ช้างป่า ‘พี่ด้วนเขาใหญ่’ ชน ‘พลายเบี่ยงเล็ก’ เพลี่ยงพล้ำงากระเด็น เผยสายมูยกเป็นของขลังมูลค่านับล้าน
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. จากกรณีเมื่อคืนที่ผ่านมา ในพื้นที่บ้านเขาวงหมู่ที่ 3 ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทีมงานผลักดันช้างป่า พบ "พี่ด้วนวนาลี" ซึ่งเป็นช้างป่าอายุ 47 ปี อยู่คู่เขาใหญ่มานาน โดยงาข้างซ้ายของพี่ด้วนวนาลี ได้หักหายไป พบเพียงงาข้างขวาเพียงข้างเดียว สาเหตุเกิดจากการต่อสู้ระหว่างพี่ด้วนวนาลี และ "ช้างป่าพลายเบี่ยงเล็ก" อายุ 38 ปี ทำให้งาพี่ด้วนวนาลีหักนั้น
นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า ต้นเหตุงาของพลายพี่ด้วนหลุดหาย ได้รับการยืนยันจากชาวบ้านว่าวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา เวลา 21.00 น. พบช้างป่าตัวผู้ 2 ตัว ต่อสู้กัน ช้างป่า 2 ตัว ตัวแรกคือ “พลายด้วน” และ “พลายเบี่ยงเล็ก” ช้างป่าวัย 38 ปี ต่อมาพบภาพพลายด้วน เดินออกมาและพบว่ามีงาหักบริเวณด้านซ้าย จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ บริเวณหมู่ที่ 3 ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พบงาช้างจำนวน 1 กิ่ง หล่นอยู่ ถือว่าโชคดีที่เจองาของพลายด้วน มีความยาว 50-60 ซม. น้ำหนักประมาณ 5 กก. เพราะเรียกว่างากระเด็น ถือเป็นของขลังหายาก และมีมูลค่าสูงนับล้านบาท โดยช้างทั้ง 2 ตัว ไปชนนอกเขตอุทยานฯ
นายชัยยา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำบันทึกเพื่อส่งมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่วนข้อกังวล ว่าเกิดจากภาวะโภชนาการของอาหารช้างหรือไม่ เพราะ 2 ปีก่อน เคยมีพลายทองคำงาหักมาแล้ว ส่วนตัวมองว่า ช้างที่มีน้ำหนัก 5-6 ตัน เมื่อมาชนกัน งาก็มีโอกาสหักได้
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 เคยมีเหตุการณ์ช้างชนช้างบนเขาใหญ่ มวยคู่เอกคือพลายทองคำ-พลายงาทอง ต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย จนพลายทองคำงาหัก และนำมาสู่การหาคำตอบว่าเหตุใดงาช้างบนเขาใหญ่ จึงไม่แข็งแรงเปราะง่าย ซึ่งทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่งงาช้างและดินโป่งบนเขาใหญ่ไปตรวจด้วยแสงซินโครตรอน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแห่งชาติ เพราะสันนิษฐานว่าอาจเชื่อมโยงกับโภชนาการของช้าง ผลตรวจสอบได้คำตอบว่าพบอัตราส่วนโดยมวลของธาตุแคลเซียมไม่เกิน 1.76 ส่วนต่อธาตุฟอสฟอรัส 1 ส่วน ซึ่งน้อยกว่าค่าอ้างอิงในตัวอย่างช้างเอเชีย ที่มีอัตราส่วนธาตุแคลเซียม 2.16 ส่วนต่อฟอสฟอรัส 1 ส่วน
สอดคล้องกับดินโป่งแต่ละแหล่ง พบแร่ธาตุที่หลากหลาย ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับช้างและสัตว์ป่าทั้งแร่ธาตุหลัก และแร่ธาตุรอง ได้แก่ โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม โซเดียม เหล็ก แมงกานีส สังกะสี มีข้อสังเกตที่สำคัญคือ พบว่าธาตุแคลเซียมมีปริมาณน้อย เบื้องต้นสรุปว่าสาเหตุที่ทำให้ช้างได้รับแร่ธาตุไม่เพียงพอ คือช้างไม่กินโป่ง เนื่องจากมีกลิ่นนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเหยียบย่ำโป่ง.