“ศาลฎีกา” ไต่สวนพยาน 3 ปาก ปมชั้น 14 “แพทย์เจ้าของไข้” หลั่งน้ำตา ไม่คิดว่าต้องมาขึ้นศาล
“ศาลฎีกา” ไต่สวนพยาน 3 ปากช่วงเช้า อดีตแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ-แพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ-แพทย์เจ้าของไข้ ซักถาม ประเด็นการรักษาตัวที่ชั้น 14 เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ ด้าน “แพทย์เจ้าของไข้” ถึงกับหลั่งน้ำตาไม่คิดว่าเป็นแพทย์ต้องมาขึ้นศาล
วันที่ 18 ก.ค. 68 ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ดำเนินการไต่สวนพยานต่อเนื่องในคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 ซึ่งอัยการสูงสุดร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อกล่าวหาหลีกเลี่ยงการรับโทษจำคุก โดยอ้างเหตุเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจระหว่างถูกคุมขังภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์
ศาลได้นัดไต่สวนพยานฝ่ายศาล รวม 6 ปาก ประกอบด้วย พล.ต.ท.โสภณรัตน์ สิงหจารุ อดีต นพ.ใหญ่ รพ.ตำรวจ, พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ, นพ.ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล แพทย์สาขาโรคหัวใจ, นพ.สุรพล เกษประยูร แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ, พล.ต.ต.นพ.สามารถ ม่วงศิริ และแพทย์เจ้าของไข้ พ.ต.อ.นพ.ชนะ จงโชคดี
ในช่วงเช้าเวลา 9.00น. -12.30น. พยานรายแรก พล.ต.ท.โสภณรัตน์ สิงหจารุ อดีต นพ.ใหญ่ รพ.ตำรวจ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ และพ.ต.อ.นพ.ชนะ จงโชคดี แพทย์เจ้าของไข้ ตามลำดับซึ่งศาลได้พยายามซักถามถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับแพทย์ทั้ง 3ราย ซึ่งใน2รายแรกใช้เวลาประมาณรายละ 45 นาที และรายสุดท้ายใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
โดยพยานปากแรก พล.ต.ท.โสภณรัตน์ เปิดเผยถึงช่วงเวลาที่มีการรับตัวนายทักษิณเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เข้าเบิกความต่อศาล ในประเด็นการรับนายทักษิณเป็นคนไข้สู่กระบวนการรักษาเป็นไปตามระเบียบการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหรือไม่
โดยเฉพาะการให้ไปอยู่ในห้องพักชั้น 14 ซึ่งอ้างอิงว่าเป็นห้องแยกการรักษา ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 แต่พยานปากนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรักษา เพียงแต่รับทราบจากการรายงานของแพทย์ที่รับตัว นอกจากนี้ศาลยังได้ย้ำถามว่ามีนักโทษรายอื่นจากเรือนจำได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 อีกหรือไม่ ซึ่งพยานยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้จะส่งภายหลัง และยังไต่สวนในในประเด็น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินที่สืบเนื่องไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งยารักษาโรค ห้องพักผู้ป่วย ที่พบว่าจากใบเสร็จ 27 ใบ มีข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาโรคเพียง9 ใบ ที่เหลือเป็นใบเสร็จเกี่ยวกับ ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือดและค่าห้องพัก
ต่อด้วย พล.ต.ท.ทวีศิลป์ ที่เข้ารับตำแหน่งในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับในช่วงที่นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งนั้นเป็นนายแพทย์ สบ.8 โดยประเด็นการไต่สวนเดียวกันกับปากแรก ซึ่งพยานปากนี้เบิกความต่อศาลประเด็นห้องพักรักษาของนายทักษิณเป็นห้องพิเศษ ซึ่งเป็นการเบิกความขัดกันกับพยานก่อนหน้านี้ที่ให้ข้อมูลต่อศาล รวมถึงประเด็นการรักษาว่ากรณีนายทักษิณเป็นผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตส่งตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแต่เมื่อมาถึงโรงพยาบาลไม่ได้ไปห้องฉุกเฉินหรือห้องไอซียู แต่ส่งตัวไปชั้น 14 เนื่องจากมีการประสานส่งตัวไว้
รวมถึงการไต่สวนประเด็นอาการป่วยของนายทักษิณ ที่แพทย์จากเรือนจำได้ส่งประวัติมารักษา แต่ในข้อเท็จจริงการรักษาอ้างอิงจากโรคที่ระบุมานั้นไม่มีการผ่าตัดกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือโรคที่อ้างอิงตามใบแจ้งจากแพทย์เรือนจำ แม้ว่าแพทย์คนนี้จะทำแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกคอ แต่สุดท้ายไม่ได้มีการผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ทั้งนี้มีการผ่าตัดในอาการอื่น โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นนะหว่างที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ คือ การผ่าตัดนิ้วล็อค และการผ่าตัดเส้นเอ็นไหล่ฉีก ซึ่งข้อมูลการผ่าตัดนิ้วล็อคนั้นแพทย์เบิกความย้อนแย้งกัน ระหว่างแพทย์ที่อ้างอิงอาการจากเรือนจำพิเศษ กับแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ
จากนั้นพยานเบิกความปากที่ 3 พ.ต.อ.นายแพทย์ชนะ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจที่รับตัวนายทักษิณเข้ารักษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ศาลได้ซักรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์รับตัวนายทักษิณเข้ารับการรักษา รวมไปถึงกระบวนการรักษา โดยถามรายละเอียดเกี่ยวกับบันทึกการรักษาตั้งแต่รับตัวนายทักษิณไปจนถึงวันที่นายทักษิณออกจากโรงพยาบาล ที่ให้นายแพทย์ชนะ ไล่อ่านบันทึกการรักษา ที่พบว่าบางอาการไม่ได้มีบันทึกไว้ ถือว่า ยังเข้าขั้นป่วยวิกฤตและสามารถกลับได้หรือไม่ ซึ่งนายแพทย์ชนะ ได้ให้ความเห็นว่าบางอาการถือว่าไม่วิกฤตและสามารถกลับได้ นอกจากนี้ยังสอบถามถึงการใช้ยา รักษาอาการป่วย ที่ไม่ระบุอยู่ในใบเสร็จค่ารักษา
ศาลยังได้ถามถึงการเขียนใบให้ความเห็นแพทย์ เรื่องการขยายเวลารักษาตัว 120 วันรวมถึงสอบถามใน ประเด็นที่ว่ามีเจ้าหน้าที่จากราชทัณฑ์ได้ประสาน สอบถามอาการ ของผู้ป่วยหรือไม่ซึ่งนายแพทย์ชนะบอกว่า ไม่เคยมีใครสอบถามมา
นอกจากนี้ศาลยังสอบถามถึงผู้คุม ว่าได้ปฏิบัติการอยู่ตลอดหรือไม่นายแพทย์ชนะ ระบุว่า พบผู้คุมทั้งในห้องและหน้าห้องโดยก่อนเข้าตรวจจะต้อง ถูกเก็บโทรศัพท์ไว้ ขณะที่ เวลาเข้าตรวจนายทักษิณบางครั้งจะนอนอยู่บนเตียงคนไข้และบางครั้งจะนั่งอยู่บริเวณโซฟา
ศาลถามถึงการคำนึงข้อกฎหมาย และความรับผิดชอบรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่ง พ.ต.อ.นายแพทย์ ชนะจง ตอบใจความว่า “ คิดแค่ว่าเป็นหมอ จะแค่รักษาผู้ป่วย ไม่คิดว่าจะต้องมาขึ้นศาล” ก่อนจะใช้มือปาดน้ำตา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการเบิกความของพยานปากนี้มีท่าทีกังวลอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่เข้าไปในห้องพิจารณาคดีบริเวณคอก มีการขอกระดาษปากกาเพื่อจดคำถาม บางช่วงบางตอนระหว่างที่ศาลกำลังซักพยานปากนี้ยังยกมือพนมไหว้ขอโทษศาลตลอดเวลาที่ตอบคำถาม
ทั้งนี้ศาลได้ขอให้พยานส่งหลักฐานเอกสารเพิ่มเติม 2 เรื่อง 1. ข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษที่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และ.2. เอกสารออร์เดอร์ดอกเตอร์ชีท หรือบันทึกการรักษาของแพทย์
อย่างไรก็ตาม ในการสืบพยานจำเลยในครั้งนี้ ศาลอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวขึ้นไปฟังการไต่สวน แต่ไม่อนุญาตให้นำกระดาษหรือปากกาเข้าไปโดยเด็ดขาด