ชำแหละ “หมูไทย-หมูสหรัฐ” กระทบแสนล้าน ราคา-ต้นทุน-ประสิทธิภาพแข่งขันทิ้งห่าง
ทั้งนี้ภาครัฐได้รวบรวมผลกระทบเป็นราย sector เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน และยังยืนยันต้องไม่กระทบต่อภาคเกษตรกรรมรายย่อย และภาคอุตสาหกรรมรายย่อย
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" วิเคราะห์ ตลาดเกษตรไทยโดยเฉพาะเนื้อหมู และเครื่องในเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ที่ถูกนำมาใช้ต่อรองเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ หลังจากสหรัฐประกาศภาษีนำเข้าตอบโต้โดยไทยโดน 36% มีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 2568
สำหรับหมูสหรัฐมีการผลิตในขนาดใหญ่ที่ “มีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแข่งขันสูง” ทำให้สหรัฐขายหมูได้ใน ราคาต่ำเฉลี่ย 1.7 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ขณะที่ ราคาขายหมูไทยสูงเฉลี่ยที่ 2.3 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ดังนั้นหากไทยเปิดให้หมูสหรัฐราคาถูกเข้ามาตีตลาดจะกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทานหมูไทยโดยเฉพาะเกษตรกรที่จะถูกบีบให้เลิกกิจการมากขึ้นรวมถึง มูลค่าตลาดเนื้อหมูที่อาจสูญเสียไปราว 112,330 ล้านบาท
สหรัฐมีแนวโน้มกดดันให้ไทยนำเข้าเนื้อหมู และเครื่องในที่ Made in USA เนื่องจากเป็นรายการสินค้าเกษตรเข้าข่ายที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative : USTR) ได้ประเมินไว้ให้ไทยต้องเปิดตลาด และเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐมากขึ้นด้วยเหตุที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากสหรัฐสูง ในขณะที่ไทยนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐในสัดส่วนน้อย ศักยภาพการผลิตหมูไทยแข่งขันกับหมูสหรัฐได้ยากในทุกมิติ หมูสหรัฐมีความโดดเด่นในด้านการผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าไทย
ราคาขายหมูไทยแพงกว่าหมูสหรัฐกว่า 1.3 เท่า ศักยภาพหมูสหรัฐที่แข็งแกร่ง และมีต้นทุนการผลิตต่ำทำให้สหรัฐสามารถขายหมูได้ในราคาต่ำ โดยในช่วงปี 2563-2567 ราคาขายหมูสหรัฐเฉลี่ยที่ 1.7 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาขายหมูไทยเฉลี่ยที่ 2.3 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม
หาก "ไทยยอมเปิดตลาดให้หมูสหรัฐเข้ามาตีตลาดจะส่งผลกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน "หมูไทยเนื้อหมู และเครื่องในราคาถูกจากสหรัฐที่จะทะลักเข้ามายังไทยจะกระทบต่ออุตสาหกรรมหมูไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นหลักซึ่งแต่ละผู้เล่นต่างมีความเชื่อมโยง และจะกระทบต่อเนื่องกันเป็น Domino Effect ดังนี้
“เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู” จำนวน 1.49 แสนราย ที่เกือบทั้งหมดเป็นรายย่อยกว่า 97% จะได้รับผลกระทบโดยตรงให้ “ว่างงานและขาดรายได้” ซ้ำเติมเดิมที่ผู้เลี้ยงลดลงไปแล้วกว่า 21% ในช่วงปี 2564-2567 จากภาวะขาดทุนสะสมจนต้องเลิกกิจการไป
"เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์" อย่าง รำสด ข้าวโพด ปลายข้าว(วัตถุดิบหลักในประเทศที่ใช้เลี้ยงหมู) รวมราว 5 ล้านครัวเรือน จะมีผลผลิตเหลือ และกดดันราคาให้ตกต่ำ กระทบรายได้เกษตรกรกลุ่มนี้ให้ลดลง
“โรงชำแหละ” อาจถูกตัดวงจรขั้นตอนนี้ไปจนต้องเลิกกิจการในที่สุด เขียงหมู ถูกกดดันรายได้บางส่วนจากเนื้อหมู และเครื่องในหมูสหรัฐที่ทำการแยกชิ้นส่วนสำเร็จพร้อมบริโภคมาบ้างแล้ว มูลค่าตลาดเนื้อหมูไทยคาดสูญเสียเบื้องต้นราว 112,330 ล้านบาทในกรณีที่ไทยเปิดตลาดให้เนื้อหมูสหรัฐเข้ามาอย่างเสรี 100% ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวยังไม่นับรวมความสูญเสียในกรณีที่ไทยนำเข้าเครื่องในหมูด้วย
โดย “ผู้บริโภคและร้านอาหาร” แม้จะสามารถซื้อเนื้อหมู และเครื่องในหมูสหรัฐได้ในราคาถูกซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตอาหารได้แต่ในระยะยาวสารเร่งเนื้อแดงในหมูสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดอาการข้างเคียงต่อสุขภาพได้หลากหลาย สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (B-agonist) ที่ใช้ในปศุสัตว์เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดง และลดไขมัน
ทั้งนี้ ไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในหมู (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์) อาจส่งผลต่อระบบประสาท และกล้ามเนื้อทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดหัว วิงเวียนศีรษะและหัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในระบบสืบพันธุ์สตรี และในบางกรณีอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งโดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษได้แก่ เด็กผู้สูงอายุหญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคหัวใจ และเบาหวาน(ข้อมูลจากกรมอนามัย)
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์