ล่าช้า-ไม่โปร่งใส-ไม่ยุติธรรม? สำรวจข้อสังเกตว่าด้วย ‘ศาลทหาร’ หลังบทลงโทษจำเลยคดี เมย-ภคพงศ์ ถูกสังคมมองว่า ‘ไม่ได้สัดส่วน’
ศาลทหาร ยุติธรรมจริงไหม และมีไปทำไม เพื่อความยุติธรรม หรือเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องทหารด้วยกันกันแน่?
ล่าสุด ศาลทหารสูงสุดมีคำพิพากษาคดีของ เมย – ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตจากการธำรงวินัยเมื่อปี 2560 โดยยืนตามศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ให้รับโทษ จำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท และรอลงอาญา 2 ปี โดยศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษและให้โอกาสปรับปรุงตัวเพื่อรับใช้ชาติต่อไป
คำตัดสินดังกล่าว ได้จุดชนวนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้างในสังคม โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าคำตัดสิน “ไม่มีความยุติธรรม” และมากไปกว่านั้น คือการตั้งคำถามกับการมีอยู่ของ ‘ศาลทหาร’ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่กระบวนการและคำตัดสินจากศาลทหารทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นนี้ จนที่ผ่านมาก็มีความพยายามในการปฏิรูปศาลทหารอยู่เรื่อยๆ
แล้วศาลทหารมีไปทำไม หรือที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้างกันแน่ The MATTER ชวนย้อนดูมิติต่างๆ ในปัญหาของ ‘ศาลทหาร’ ไปด้วยกัน
ที่มา ปัญหา และความไม่เชื่อถือของประชาชน
ศาลทหารไทย มีรากฐานยาวนานตั้งแต่ปี 2474 โดยมีพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 เป็นกฎหมายหลักและได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญปี 2560 และศาลทหารมีโครงสร้างสามชั้น คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด รวมถึงศาลในเวลาไม่ปกติที่มีอำนาจขยายขึ้นยามสงครามหรือกฎอัยการศึก
โดยศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาเฉพาะบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร (ณ เวลาที่กระทำความผิด) เช่น ทหาร นักเรียนทหาร หรือพลเรือนที่สังกัดทหาร และความผิดต่อกฎหมายทหาร หรือความผิดอาญาอื่นๆ ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกหรือเวลาไม่ปกติ และอาจครอบคลุมถึงพลเรือนในบางกรณี แต่หากทหารกระทำผิดร่วมกับพลเรือน คดีเกี่ยวพันกับคดีศาลพลเรือน หรือผู้กระทำผิดเป็นเด็กและเยาวชน จะต้องขึ้นศาลพลเรือนแทน
งานวิจัยเรื่อง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับตุลาการศาลทหาร โดย สุประวีณ เอกจิตต์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในปี 2566 ได้สรุปปัญหาที่ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในศาลทหารไว้ ดังนี้
ประการแรก คือการที่ศาลทหารอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการ แตกต่างจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองซึ่งมีองค์กรบริหารงานบุคคลและงบประมาณที่เป็นอิสระ จึงเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของตุลาการและหลักการแบ่งแยกอำนาจ จนคนมองว่า ศาลทหารอาจเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการบังคับบัญชาทางทหาร มากกว่าองค์กรตุลาการอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนั้น ยังใช้อำนาจโดยที่มักจะรวมศูนย์อยู่ที่ผู้บังคับบัญชา ทำให้ตรวจสอบและถ่วงดุลได้ยาก
อีกปัญหาที่สำคัญ คือการกำหนดคุณสมบัติขององค์คณะตุลาการทหารที่ไม่รัดกุมเพียงพอ โดยอาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางกฎหมาย และมาจากการแต่งตั้งโดยผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่การสอบแข่งขัน จนเกิดข้อกังวลในคุณสมบัติ
ในอดีต มีหลายคดีสำคัญที่ลดทอนความเชื่อมั่นในศาลทหารไทย เช่น คดี 6 ตุลา 2519 หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐบาลในขณะนั้นได้นำตัวนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่ถูกจับกุมไปดำเนินคดีในศาลทหาร แต่กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างล่าช้าและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ขาดความโปร่งใส และไม่สามารถนำผู้กระทำผิดตัวจริงมารับโทษได้อย่างเป็นธรรม ท้ายที่สุด คดีเหล่านี้ก็จบลงด้วยการนิรโทษกรรม ซึ่งหมายความว่าไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจำนวนมาก
หรือในปี 2554 ที่พลทหารวิเชียร เผือกสม ทหารเกณฑ์ เสียชีวิตจากการถูกซ้อมทรมานอย่างรุนแรงและถูกธำรงวินัยที่ค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส คดีนี้ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหาร กระบวนการดำเนินคดีเป็นไปอย่างยืดเยื้อ มีการตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าของคดี และความพยายามในการปกปิดข้อมูลหรือช่วยเหลือผู้กระทำผิด แม้ในที่สุดจะมีคำพิพากษาและผู้กระทำผิดบางรายถูกลงโทษ แต่บทลงโทษที่ออกมามักถูกมองว่า ไม่สมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับความโหดร้ายของเหตุการณ์
และยังรวมถึงคดีทุจริตและฟอกเงิน อย่างในปี 2557 ที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเครือข่าย ถูกจับกุมในข้อหาทุจริต เรียกรับผลประโยชน์ และฟอกเงิน ซึ่งเป็นคดีอาญาทั่วไปที่มีความซับซ้อนและมีพลเรือนเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยมีการประกาศกฎอัยการศึก คดีนี้จึงถูกโอนไปให้ศาลทหาร จนสาธารณะชนตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และศักยภาพของศาลทหารในการพิจารณาคดีประเภทนี้
อุปสรรคต่อความยุติธรรมในศาลทหาร
iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ชี้ถึงข้อจำกัดหลายประการของศาลทหารที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายและผู้ใต้บังคับบัญชาในกองทัพ ซึ่งล้วนเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ
ประการแรก คือกฎระเบียบทางทหาร ที่มีสารพัดข้อห้ามสำหรับทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องการร้องเรียนผู้บังคับบัญชา เช่น ห้ามร้องทุกข์แทนผู้อื่น ห้ามลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน และห้ามประชุมกันเพื่อหารือเรื่องจะร้องทุกข์ ทำให้ทหารชั้นผู้น้อยอาจไม่กล้าท้าทายอำนาจทหารชั้นผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่มีหลักประกันในกระบวนการยุติธรรม
ในด้านของพลเรือน ผู้เสียหายที่เป็นพลเรือนจะไม่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาในศาลทหารได้โดยตรง และไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมได้ ต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น
ในด้านของกระบวนการ ในศาลทหาร หากจำเลยให้การรับสารภาพหรือไม่ติดใจฟัง การพิจารณาและสืบพยานอาจไม่ทำต่อหน้าจำเลยนั้นก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากศาลพลเรือนที่ทุกขั้นตอนต้องทำต่อหน้าจำเลย เพื่อให้มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมได้
และสุดท้าย คือศาลทหารจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคดีทางแพ่ง ดังนั้น ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์ หรือชดใช้ค่าเสียหาย หากโจทก์มีการร้องขอให้ยึดทรัพย์จำเลย จะให้ส่งคดีนั้นไปยังศาลพลเรือนอีกครั้ง
เหล่านี้จึงสะท้อนว่า ศาลทหาร อาจถูกออกแบบมาเพื่อรักษาความเป็นระเบียบและวินัยในกองทัพ แต่อาจเรียกได้ว่าละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานและความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม จนกลายเป็นความรู้สึกของประชาชนในวงกว้าง ว่าเป็นความยุติธรรมที่ถูกอำพรางไว้
ถ้าหากคดีเมย ตัดสินในศาลพลเรือน…?
คำพิพากษาคดีเมย ที่จำเลยได้รับโทษจำคุกเพียง 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท และรอลงอาญา 2 ปี ได้จุดชนวนคำถามสำคัญเกี่ยวกับการให้สัดส่วนของโทษในศาลทหาร เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของศาลพลเรือนในคดีที่คล้ายคลึงกัน
ใน ศาลพลเรือน (ศาลยุติธรรม) คดีทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย จัดอยู่ในความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี หากมีการลงมือกระทำโดยเจตนาหรือมีลักษณะเป็นการทรมานอาจมีโทษสูงขึ้น แม้ว่าศาลพลเรือนก็สามารถใช้ดุลยพินิจในการลดหย่อนโทษหรือรอลงอาญาได้ตามพฤติการณ์ แต่โดยทั่วไปแล้ว บทลงโทษสำหรับความผิดที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตมักจะมีความรุนแรงกว่าและไม่ค่อยมีการรอลงอาญาในกรณีที่ผลลัพธ์รุนแรงถึงชีวิต
เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่นาน วันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ได้มีคำพิพากษาคดี เน–พลทหาร วรปรัชญ์ พัดมาสกุล ที่เสียชีวิตจากการถูกครูฝึกซ่อมวินัยหลังเข้าเป็นทหารเกณฑ์เพียง 3 เดือน โดยศาลได้ตัดสินจำคุก ครูฝึก 2 ราย รายละ 20 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ ส่วนทหารเกณฑ์อีก 11 คนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูฝึก ถูกจำคุกคนละ 10 ปี หรือมีความผิดตาม ‘พ.ร.บ. อุ้มหาย’ หรือ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ในการแถลงข่าวของ กมธ.ทหาร หลังมีคำพิพากษาคดีนี้ ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน โฆษกคณะกรรมาธิการฯ ยกกรณีคดีของเนขึ้นมาเปรียบเทียบว่า คดีเน กับคดีเมย นั้น มีความคล้ายคลึงกัน โดยเป็นการเสียชีวิตจากการธำรงวินัยเช่นกัน แต่เมื่อคดีเมยถูกพิจารณาในศาลทหาร เนื่องจากในขณะที่เกิดเหตุนั้น พ.ร.บ. อุ้มหาย ยังไม่มีการบังคับใช้ ผลลัพธ์จึงออกมาแตกต่างกันทั้งความหนักของโทษ และการรอลงอาญา จนกลายเป็นข้อสังเกตว่า มาตรฐานการลงโทษระหว่างศาลทหารกับศาลพลเรือนมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
‘ปฏิรูปศาลทหาร’ อาจเป็นทางออก
ที่ผ่านมา มีการเรียกร้องและมีข้อเสนอให้ปฏิรูปศาลทหารในหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายที่มา
ร่างพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับใหม่) ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว มีข้อเสนอให้ยกเลิกศาลจังหวัดทหารทุกแห่ง ให้สิทธิประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องคดีอาญาในศาลทหารได้ (ยกเว้นศาลอาญาศึก และอนุญาตให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลทหารในเวลาไม่ปกติ (กรณีประกาศกฎอัยการศึกที่ไม่มีการรบ) ตรงต่อศาลทหารสูงสุดได้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ของคณะกรรมาธิการการทหาร (กมธ.ทหาร) มีข้อเสนอที่ครอบคลุมและมุ่งเน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ลึกซึ้งกว่า เช่น การยกเลิกศาลจังหวัดทหาร การให้ผู้เสียหายมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ทั้งในเวลาปกติและไม่ปกติ ขยายสิทธิอุทธรณ์และฎีกา เสนอให้ตุลาการศาลทหารอยู่ภายใต้การกำกับของ "คณะกรรมการตุลาการศาลทหาร" ที่มีผู้แทนจากศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เพื่อให้เป็นอิสระจากอำนาจการบังคับบัญชา นอกจากนี้ยังเสนอให้คดีเฉพาะทางบางประเภทอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน กำหนดคุณสมบัติตุลาการทหารให้ชัดเจนขึ้นสำหรับคดีที่มีโทษสูง และปรับแก้ให้ห้ามสืบพยานลับหลังจำเลยพร้อมทั้งเพิ่มสิทธิการประกันตัว ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ของพรรคประชาชน 2 ฉบับ เพื่อจำกัดอำนาจและบทบาทของกองทัพ โดยฉบับแรกเสนอแก้มาตรา 50 (5) ให้ การเกณฑ์ทหารในยามสงบทำไม่ได้ บังคับเฉพาะเมื่อประเทศมีภัยสงครามเท่านั้น เพื่อส่งเสริมกองทัพอาสาสมัครและใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ อีกฉบับเสนอแก้มาตรา 199 เพื่อ ตัดอำนาจศาลทหารในเวลาปกติ ให้มีอำนาจพิจารณาคดีเฉพาะเมื่อมีการประกาศสงครามเท่านั้น ซึ่งจะทำให้คดีของทหารต้องขึ้นศาลพลเรือน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางกระบวนการยุติธรรมและสร้างมาตรฐานเดียวกันกับพลเรือน ระเบียบราชการศาลทหารว่าด้วยกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ในเดือนมิถุนายน 2566 มีการกำหนดกรอบเวลาการพิจารณาคดีในศาลทหารชั้นต้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และศาลทหารกลาง/สูงสุดภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อลดความล่าช้าและเพิ่มประสิทธิภาพ
หลังจากที่มีคำพิพากษาคดีเมย ก็ยังคงมีข้อเรียกร้องจากนักการเมือง และเสียงจากภาคประชาสังคม ให้บุคลากรทางทหารที่กระทำความผิดควรขึ้นศาลพลเรือน หรือยกเลิกศาลทหารสำหรับคดีอาญาทั่วไป เพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่เท่าเทียมและโปร่งใสยิ่งขึ้น
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร นำโดย ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ เอกราช อุดมอำนวย สส. กทม. พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ได้แถลงการณ์ถึงกรณีคำตัดสิน
ชยพล ชี้ว่า ทุกครั้งที่เกิดความเสียหาย หรือการสูญเสีย กองทัพมักจะออกมาชี้แจงเสมอ ว่ากองทัพมีมาตรฐานกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามทำเกินกรอบอำนาจต่างๆ แต่ “กองทัพไม่เคยบังคับใช้มาตรฐานนั้นอย่างเท่าเทียมกัน” และแทนที่จะแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ กลับถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร
ชยพล กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะต้องตระหนักรู้ ว่าตนเองจะต้องมีมาตรฐาน ที่ไม่เพียงแค่เขียนไว้ในกระดาษและประกาศกันเอง แต่จะต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด”
อ้างอิงจาก
Editor: Thanyawat Ippoodom