งานวิจัยเผย สีผสมอาหารส่งผลเด็กสมาธิสั้น- โรคมะเร็ง โดยเฉพาะสีแดง
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics ปี 2024 พบว่า อาหารและเครื่องดื่มที่มีสีสังเคราะห์มักมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสีถึงร้อยละ 141 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสีเหล่านี้มักถูกใช้ในผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำอัดลม ขนมอบ และอาหารสำเร็จรูป ที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ
หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจน คือ ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในเด็ก งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet พบว่า เด็กที่บริโภคสีสังเคราะห์ร่วมกับสารกันบูดมีพฤติกรรมไฮเปอร์มากขึ้น มีอาการคล้ายสมาธิสั้น (ADHD) โดยสีที่พบบ่อย เช่น สีแดงเบอร์ 40 (Red 40), สีเหลืองเบอร์ 5 และ 6 ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ผิดปกติในเด็กบางราย
ด้านความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า สีแดงเบอร์ 3 (Red No.3 หรือ Erythrosine) อาจเพิ่มโอกาสการเกิดเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ แม้ในมนุษย์ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และสมาชิกสหภาพยุโรป เริ่มจำกัดหรือห้ามใช้สีชนิดนี้ในอาหารแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่เริ่มค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างสีผสมอาหารกับการทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะ Red 40 ที่อาจส่งผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
ด้วยหลักฐานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลายรัฐในสหรัฐฯ เช่น แคลิฟอร์เนีย ได้เริ่มแบนสีผสมอาหารบางชนิดในโรงเรียน และออกกฎหมายให้ผู้ผลิตต้องติดฉลากเตือน ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น Kraft Heinz และ Nestlé กำลังทยอยเลิกใช้สีสังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์ของตนภายในปี 2027
แม้สีจากธรรมชาติจะถูกมองว่า "ปลอดภัยกว่า" แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าปัญหาสำคัญยังอยู่ที่โครงสร้างของ "อาหารแปรรูปขั้นสูง (Ultra-processed Foods)" ที่ถูกออกแบบให้ดึงดูดเกินจริง กระตุ้นความอยากอาหาร และมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ การบริโภคอาหารธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และการอ่านฉลากโภชนาการจึงยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการป้องกันความเสี่ยง
จุดเน้นหลักของการศึกษาใหม่ที่นำโดย Dunford คือการวัดการใช้สีสังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 39,763 รายการที่จำหน่ายโดยผู้ผลิต 25 อันดับแรกในสหรัฐอเมริกา โดยใช้ข้อมูลปี 2020 จาก Label Insight ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ NielsenIQ สำหรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
นักวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 19 มีสีสังเคราะห์ระหว่าง 1 ถึง 7 ชนิด สีสังเคราะห์ที่ใช้มากที่สุดคือสีแดงหมายเลข 40 รองลงมาคือสีแดงหมายเลข 3 และสีน้ำเงินหมายเลข 1
หมวดหมู่อาหารที่มีการใช้สีมากที่สุด ได้แก่ เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา (79%) เครื่องดื่มเข้มข้น (71%) และขนมหวาน (54%) ผู้เขียนระบุว่า “เครื่องดื่มอัดลมมีสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีสีย้อมสังเคราะห์มากที่สุด (30%) เนื่องจากเป็นหมวดหมู่ที่มียอดขายสูงสุด”
ทั้งนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียได้เริ่มออกกฎหมายห้ามใช้สีสังเคราะห์ที่ทำจากปิโตรเลียม โดยอ้างเหตุผลด้านสุขภาพ เช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่เพิ่มขึ้นและปัญหาทางระบบประสาทในเด็กและสัตว์ ผู้ว่าการรัฐแกวิน นิวซัม ได้สั่งห้ามใช้สีแดงหมายเลข 3 ในปี 2023 และห้ามใช้สีทั่วไปอีก 6 ชนิดในอาหารของโรงเรียนในปี 2024 นับแต่นั้นมา รัฐอื่นๆ อีก 25 รัฐได้เดินตามรอยของรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยการออกกฎหมาย ซึ่งบางรัฐได้ลงนามเป็นกฎหมาย และบางรัฐยังคงดำเนินการอยู่ โดยกฎหมายดังกล่าวจะห้าม จำกัดการใช้ หรือกำหนดให้ติดฉลากสีผสมอาหาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อัตราการฉีดวัคซีนเด็กทั่วโลกถดถอย เสี่ยงโรคระบาดกลับมาอีกครั้ง
- นักบินอวกาศ กินอะไรบนอวกาศ ? เปิดหลักการอาหารสำหรับการใช้ชีวิตบนอวกาศ
- "ร่วง" หรือ "รอด" ? ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม กำลังซื้อหด-โตแผ่ว l World Wide Wealth
- เด็ก 2 ขวบปีแรก ห่างไกลไวรัส RSV ด้วยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป
- แกงไทย “พะแนง” ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากแกงมาเลเซีย