“เขมร” ปลายทาง “ท่านหญิงฉวีวาด” ใช้ลี้ภัยการเมืองสมัยรัชกาลที่ 5
“เขมร” คือ ประเทศที่บรรดาชนชั้นนำ, ผู้นำของไทยหลายคน ใช้ลี้ภัยทางการเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ท่านหญิงฉวีวาด” ที่ลี้ภัยไปเขมรในสมัยรัชกาลที่ 5
ท่านหญิงฉวีวาด
ท่านหญิงฉวีวาด หรือ ม.จ. หญิง ฉวีวาด ปราโมช พระธิดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2) ประสูติแต่ ม.ร.ว. ดวงใจ ปราโมช ครั้งทรงพระเยาว์ท่านทรงเป็นเด็กสวยน่าเอ็นดู เมื่อกรมขุนวรจักรธรานุภาพทรงนำตัวไปถวาย รัชกาลที่ 4 ก็ทรงโปรดปราน ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “ให้เลี้ยง” ท่านอย่างพระเจ้าลูกเธอ จนในวังเรียกท่านว่า “ลูกเธอปลอม”
ท่านหญิงทรงแสดง “ฤทธิ์เดช” ให้เป็นที่ประจักษ์แต่เด็ก ด้วยการ “ขัดแข้ง” รัชกาลที่ 5 (ขณะยังทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอ) จนทรงสะดุดล้มตกอัฒจันทร์บนพระที่นั่งลงมาหลายขั้น ทั้งยังถูกรัชกาลที่ 4 ทรงเอ็ด แต่พระองค์ก็ทรงนิ่งเสีย มิได้กราบบังคมทูลฟ้องว่าใครเป็นต้นเหตุแต่อย่างใด
เมื่อท่านหญิงทรงชันษาถึงวัยมีครอบครัว พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล (ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ) พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 4 ทรงมาสู่ขอ ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกัน แต่ท่านหญิงทรงทราบว่า พระองค์เจ้าคัคณางคยุคลทรงมี “หม่อม” อยู่ที่วังแล้ว ทรงขอให้เลิกกันเสีย แต่พระองค์เจ้าคัคณางคยุคลทรงปฏิเสธ
ท่านหญิงจึงเอาของหมั้นที่ประทาน “โยน” ออกจากทางหน้าต่างพระตำหนัก
วังหลวง “ทรงสมรส” วังหน้า
เมื่อท่านหญิงทรงโกรธพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ก็ทรงถือโกรธกับ “วังหลวง” และทรงไปมาหาสู่กับ “วังหน้า” ซึ่งเป็นเรื่องที่กระเทือนพระทัยเจ้าวังหลวง แต่เท่านั้นยังไม่พอ ท่านหญิงยังทรงสมรสกับ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ (ต่อมาคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นฝ่ายวังหน้า
ขณะนั้นเจ้านายวังหลวงและวังหน้า “ไม่ค่อยลงรอยกัน” ภายหลังเมื่อ นายโรเบิร์ต นอกซ์ เข้ามารับราชการเป็นครูฝึกหัดทหารแบบฝรั่งที่วังหน้า ก็มักจะพูดยกย่องวังหน้าและดูหมิ่นวังหลวง คอยหาเหตุชวนวิวาทอยู่บ่อยครั้ง
ความตึงเครียดระหว่าง 2 วัง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่านหญิงเองก็ทรงอยู่ในวังวนนี้ด้วย ทั้งยังทรงสนิทกับภรรยาของนายนอกซ์ จึงมักแก้ต่างให้นายนอกซ์อยู่บ่อยครั้ง จนเกิด”วิกฤตการณ์วังหน้า” (ขอไม่ลงรายละเอียดในที่นี้)
ในที่สุด ตึกดินในวังหลวงเกิดระเบิด กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จออกจากวังหน้าไปประทับในสถานกงสุลอังกฤษ และประกาศว่าพระองค์ทรงอยู่ใต้บังคับบัญชารัฐบาลอังกฤษ
เมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียด วันรุ่งขึ้นท่านหญิงก็ทรงว่าจ้างเรือสำเภอขนทรัพย์สมบัติ และละครของเจ้าจอมมารดาอำภา ที่มีชื่อเสียงที่สุดในราชสำนักสยาม ซึ่งตกทอดมาถึงท่าน ลงเรือแล่นออกปากน้ำไป รอดจากการติดตามของเรือกลไฟหลวงที่จักรหักจนถึงเมืองเขมร
ลี้ภัยเมืองเขมร
ขณะนั้นกรุงเทพฯ มีการปักเสาหินเป็นอาณาเขตอยู่ทั้ง 4 ทิศ พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดจะเสด็จจากพระนครเกินเสาหินดังกล่าว ต้องกราบถวายบังคมลา และต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสียก่อน หากเสด็จออกไปโดยพลการถือว่าเป็น “กบฏ”
สำหรับท่านหญิง นอกจากเสด็จเกินแนวเสาหินโดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต การเสด็จนอกพระราชอาณาจักรไปถึงเมืองเขมร ต้องถือเป็น “โทษอุกฤษฎ์” แม้ท่านจะทรง “หนีรอด” ก็ตาม
แต่กฎหมายขณะนั้น หากเอาตัวผู้ทำความผิดไม่ได้ ให้เอาตัวผู้เป็นญาติใกล้ชิด เช่น บิดามารดา, พี่น้อง มาลงโทษแทน กรณีของท่านหญิง พระบิดาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ม.ร.ว. ดวงใจ ปราโมช ซึ่งเป็นพระมารดา จึงถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลัง 30 ที และให้จำสนมไว้ ทั้งให้ริบราชบาตร
ส่วนท่านหญิง เมื่อเสด็จถึงราชสำนักกัมพูชาพร้อมด้วยคณะละคร ทรงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (นักองค์ราชาวดี) ซึ่งทรงให้ท่านหญิงประทับในพระราชวังในฐานะละครในเมืองเขมร และให้หัดละครเมืองเขมร ภายหลังโปรดสถาปนาเป็นพระชายา มีพระอิสริยยศเป็นพระราชเทวี (อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอีกด้านแย้งว่า ท่านหญิงมิได้ทรงเป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระนโรดมแต่อย่างใด)
ถึงรัชกาลที่ 6 ท่านหญิงก็เสด็จนิวัติสยาม
คลิกอ่าน :
- ไทม์ไลน์ จอมพล ป. ที่ว่ากันว่าใช้ “อิทธิพล” ลี้ภัยพร้อมตร.อารักขา หลังเลือกตั้งสกปรก 2500
- ที่มา “ประเทศกัมพูชา” สมัยก่อนเมืองพระนคร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ. 2544.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2568.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “เขมร” ปลายทาง “ท่านหญิงฉวีวาด” ใช้ลี้ภัยการเมืองสมัยรัชกาลที่ 5
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com