3 แพร่งรัฐบาล ‘แพทองธาร’ จังหวะ ‘ทักษิณ-เศรษฐา’ปลุกเกมนายกฯ นอกสภา
เรตติ้งการเมืองสะท้อนผ่านผลโพล โฟกัสไปที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ“นิด้าโพล” เปิดเผยผลการสำรวจ เรื่อง “การเมืองไทย ไปต่อแบบไหนดี” สำรวจระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค.2568 เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน
“นิด้าโพล” ถามความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันโดยพบว่า
- 42.37% ระบุว่า แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ควรประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหานายกฯ คนใหม่
- 39.92% ระบุว่า “แพทองธาร” ควรยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป
- 15.04% ระบุว่า ควรบริหารประเทศต่อไปเหมือนเดิม
- 1.37% ระบุว่า เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร
เหนือไปกว่านั้นเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ คนต่อไปตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่“แพทองธาร” ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเผชิญกับปัญหาทางการเมือง พบว่า
- 32.82% ระบุว่าเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตจากพรรครวมไทยสร้างชาติ
- 27.94% ระบุว่า ไม่สนับสนุนใครเลยตามรายชื่อผู้มีสิทธิเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ
- 11.53% ระบุว่าเป็น “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
- 10.92% ระบุว่าเป็น“ชัยเกษม นิติสิริ” แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย เป็นต้น
“แพทองธาร” บนทาง 3 แพร่ง
อย่างที่รู้กันท่ามกลางสถานการณ์รัฐบาล ที่เวลานี้กำลังตกอยู่ในสภาวะ “สุญญากาศนายกฯ” หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “แพทองธาร” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯชั่วคราว หลังรับคำร้อง “36 สว.” ที่ยื่นถอดถอนจากกรณีคลิปเสียงสนทนากับฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ซึ่งตามกระบวนการพิจารณาคดีคาดว่าจะใช้เวลา 45-60 วันจึงจะรู้ผล
ย่อมส่งผลให้สถานการณ์ของ “แพทองธาร” ซึ่งเวลานี้มีสถานะเป็นเพียงรมว.วัฒนธรรม อยู่ในช่วงที่กำลังจดจ่อรอลุ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้ฉากทัศน์การเมืองที่กำลังดำเนินอยู่บน “ทางสามแพร่ง”
ทางแรก หากผลออกมา “เป็นบวก” คือ “นายกฯแพทองธาร” ไม่สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลภายใต้สมการ 260 เสียง ก็จะเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้ ท่ามกลางสารพัดโจทย์ใหญ่ทั้งการเมืองใน และนอกสภาฯ ที่กำลังรุกไล่รัฐบาลในเวลานี้
ไม่ต่างจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งใน และนอกประเทศ เห็นชัดจากผลสำรวจ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง“ครม.ชุดใหม่ และภาษีทรัมป์”ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค.68
คำถามสำคัญอยู่ที่ผลงานหรือนโยบายที่อยากเห็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เร่งดำเนินการมากที่สุด
- การแก้ปัญหาค่าครองชีพ เศรษฐกิจ 65.41%
- ช่วยเหลือภาคเกษตรกร 52.73%
- แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 50.80% .
- ปฏิรูป และเร่งพัฒนาด้านการศึกษา 49.12%
- ปฏิรูปราชการให้ทันสมัย 48.03%
เมื่อถามถึงกรณีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย 36% คาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด พบว่า
- 50.04% มองว่า กระทบมาก
- 34.76% มองว่า ปานกลาง
- 11% มองว่า กระทบน้อย
ทว่าหากการเมืองดำเนินไปสู่ ทางแยกที่สอง ผลออกมา “เป็นลบ” คือ ศาลวินิจฉัยให้ “แพทองธาร” สิ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี การเมืองก็จะเข้าสู่ “จุดพลิก” อีกครั้ง ผลที่จะตามมาคือ กระบวนการเลือกนายกฯ คนใหม่
โดยขณะนี้มีรายชื่อที่อยู่ในบัญชีพรรคการเมืองประกอบด้วย ชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประยุทธ์ และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์
ฉากทัศน์นี้เห็นความเคลื่อนไหวจากพรรคเพื่อไทยเป็นระยะ โดยเฉพาะการปรากฏตัวของ “ชัยเกษม” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย สื่อนัยโชว์ความพร้อมเป็น “นายกฯ ขัดตาทัพ” หากมติศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นลบ
ทว่าชอยซ์นี้ จะเป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ยังต้องลุ้น อย่าลืมว่าภายใต้ปมเสี่ยงที่แอบแฝงอยู่ในเวลานี้ คือ ประเด็นที่ “ชัยเกษม” เคยพูดถึงนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อาจสุ่มเสี่ยงเผชิญนิติสงครามรอบใหม่ได้ จุดนี้เองที่อาจเป็นเกมเอื้อให้อำนาจเปลี่ยนมืออีกครั้งหากดัน “ชัยเกษม” เป็นนายกฯ
เป็นเช่นนี้ต้องจับตาว่า พรรคเพื่อไทยจะยอมปล่อยให้ดุลอำนาจเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะหากชื่อนายกฯ ไม่ใช่ “ชัยเกษม” ก็อาจขยับไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งอยู่ในลำดับถัดไป สอดคล้องกับ “นิด้าโพล” ที่เสียงสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” กำลังมาแรง
เหนือไปกว่านั้น ทางที่สาม คือ นายกฯ ประกาศ “ยุบสภา” โดยชอยซ์นี้ถูกจับตาว่า อาจเกิดขึ้นหลังผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2569 ในช่วงเดือนก.ย. ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับฤดูการโยกย้ายข้าราชการ และไล่เลี่ยกับไทม์ไลน์ตามที่มีการคาดการว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยในช่วงเวลาดังกล่าว
ตามฉากทัศน์นี้รัฐบาลจะสามารถรักษาการไปได้อีก 60 วัน จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งไทม์ไลน์จะอยู่ในช่วงปลายปีนี้หรือช่วงต้นปีหน้า
อันที่จริงประเด็นนี้เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.68 ที่ผ่านมา ได้มีการหารือเกี่ยวกับ “อำนาจของรักษาการนายกรัฐมนตรี” โฟกัสไปที่ประเด็นอำนาจยุบสภา
เหนือไปกว่านั้นยังมีในส่วนของ “บันทึกข้อความ” สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี วันที่ 3 ก.ค.68 ลงนามโดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี
เนื้อหาสำคัญระบุ ในประเด็นการ “รักษาการแทนนายกฯ” ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ “นายกฯ” ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
ประเด็นนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ลึกๆ แล้วตัวเลือก “ยุบสภา” อาจเป็นตัวเลือกที่รัฐบาลให้ความสนใจพอสมควรหากไม่ต้องการให้อำนาจนายกฯเปลี่ยนมือ
รองประธานสภาฯ ฉากต่อรองพรรคร่วม
แน่นอนว่า ท่ามกลางสถานการณ์รัฐบาล ที่ตกอยู่ในสภาวะ “สุญญากาศนายกฯ” ขณะที่ “ดุลอำนาจ” ภายในขั้วรัฐบาล ภายใต้สมการรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ส่งผลให้ “ทุกเสียง” ในสภาฯ มีค่าต่อการโหวตหรือแสดงตนในวาระต่างๆ
จุดนี้เองกลายเป็นเกมเข้าทางบรรดาพรรคการเมืองต่างฝ่ายต่างเปิดเกมสร้างเงื่อนไขต่อรองกันเป็นรายวัน โดยเฉพาะบางโควตาที่ยังคาราคาซังอยู่ในเวลานี้
ต้องจับตา การนัดหมายพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารในวันที่ 22 ก.ค.68 นี้ ซึ่งครั้งนี้จะมี สส.เข้าร่วมด้วย โดยคาดว่าน่าจะมีการพูดคุยประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการกำชับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการควบคุมเสียงเป็นองค์ประชุมเพื่อแก้ปัญหาประชุมล่ม
แน่นอนว่า ลำพังแค่ “3 เสียง” ภูมิใจไทยที่โหวตสวนมติพรรค ในการพิจารณาถอนวาระเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ แม้จะพออนุมานได้ว่า เป็นการดูดเสียงฝ่ายค้านเติมเสียง “ขั้วรัฐบาล” เอาเข้าจริงอาจต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดกรณี สส.เจ็บ ป่วย ลา อีกพอสมควร
ขณะที่ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 จนถึงเวลานี้ยังเป็นข้อถกเถียงว่า จะเป็นโควตาของพรรคใดกันแน่
สัญญาณล่าสุดจาก“สุทิน คลังแสง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มสส.อีสาน ดูเหมือนจะยังคงยืนยันว่าโควตานี้ยังเป็นของพรรคเพื่อไทย โดยมองว่า “หากคิดแบบโควตาก็ต้องเป็น สส.อีสาน”
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวที่ว่า “สส.อีสาน” พรรคเพื่อไทยต้องการที่จะได้โควตาดังกล่าวไปอยู่ในการครอบครอง หากเทียบกับจำนวน สส.อีสานที่มีอยู่ในเวลานี้
ขณะที่“สรวงศ์ เทียนทอง” รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค กลับมองว่า หากดูตามโควตาแล้วอาจจะเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากเป็นพรรคอันดับสองในพรรคร่วมรัฐบาล
หรือแม้แต่ในส่วนของพรรคกล้าธรรม ก่อนหน้านี้ก็มีการโยนชื่อแคนดิเดตรองประธานสภาฯ ออกมาเช่นเดียวกัน
ผ่าดุลอำนาจสภาล่างหากยึดตามดุลอำนาจเดิมของ “ภราดร ปริศนานันทกุล” อดีตรองประธานสภาฯ ในสัดส่วนภูมิใจไทย ที่ลาออกหลังพรรคภูมิใจไทยถอนตัวร่วมรัฐบาล
ตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่สอง จะมีอำนาจ ในการพิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)รวมถึงการจัดระเบียบวาระการประชุมสภาฯ
ฉะนั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างมีเป้าประสงค์ที่จะดันวาระเรือธงของตัวเอง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่มีกฎหมายสำคัญรอเสนอเข้าสู่สภาฯ หากกุมอำนาจดังกล่าวไว้ได้ก็ย่อมมีผลในการต่อยอดการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลังเลือกรองประธานสภาฯ คนที่สอง ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา”ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะมีการแบ่งงานใหม่เพื่อเฉลี่ยดุลอำนาจภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่อย่างไร
“ทักษิณ-เศรษฐา” ภาพนายกฯ นอกสภาฯ
จะว่าไปพรรคเพื่อไทยเวลานี้ก็มี“พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน”เป็นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งอยู่แล้ว 1 คน เช่นนี้จึงต้องไปลุ้นกันอีกครั้งว่าเกมดุลอำนาจจะมีการจัดสรรในขั้วรัฐบาลแบบสมประโยชน์ร่วมกันหลังจากนี้อย่างไร
อ่านเกมทั้ง “หน้าม่าน-หลังม่าน” เพื่อไทยในเวลานี้ ท่ามกลางการเมืองบนความไม่แน่นอนจึงได้เห็น"ทักษิณ ชินวัตร" และ "เศรษฐา ทวีสิน" 2 อดีตนายกฯ ปรากฏตัวต่อสาธารณะบ่อยครั้ง จนถูกตีความว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อส่งสัญญาณการวางเกมตั้งรับ “ทาง 3 แพร่ง” ที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้
ยิ่งไปกว่านั้นการปรากฏตัวของ “2 อดีตนายกฯ” ลึกๆ อาจหวังผลเพื่อสยบเกมป่วนในและนอกสภาฯ เวลานี้ เสมือนเป็นการยืนยันว่า การเมืองไม่ได้เกิดสุญญากาศตามที่มีการคาดการณ์
ในสภาฯ มีนายกฯ ตัวจริงเวลานี้ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ นอกสภาฯ ก็มี "2(อดีต)นายกฯ" ที่คอยเป็นกุนซืออยู่เบื้องหลังอีกแรง
แถมยังตอกย้ำเกม “นายใหญ่” ที่ไม่ยอมให้อำนาจเปลี่ยนมือโดยง่ายอย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์