สธ. มั่นใจไทยรักษา HIV มีประสิทธิภาพสูง คนติด 5 แสน อยู่ในระบบรักษาถึง 4 แสน
นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า (6 กรกฎาคม 2568) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่สะสม ตั้งแต่ปี 2529 ทั้งหมดประมาณ 5.4 แสนคน โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 4 แสนคนเข้าสู่ระบบการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง สามารถกดปริมาณไวรัสในร่างกายให้อยู่ในระดับที่ตรวจไม่พบ (Undetectable) และไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ผู้อื่นได้ (Untransmittable) หรือที่เรียกว่า U=U
ที่สำคัญผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยกว่า 3 แสนคน ติดเชื้อมานานเกิน 10 ปี และอีกหลายหมื่นคนที่อยู่กับเชื้อมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ยังพบผู้ที่อายุยืนยาวโดยอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมานานเกิน 30 ปีอีกด้วย แม้จะติดเชื้อมานานแต่ยังคงมีสุขภาพแข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งสะท้อนชัดว่าระบบบริการด้านสุขภาพของไทยสามารถดูแลผู้ติดเชื้อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนได้จริง ซึ่งครอบคลุมถึงการเข้าถึงยา การติดตามอาการ และบริการดูแลสุขภาพในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
ระบบการรักษาเอชไอวีของประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยเร็ว การเข้าถึงยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การป้องกันการติดเชื้อยังคงเป็นหัวใจสำคัญ ประชาชนสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคน ทุกช่องทาง และยังมีทางเลือกในการป้องกันโดยการรับยาเพร็พ PrEP (ยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ) และยาเป๊ป PEP (ยาป้องกันหลังเสี่ยงสัมผัสเชื้อ) ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง
ประเทศไทยไม่เพียงดูแลผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีได้ดีเท่านั้น แต่ยังผลักดันผู้ให้บริการในสถานบริการสุขภาพทุกแห่ง ลดการกีดกัน ไม่แบ่งแยกผู้ใช้บริการหรือเลือกปฏิบัติ เพราะทุกคนเป็นคนเท่ากัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี กล้าเข้าสู่ระบบการรักษา และคงอยู่ในระบบต่อไป นำไปสู่การลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ได้ นอกจากนี้เร่งส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองเอชไอวีเพื่อรู้สถานะ และป้องกันอย่างถูกวิธี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สหรัฐฯ อนุมัติยาฉีดป้องกัน HIV ปีละ 2 ครั้ง มีประสิทธิภาพป้องกันมากกว่า PrEP
- ตีแผ่ตัวเลขน่าห่วง วัยรุ่นไทยติด HIV เฉลี่ยเกือบ 360 คนต่อเดือน ปี 68
- มีเซ็กส์อย่างไรให้ปลอดภัย 101 "ป้องกันไว้ ดีกว่าแก้" ไม่เสี่ยงติดโรคร้าย!
- 5 สัญญาณเตือน อาการติดเชื้อ "HIV" เบื้องต้น เป็นแบบไหน มีอะไรบ้าง?
- "เอดส์" กับ "HIV" แตกต่างกันอย่างไร? เปิดเรื่องจริงที่หลายคน มักเข้าใจผิด!