่ค่อยๆ โน้มน้าวให้เรามีส่วนร่วม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเปลี่ยนแปลงความคิดตามที่ผู้ใช้อำนาจต้องการ ซึ่ง Soft Control จะมาภายใต้คำพูด การแสดงออกอันอบอุ่น อ่อนโยน และเจตนาที่ดูบริสุทธิ์ หากแต่มี ‘แรงผลัก’ บางอย่าง ที่ต้องการ ‘บังคับ’ หรือ ‘ควบคุม’ อีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว
หลายคนอาจเคยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้นเราอาจต้องลองมาดูกันว่าลักษณะที่เข้าข่ายเป็น Soft Control คืออะไร แล้วจะทำยังไงดีที่มันจะไม่กลายเป็น ‘การทำร้าย’ คนอื่นโดยที่ไม่ตั้งใจ
สร้างความรู้สึกผิดเพื่อกระตุ้นสิ่งที่ต้องการ
บางครั้งเราอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดโดยใช้ ‘คำพูด’ หรือ ‘พฤติกรรม’ เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่เราต้องการ หากมองจากกลไกทางจิตวิทยา มันคือการใช้ ‘ความละอาย’ และ ‘ความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ’ เพื่อดึงพฤติกรรม แม้ว่ามันอาจช่วยกระตุ้นให้อีกฝ่ายคิดถึงจิตใจของกันและกันมากขึ้นก็จริง แต่ก็อาจทำให้เกิดความอึดอัด หรือรู้สึกว่าความรักไม่บริสุทธิ์ เพราะเราคิดเอาเองว่ากำลังสื่อสารความรู้สึก ไม่ใช่ควบคุม ทั้งที่มันอาจตรงกันข้าม
จงใจไม่รักเมื่อไม่พอใจ
หลายคนน่าจะเคยไม่ตอบแชต ทำเมินเฉย แกล้งเงียบ ในความสัมพันธ์ ซึ่งมันคือการจงใจ ‘ไม่รัก’ ไม่ให้ความสนใจ หรือไม่สื่อสารด้วย เมื่อรู้สึกไม่พอใจ หรือเมื่ออีกฝ่ายไม่ทำตาม เหมือนเป็นการสร้างความไม่แน่นอน เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่มั่นคงและยอมทำตามเพื่อเรียกคืนความรัก สิ่งเหล่านี้ แม้ดูเหมือนว่าเราแค่อยากให้เขาสนใจ แต่แท้จริงมันอาจเป็นการ ‘ลงโทษ’ อีกฝ่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในความสัมพันธ์ เกิดความกลัว หรือสูญเสียความเชื่อใจได้
เธอควรเป็นแบบนั้นสิ
บางคนอาจเจอสถานการณ์ของการใช้บรรทัดฐานความสัมพันธ์ หรือการอ้างหน้าที่ หรือบทบาทที่ควรเป็นในความสัมพันธ์ เพื่อสร้าง ‘แรงกดดัน’ ผ่านหน้าที่ในสังคมให้อีกฝ่ายทำตาม เช่น ผู้ชายต้องเอาใจ ผู้หญิงต้องเชื่อฟัง ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ผู้หญิงต้องเป็นผู้ตาม แม้สิ่งนี้อาจสร้างกรอบความเข้าใจเบื้องต้นในการอยู่ร่วมกันก็จริง แต่ท้ายสุดมันจะกลายเป็น ‘พันธนาการ’ ที่บั่นทอนตัวตนของอีกฝ่ายได้ เพราะต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่ามันคือ ‘ความคาดหวัง’ ปกติ ทั้งที่จริงมันคือ ‘การกดดัน’ ต่างหาก
เปรียบเทียบกับคนอื่น
หลายครั้งเรามักเอาคู่ หรือคนรักของเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายรู้สึกด้อย หรืออยากทำให้ดีกว่า มันคือการเล่นกับ ‘ความกลัวการไม่เท่าเทียม’ และ ‘ความรู้สึกอับอาย’ เช่น การเปรียบเทียบหน้าตา นิสัยเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงฐานะทางสังคม จนแทนที่จะเป็นการ ‘ให้แรงบันดาลใจ’ ก็กลับกลายเป็นการ ‘ลด’ ความพอใจในตัวเอง คุณค่าในตัวเองของอีกฝ่าย จนทำให้รู้สึกว่า ‘ดีไม่พอ’
ประชดเงียบแต่ลงโทษผ่านพฤติกรรม
บางคนอาจไม่ชอบการปะทะ จึงมักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ใช้การควบคุมโดยแสดงออกทางอ้อม เช่น ประชด แซะ เงียบ ไม่พูดตรงๆ แต่ก็ยัง ‘ลงโทษ’ ผ่านพฤติกรรมการแสดงออก ดั่งที่หลายคนอาจเคยได้ยินคนรักพูดว่า “ใช้สี้(เสียงสูง) เราไม่สำคัญอยู่แล้ว” หรือ ทำหน้าบูดบึ้งไม่พูดจาโดยไม่บอกว่าเป็นอะไร แม้ดูเหมือนเป็นการเลี่ยงการปะทะ แต่มันก็สามารถบั่นทอนความไว้ใจ และสร้างความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ได้ จากการเก็บปัญหาที่ควรถูกเคลียร์บางอย่างไว้ใจ
เราต่างเคยพบเจอสถานการณ์เช่นนี้ในความสัมพันธ์ โดยที่อาจไม่เคยนึกว่ามันคือ ‘Soft Control’ หรือการควบคุมแบบอ่อน ที่ไม่ใช่การบังคับอย่างเปิดเผย ไม่มีคำสั่งหรือใช้อำนาจโดยตรง แต่มันกลับส่งผลร้ายลึกมากกว่าที่คิด
เพราะบางครั้งความหวังดี อาจฟังดูสวยงาม แต่เบื้องหลังนั้นกลับเต็มไปด้วยความรู้สึกติดค้างและความไม่เป็นอิสระเท่านั้น