เพศสภาพ ทนายความ เครื่องแบบ คุยกับ ชิษณ์ชาภา พานิช ทนายความผู้เรียกร้องสิทธิการแต่งกายตามเพศสภาพ
“สะบัดธงสีรุ้งหน้าสภาทนายความด้วยกัน เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย เรามีตัวตนและมีศักดิ์ศรี เพื่อนทุกท่าน ดิฉัน ชิษณ์ชาภา พานิช และเพื่อนๆ ทนายจะร่วมกันทวงถามให้สภาทนายความ แก้ไขข้อบังคับเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพของทนายความในการว่าความในศาล ให้มีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพได้ ซึ่งปัจจุบันข้อบังคับทนายความยังคงบังคับทนายเพศหลากหลาย ให้ต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดเท่านั้น มิฉะนั้นอาจเข้าข่ายประพฤติผิดมรรยาททนายความได้ จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ”
ข้างต้นเป็นหมายเชิญชวนให้ทุกคนไปร่วมแถลงการณ์และแสดงจุดยืนร่วมกัน ที่สภาทนายความ ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ข้อบังคับรับรองให้ทนายความมีสิทธิแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศได้ ที่ โรม—ชิษณ์ชาภา พานิช ทนายความผู้เป็นหญิงข้ามเพศ เขียนขึ้นเพื่อให้สังคมรับรู้ว่า ตอนนี้ยังมีทนายที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ 2 เพศ กำลังถูกลิดรอนสิทธิ ถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากแต่งกายไม่ตรงตามเพศกำเนิด
The MATTER พูดคุยกับ ทนายชิษณ์ชาภา ถึงเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ อุปสรรคระหว่างทาง และปลายทางที่คาดหวัง ในการเรียกร้องสิทธิให้อาชีพทนายสามารถแต่งกายตามเพศสภาพ
จุดเปลี่ยนอะไรในชีวิตหรือประสบการณ์ใด ที่ทำให้คุณเริ่มตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายในวิชาชีพทนายความ
โรม—ชิษณ์ชาภา พานิช
จุดเปลี่ยนที่ทำให้โรมเริ่มต้นตั้งคำถามเกี่ยวกับการแต่งกายในวิชาชีพนี้ เริ่มมาตั้งแต่ปริญญาตรี จบนิติศาสตร์ แล้วเราอยากประกอบอาชีพเป็นทนายความ ที่ซึ่งจะต้องไปสมัครสอบ สมัครอบรมวิชาว่าความกับสภาทนายความ เพื่อที่พอเวลาเราจบการศึกษาและสอบผ่าน แล้วเราก็จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ ได้รับใบอนุญาตให้ว่าความได้
ทีนี้ในระหว่างที่เราไปสมัครสอบ เราก็ถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่เจ้าหน้าที่ คือเราไปยื่นเอกสารเพื่อประกอบการสมัคร แล้ววันนั้นเป็นวันที่ผู้สมัครหลายๆ คนก็ไปยื่นพร้อมกัน ตอนนั้นพอถึงคิว เราก็เดินเข้าไปแล้วยื่นเอกสารทั้งหมด เจ้าหน้าที่ก็ดูคำนำหน้านาม ดูเอกสารที่เรายื่นไป พร้อมมองเราตั้งแต่หัวจรดเท้า แล้วก็เตือนเราว่า “ถ้าเข้าเรียนคงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าสมมติเข้าสอบ ผมแนะนำให้คุณใส่กางเกง เพราะว่าคำนำหน้าคุณเป็นนาย ข้อบังคับของสภาจะถือว่าคุณแต่งกายผิดระเบียบเข้าสอบ แล้วคุณอาจจะต้องได้รับโทษ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการที่คุมสอบ แล้วก็คณะกรรมการตรวจข้อสอบ”
เขาพูดอย่างนี้กับเราต่อหน้าเพื่อนๆ ที่เป็นว่าที่ทนายความ ตอนนั้นเรารู้สึกอับอายมาก จนเราก็ตอบเขาไปว่า แต่เรามีเพศสภาพเป็นผู้หญิง และที่เราจะขอแต่งกายเข้าสอบตามเพศสภาพ เราก็ไม่ได้ขอแต่งกายให้ผิดระเบียบไปจากผู้หญิง ขอแต่งกายเป็นผู้หญิงทั่วไป ทำไมจะต้องมาหักคะแนนเราด้วย เขาก็บอกว่า “ผมขอแนะนำให้คุณยื่นหนังสือขออนุญาตต่อผู้อำนวยการสภาทนายความ ว่ามีความจำเป็นต้องแต่งกายตามเพศภาพเข้าสอบ” อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นรู้สึกว่าการยื่นหนังสือก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ดี มันไม่สมควรจะต้องไปยื่นคำขออนุญาตในการเป็นเราให้กับใคร
หลังจากนั้นก็ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) แต่คณะกรรมการเขาก็วินิจฉัยมาไม่ทันในวันที่เราเข้าสอบ ทำให้วันที่เราเข้าสอบเป็นวันที่ไม่มีอะไรมาคุ้มกันเราเลย เราต้องเข้าไปสอบแบบรับความเสี่ยงว่า ตัวเองจะถูกไล่ออกจากห้องสอบไหม หรือว่าจะถูกหักคะแนนข้อเขียนหรือเปล่า โดยสิ่งที่คิดไว้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นเรื่องน่าอายอีกครั้ง ตรงที่ว่าในระหว่างที่เราทำข้อสอบ คณะกรรมการคุมสอบจะนำเอาใบเซ็นชื่อมาให้เซ็นในแต่ละโต๊ะ ทีนี้พอมาถึงโต๊ะโรม เขาก็ดูคำนำหน้า ขอดูบัตรผู้ฝึกอบรมทนาย แล้วเขาบอกว่า “คุณแต่งกายผิดระเบียบนะครับ คุณใส่กระโปรง”
เราก็เลยบอกว่า ใช่ แต่ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ วลพ.แล้ว กำลังรอคณะกรรมการตัดสินอยู่ เขาเลยบอกว่า “แต่ตอนนี้กำลังสอบอยู่ เพราะฉะนั้นพอคุณเซ็นชื่อเข้าสอบแล้ว คุณช่วยวงเล็บด้านหลังชื่อให้ผมหน่อยว่า ใส่กระโปรงเข้าสอบผิดระเบียบ”
ขณะที่เขาพูดกับเรา คนที่สอบข้างๆ เรา ทั้งข้างหน้าข้างหลังหันมามองเราหมดเลย คือเราอายมาก ข้อสอบทนายมันก็ยาก มีทั้งปรนัยและอัตนัย แต่เราต้องมากังวลในเรื่องนี้ แล้วก็ต้องมานั่งอายในห้องสอบ เรารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมกับเรามาก
พอสอบเสร็จ เราก็เอาเรื่องนี้ไปแจ้งคณะกรรมการ เป็นข้อเท็จจริงเพิ่มเติม คณะกรรมการก็เอาเรื่องนี้ไปวินิจฉัย สุดท้ายผลคำวินิจฉัยก็ออกมาว่าระเบียบการแต่งกายดังกล่าวถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลข้ามเพศในการใช้สิทธิกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศในการแต่งกาย
คณะกรรมการ วลพ.ก็สั่งให้สภาทนายความแก้ไขระเบียบการสอบให้รับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพของผู้อบรมและผู้สอบ ซึ่งในตอนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ข่าวออกเยอะมาก เพราะสภาทนายความ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. และก็ไปยื่นฟ้องศาลปกครองกลางว่าคำวินิจฉัยของ วลพ.ทั้งฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย บอกว่าระเบียบของตัวเองไม่ได้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะระเบียบเขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้เข้าสอบชายต้องแต่งตัวแบบไหน ผู้เข้าสอบหญิงต้องแต่งตัวแบบไหน ในเมื่อคุณเป็นชายแล้วคุณไม่สามารถแต่งกายเป็นผู้ชายได้ คุณก็ต้องมายื่นขออนุญาต แล้วเขาก็บอกว่าระเบียบการอ้างอิงมาจากข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความในเรื่องการแต่งกาย ที่กำหนดทนายความออกเป็น 2 เพศเท่านั้น
โดยทนายความชายเวลาว่าความต้องแต่งกายใส่กางเกง ทนายความหญิงก็ต้องใส่กระโปรง ซึ่งพอเขาฟ้องศาลปกครองกลาง ตัว วลพ.ซึ่งเป็นผู้ทำความผิด ก็จะกลายเป็นผู้ถูกฟ้องคดี แล้วตอนนั้นศาลออกหมายเรียกโรมให้เข้าไปเป็นผู้ร้องสิทธิ ในฐานะที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เผื่อมีคำพิพากษาออกมา มันอาจจะกระทบต่อโรม เพราะเราเป็นผู้ร้องในตอนแรก เราก็เลยได้เข้าไปเป็นผู้ร้อง ไปเป็นจำเลยอีกคนหนึ่งในคดีนั้น
พร้อมกันนั้นศาลก็สั่งให้เรายื่นคำให้การ สู้กับโจทก์ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเรายอมรับข้อเท็จจริง แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน คือคณะกรรมการสภาทนายความที่ยื่นฟ้อง กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ แล้วท้ายสุดคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งก็เข้ามาทำงานแทน เขาก็ได้โทรมาหาเรา และบอกว่า “ทางคณะกรรมการเรา ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ดังนั้นขออภัยต่อการยื่นฟ้อง ไม่ใช่คณะกรรมการชุดผมทำ เดี๋ยวผมจะไปยื่นถอนฟ้องออกจากศาลปกครองให้ โดยให้คุณไปในวันที่ผมยื่นถอนฟ้อง และให้เซ็นว่าไม่ขัดข้องต่อการถอนฟ้อง”
พอถึงวันนั้นเราก็ไปศาลปกครองกลาง แล้วก็ขออ่านคำแถลงของสภาทนายความว่าด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการถอนฟ้อง เขาก็ไปบอกศาลปกครองกลางว่า “เนื่องจากมีการเปลี่ยนชุดคณะกรรมการแล้ว เขาส่งเสริมความเสมอภาค แล้วก็พร้อมที่จะแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับทุกอย่าง ให้รับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพของทนาย”
พอหลังจากที่โรมสอบเสร็จ ผ่านไปประมาณปีหนึ่ง ก็ยังไม่มีการแก้ระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายสักอย่างเลย เราเลยติดต่อ วลพ.ถึงค่อยเกิดการตามเรื่องให้ ทำให้ปัจจุบันเกิดการแก้ไขระเบียบการแต่งกายเข้าสอบและอบรมแล้ว นักศึกษามีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพ
แต่ว่าเราผ่านการทดสอบ ได้ใบอนุญาตว่าความในศาลแล้ว ทำให้การแต่งกายไม่ตรงตามเพศกำเนิดยังถือว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความ เพราะว่าข้อบังคับสภาทนายความยังไม่แก้ แก้แค่ระเบียบการแต่งกายเข้าสอบและเข้าอบรม ส่งผลให้คนข้ามเพศหรือเพศหลากหลายที่อบรมและสอบเสร็จเรียบร้อย ได้ใบอนุญาตว่าความ ไปว่าความในศาลได้แล้ว เขาเหล่านั้นกลับยังถือว่าแต่งกายผิดระเบียบข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยหน้าที่ทนายความในการแต่งกายในเวลาว่าความ เพราะระเบียบตรงนี้ยังไม่ถูกแก้
โรม—ชิษณ์ชาภา พานิช
เพราะฉะนั้นทุกวันที่โรมใส่กระโปรง ใส่รองเท้าส้นสูง โดยที่ไม่ผูกเนกไท ไม่ใส่กางเกงเหมือนผู้ชาย ถือว่าเป็นการแต่งกายผิดระเบียบตามข้อบังคับของสภาทนายความในข้อ 20 อยู่ เท่ากับที่เราไปว่าความ ประกอบสัมมาอาชีพตัวเองอยู่ทุกวัน ทำอาชีพตัวเองบนฐานแห่งการประพฤติผิดมรรยาททนายความด้านการแต่งกายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยความไม่รู้ว่าเมื่อไรจะโชคร้าย ถูกบุคคลดังต่อไปนี้ ยื่นคำร้อง ยื่นข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการมรรยาททนายความว่า ประพฤติผิดมรรยาททนายความในขณะว่าความ เพราะไม่แต่งกายให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยบุคคลที่มีสิทธิจะยื่นข้อกล่าวหา มีอยู่ด้วยกันถึง 6 คน ได้แก่ ผู้เสียหายเพราะการประพฤติตนของเรา ทนายความ ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และคณะกรรมการมัชฌิมทนายความ ซึ่งการยื่นข้อกล่าวหาดังกล่าวยังเป็นช่องทางที่เอื้อต่อบุคคลที่ไม่หวังดีต่อเราอีกด้วย
ทุกวันนี้เราและเพื่อนๆ ที่เป็นเพศหลากหลาย เป็นทนายด้วยกัน มักถูกบางศาลมองแรง เพราะมีทัศนคติที่ไม่เป็นกลางทางเพศ มีอคติทางเพศ บางท่านมองเราตั้งแต่หัวจรดเท้า เนื่องจากใบอนุญาตระบุว่าเราเป็นนาย แต่ทำไมถึงแต่งกายแบบนี้ ทำไมเสียงเราเป็นแบบนี้ เคยถูกถามในเชิงงงๆ ใช้น้ำเสียงไม่ดี โรมและเพื่อนคิดว่าส่วนหนึ่งมันก็เป็นเพราะข้อบังคับของสภาทนายความนี่แหละ ที่ทำให้เราอยู่บนพื้นฐานของการประกอบอาชีพที่ไม่ชัดเจน
ซึ่งมันสุ่มเสี่ยงมากกับการที่เราเป็นทนายความข้ามเพศ เพราะอาจถูกกล่าวหาว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความ โดยจากคนใดคนหนึ่งใน 6 คนที่กล่าวมา และที่สำคัญต่อให้ไม่มีคนกล่าวหาก็ตาม แต่ข้อบังคับสภาทนายความข้อ 4 บอกชัดเจนว่า ใครที่ประพฤติผิดข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้ ที่รวมถึงการแต่งกาย อาจถูกอายัดการเป็นทนายความ
ฉะนั้นสิ่งเดียวที่โรมจะต้องรอให้ตัวเองซวย ก็คือรอให้คนมาร้องเรียนแค่นั้นแหละ ไม่ต้องอะไรเยอะแยะเลย เพราะว่ามันชัดเจนอยู่แล้วว่าโรมประพฤติผิดมรรยาททนายความ ทำให้โรมก็ท้วงถามนายกสภาทนายความไปหลายครั้งว่า คุณเคยสัญญากับเราและศาลปกครองกลางไว้ว่าคุณจะแก้ข้อบังคับ แต่คุณก็ไม่แก้ นอกจากนี้ เราก็ไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปร้องเรียนกับรัฐสภาผ่านพรรคก้าวไกลในสมัยนั้น แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ข้างต้นเป็นข้อกล่าวหาแรกที่ทนายความข้ามเพศจะต้องโดน ก็คือข้อกล่าวหาด้านการประพฤติผิดมรรยาททนายความ ที่จะมีโทษอยู่ทั้งหมด 3 สถาน สถานแรกก็คือภาคทัณฑ์ ถูกเตือนให้กลับไปแต่งกายให้ตรงตามระเบียบ หรืออาจถูกสั่งห้ามว่าความเป็นเวลา 1-3 ปี ไม่เกิน 3 ปี แต่เมื่อไรก็ตามที่คณะกรรมการเห็นว่า มันทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของการเป็นทนายความอย่างร้ายแรง เขาก็จะลบชื่อเราออกจากสมาชิกความเป็นทนายความ ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อีกเลย
ถามว่าเรื่องนี้มันไกลตัวไหม จะบอกว่าไม่ไกล เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะดูจากคำฟ้องที่เขาเคยฟ้องเราที่ศาลปกครองกลาง ที่มีข้อหนึ่งอ้างมาว่า “การที่ทนายความไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับด้านการแต่งกาย แค่การแต่งกายยังปฏิบัติไม่ได้ นั่นก็ส่อไปในทางที่ทนายความผู้นั้นจะไปประกอบสัมมาชีพทนายความประพฤติผิดจรรยาบรรณ"
ดังนั้นแล้วการที่แต่งกายไม่ตรงตามเพศกำเนิด ถือว่าเป็นการทำให้วิชาชีพทนายความเสื่อมเสียเกียรติคุณ เพราะฉะนั้นโรมมองว่า การที่วันใดวันหนึ่งจะถูกกล่าวหาว่าผิดมรรยาท แล้วคณะกรรมการมรรยาททนายความจะลบชื่อเราออก มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวมากนัก
การที่ไม่ให้เราแต่งกายตามเพศสภาพเข้าว่าความได้ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว ในการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศแล้ว มันยังเป็นการละเมิดเสรีภาพในการประกอบอาชีพด้วย เพราะว่าการที่คุณเขียนข้อบังคับมาว่าต้องแต่งกายตาม 2 รูปแบบนี้เท่านั้น โดยที่ไม่อนุญาตให้ทนายความที่เป็นคนข้ามเพศแต่งกายตามเพศสภาพได้ ก็หมายความว่าคุณไม่อนุญาตให้เขาเข้าไปประกอบอาชีพทนายความในการว่าความในศาล ซึ่งถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญ
เหตุผลนี้จึงเป็นแรงผลักดัน ต่อการเรียกร้องสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพ
โรม—ชิษณ์ชาภา พานิช
มันไม่ได้เป็นแรงผลักดันในลักษณะของทำให้เรามี passion ในการเรียกร้อง คือเราคิดว่าไม่มีใครในโลกนี้มี passion กับการต้องมาต่อสู้ในสิ่งที่มันไม่เป็นธรรม แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้เพราะเราเป็นผู้เสียหาย ทุกวันนี้ที่เราทำงานเป็นทนายความ เราต้องแบกรับความเสี่ยงในทุกๆ วินาทีที่เดินเข้าไปในศาล เราจะต้องดูว่าผู้พิพากษาคนนั้นจะว่าอย่างไรกับการแต่งกายของเรา
แต่หากเป็นทนายความชายหรือหญิงทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีข้อกังวลด้านนี้เลย เพราะไปว่าความ เขาเตรียมคำถาม ถามค้าน ซักถาม เตรียมพยาน เตรียมรูปพยาน ยื่นคำแถลงต่างๆ สนทนาสื่อสารกับศาลและลูกความในศาลได้อย่างภาคภูมิใจ
แต่พอเป็นทนายความข้ามเพศอย่างเรา เราต้องคิดแล้วว่าเราต้องทำอะไรให้ลูกความมองว่า เรามีความน่าเชื่อถือ คือมันมีความไม่เท่าเทียมกันในทุก step เลย ตั้งแต่การเข้าสอบจนกระทั่งเรามาประกอบอาชีพ เขาก็ยังไม่ทำให้เราเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพทนายความอย่างเท่าเทียมกับทนายความเพศชายและหญิง เขาทำให้เราต้องดิ้นรนในทุกๆ วินาทีที่เราทำงาน
ทั้งที่เราปฏิบัติงานของเราโดยสุจริต เราหากินจากอาชีพนี้ แล้วการที่สภาทนายความ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลวิชาชีพทนายความ ไม่เห็นหัวทนายความที่เป็นสมาชิกทนายความที่มีความหลากหลายทางเพศ มันถือว่าเขาเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน ปล่อยปละละเลย เราถูกตราหน้าอยู่ทุกวันว่าเราประพฤติผิด ถูกยัดเยียดถ้อยคำว่าแต่งกายไม่เรียบร้อยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันบั่นทอนพวกเรามากๆ มันไม่ใช่ว่าเรามีแรงผลักดันที่จะมาสู้ แต่เราต้องสู้เพราะเราต้องหาเงินในอาชีพนี้
เรามองว่าถ้าไม่สู้ก็ไม่มีจะกิน ถ้าไม่สู้ก็อยู่ไม่ได้ แต่ฉันก็เป็นทนายความ ประกอบอาชีพสุจริต ดำรงความยุติธรรมให้กับลูกความได้ไม่ต่างจากคุณ แต่ทำไมฉันถึงไม่เท่ากับคุณ ทั้งๆ ที่ฉันเท่ากับคุณ ฉันเป็นมนุษย์เหมือนคุณ
นี่คือสิ่งที่เราเขียนในหมายที่จะไปยื่นให้แก่นายกสภาทนายความ เพราะเราเป็นผู้เสียหาย มันทรมานจริงๆ เพราะข้อบังคับรับรองแค่ทนายความที่เป็นเพศกระแสหลัก แต่พวกเราซึ่งเป็นเพศกระแสรองไม่ได้รับรอง
โรม—ชิษณ์ชาภา พานิช
ถ้าในอนาคตเราและเพื่อนๆ เจอผู้พิพากษาอาวุโส ที่เขาเห็นว่าเราแต่งกายไม่เหมาะสม ไม่ตรงตามเพศกำเนิด เป็นการหมิ่นเกียรติ ประพฤติตัวไม่เรียบร้อย ไม่สุภาพในบริเวณศาล เราอาจจะจะต้องโทษตามมาตรา 33 ที่บอกว่าให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือทั้งสองวิธีดังกล่าวต่อไปนี้ คือ ก.ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ ข.ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่ากับว่าเขาสามารถใช้ข้อบังคับศาล และก็ข้อบังคับสภาทนายความที่กล่าวไว้ข้างต้นมาเล่นงานเราได้ตลอดเลย แล้วเขาก็ไม่ผิดด้วย เพราะกฎหมายเขียนแบบนั้น ข้อบังคับยังไม่ถูกแก้ไง
โดยสรุปแล้วความเสี่ยงหลักๆ ที่จะโดนก็คือหนึ่งผิดมรรยาททนายความ จะมีโทษ 3 ประการ คือภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความ และถอนชื่อออกจากการเป็นทนายความ และข้อหาหรือว่าความเสี่ยงที่สองก็คือ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นี้คือสิ่งที่เราอาจจะโดน เป็นสิ่งที่ทนายความชายและหญิงทั่วไป ถ้าแต่งกายเรียบร้อยก็ไม่มีสิทธิที่จะโดนเลย อะไรคือความเท่าเทียมในระบบกฎหมายของทนายความ
มีช่วงเวลาหนึ่งไหมที่รู้สึก 'ท้อ' หรือ 'โดดเดี่ยว' ในการต่อสู้ครั้งนี้ไหม แล้วผ่านมันมาได้อย่างไร
ในตอนที่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ.ออกมา โรมก็คิดว่ามันจบแล้วแหละ คือสภาทนายความก็น่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง วลพ.แล้ว แต่สภาทนายความชุดเดิม เขาไม่เห็นด้วย เขาก็ฟ้องศาลปกครองกลาง แล้วเราก็เข้าใจว่า ผู้ถูกร้องก็คือ วลพ.จะเป็นคนเดียวที่เข้าไปอยู่ในคดีนั้น แต่ความจริงกลับไม่ใช่แบบนั้น ศาลปกครองกลับออกหมายเรียกโรมให้เข้าไปเป็นผู้ร้อง แล้วศาลก็เขียนไว้ในหมาย หมายเรียกให้เป็นผู้ร้องว่า ถ้าไม่เข้าไปภายใน 30 วัน ไม่ยื่นคำให้การเข้าไปภายใน 30 วัน จะถือว่าโรมยอมรับข้อเท็จจริงทุกอย่างที่สภาทนายความบอกมา ก็คือโรมอาจจะแพ้คดี
ซึ่งตอนนั้นเอาตรงๆ โรมก็เพิ่งได้ใบอนุญาตว่าความมา เพิ่งสอบเสร็จ แล้วคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเพิ่งออกมา ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีวิชาความรู้เชี่ยวชาญในการขึ้นศาล แล้วก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการเขียนคำให้การ คำฟ้อง คำร้อง คำขอ คำแถลงมากนัก แล้วยิ่งเป็นคำให้การในศาลปกครอง เรายิ่งไม่เคยเขียนเลย เพราะว่ามันเป็นคดีปกครอง มันไม่ใช่คดีทั่วไป แต่ก็มีบริษัทกฎหมายทักหาโรมเข้ามาเยอะ ประมาณว่า “มีเรื่องให้อะไรให้พี่ช่วยไหม เขียนคำให้การของคดีปกครองเป็นหรือเปล่า”
เราก็อุตส่าห์ดีใจ นึกว่าเขาจะมาช่วย แต่จริงๆ แล้ว เขาแนบข้อความมาเพิ่มว่า “พี่คิดให้ในราคาพิเศษ” คือตอนนั้นน้ำตาตกเลย เพราะเราก็พอจะรู้ว่าคดีปกครอง การต่อสู้คดีมันไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล มันไม่เสียอะไรเลย แต่บริษัทกฎหมายเหล่านั้นเขาไม่ได้ต้องการจะช่วย เขาต้องการมาเก็บเงิน
เรารู้สึกโดดเดี่ยวยังไม่พอ ยังมีคนมาหาประโยชน์จากการที่เราเป็นผู้เสียหาย แล้วแม่ก็ยังส่งเงินให้อยู่ เราจะเอาเงินที่ไหนไปจ้างบริษัทกฎหมายดังๆ มาทำคดีให้ คือมันปวดใจจริงๆ แต่ถ้าไม่สู้ สิ่งที่เราร้องเรียนมาทั้งหมดก็จะถือว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงของฝ่ายสภาทนายความ เราก็เลยเสิร์ชหาข้อมูลทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ทั้งกฎเกณฑ์ในการเขียนคำให้การของคดีปกครอง ระยะเวลาต่างๆ ท้ายที่สุดเราเขียนคำให้การประมาณ 60 หน้าเลย เขียนเองทุกอย่าง แล้วก็แนบเอกสารเองทุกอย่าง ตั้งแต่เอกสารขององค์การอนามัยโลก ที่บอกว่าเราเป็นคนปกติ โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เพศชายและหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น การที่สภาทนายมากำหนดกฎเกณฑ์ว่ามีแค่ 2 เพศ นั้นไม่เป็นธรรม
โรม—ชิษณ์ชาภา พานิช
เราบอกว่าการแต่งกายไม่ตรงตามเพศกำเนิดที่ถือว่าเป็นการประพฤติเสื่อมเสีย ทำให้วิชาชีพทนายความต้องเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ไม่เป็นความจริง เพราะอะไรเราต้องไล่หมดเลย เพราะว่าเขาฟ้องมาว่าโรมผิดทุกข้อ ผิดทุกประตู แล้วเราก็เดินทางไปศาลปกครองกลาง ไปยื่นเอกสารเองคนเดียวทั้งหมด
แต่พอยื่นฟ้องเสร็จมันก็เป็นรอยต่อที่สภาทนายความจะเปลี่ยนคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดใหม่ค่อยมาถอนฟ้องเรา แล้วก็มาหลอกให้เราเชื่อว่าจะแก้ทุกอย่างให้รองรับสิทธิในการแสดงออกทางเพศสภาพ แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงแก้แบบนี้ แก้ให้กะเทยไปสอบได้ แต่พอกะเทยได้ใบอนุญาตว่าความมา กะเทยไม่มีสิทธิไปว่าความในศาล ตอนนั้นคือโดดเดี่ยวมาก
ทั้งนี้ แม่ก็พยายามพูดคุยกับเรา จริงๆ แม่ไม่ได้ให้กำลังใจอะไรเรา นางตำหนิแหละ แต่เรามาเข้าใจว่าเพราะเป็นห่วง บอกว่าทำไมเราต้องเอาไม้ซีกไปงัดกับไม้ซุง โรมเป็นทนายข้ามเพศไม่กี่คนในประเทศไทย แล้วศาลทนายมีแต่นักกฎหมายเก่งๆ ถ้าเขาฟ้องหมิ่นประมาทจะทำยังไง คือแม่เป็นคนที่ห่วงโรมมาก กลัวโรมจะถูกฟ้อง แล้วแม่ก็รู้ว่าเราไม่มีใคร
แล้วอีกปัจจัยที่ทำให้เรามีแรงสู้ต่อ ก็คือเชื้อไฟแห่งความกลัวที่เล่าให้ฟังตอนแรกเลยว่าถ้าไม่สู้แล้วจะเอาอะไรกิน ในเมื่อมีอาชีพเดียว ค้าขายก็ไม่เป็น เรียนนิติศาสตร์มา ก็เพราะว่าอยากทำงานด้านกฎหมาย แล้วถ้ายังเป็นผู้พิพากษา อัยการไม่ได้ ทนายความก็เป็นอาชีพเดียวที่ทำได้ตอนนี้ อันนี้คือมันเป็นความรู้สึกและเหตุผลที่ไม่ได้ปรุงแต่งอะไรเลย เพราะโรมคิดว่าโรมจะอยู่กับอาชีพทนายไปอีกนาน ดังนั้น เหตุการณ์หรือว่าเป็นชนวนที่เข้ามาทำให้เรารู้สึกว่ายังมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไปก็คือแม่ แล้วก็ความจริงแห่งชีวิตที่ว่าเราต้องทำอาชีพนี้ ถ้าเราไม่ทำ เราก็ไม่มีกิน
หากมีโอกาสได้พูดกับ นายกสภาทนายความ หรือผู้มีอำนาจโดยตรง อยากบอกอะไรกับพวกเขา
ขอพูดถึงทั้งอำนาจในการตัดสินใจในระดับนโยบาย ข้อบังคับ หรือกฎหมายในประเทศนี้ แล้วก็สภาทนายความว่า อยากให้ท่านเห็นทนายความทุกๆ คน อย่างเท่าเทียมกันอย่างเสมอภาค ไม่มีทนายคนไหนที่อยากออกมาทำงาน แล้วถูกตราหน้าว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความ ทั้งๆ ที่ตัวเองยังไม่ได้ทำผิดอะไร แล้วก็อย่าคิดไปก่อนว่าทนายความ LGBTQ+ จะต้องเป็นทนายความที่อยากแหกกฎ แหกระเบียบ ไม่อยากแต่งกายตามเพศสภาพ แล้วสักวันหนึ่งก็จะล่อแหลม จะไปประพฤติผิดข้อบังคับ ไปทำให้ลูกความต้องเสื่อมเสีย จะไปโกงเขา จะไปเอาเงินลูกความมาใช้ก่อน
เพราะต้องยอมรับว่าคำฟ้องของสภาทนายความในสมัยนั้น เขาพูดว่าขนาดแค่ระเบียบการแต่งกายยังปฏิบัติไม่ได้ แล้วรับประกันอะไรกับมรรยาททนายความข้ออื่น ที่เป็นมรรยาททนายความต่อศาล มรรยาททนายความต่อลูกความ มรรยาททนายความต่อทนายความด้วยกันเอง เพราะแค่การแต่งกายที่เกี่ยวกับตัวเองยังทำไม่ได้เลย
โรม—ชิษณ์ชาภา พานิช
เพราะฉะนั้นเราไม่อยากให้สภาทนายความ ไม่ว่าจะเป็นชุดไหนก็ตามมีความเห็นแบบนี้ อยากให้ท่านเห็นว่าทุกเพศมีศักดิ์ศรีเท่ากัน การที่ข้อบังคับของท่านอนุญาตแค่การแต่งกาย หรือว่ารับรองแค่การแต่งกายที่แบ่งออกเป็นชายและหญิงเท่านั้น มันส่งผลกระทบและลิดรอนสิทธิของทนายความที่มีความหลากหลายทางเพศให้ไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพในการประกอบอาชีพในการว่าความในศาลได้ ทำให้ทุกครั้งที่เราว่าความ เราต้องแบกรับความเสี่ยงอะไรหลายๆ อย่างที่เล่ามา แล้วมันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อเรา แล้วก็ทำให้เราเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์มากกว่าทนายความคนอื่น ทำให้เราถูกตราหน้าต่างๆ มากมาย
วัตถุประสงค์หลักของสภาทนายความ คือเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย และเสริมสร้างความสามัคคีและพัฒนาเกียรติของทนายความ ซึ่งคำว่าทนายความตรงนี้ โรมคิดว่าน่าจะรวมถึงทนายความทุกเพศทุกวัย ไม่ต้องมาแบ่งแยกอ่อน แก่ อาวุโส เพศชายหญิง ตรงเพศ หรือไม่ตรงเพศ หรืออะไรทั้งสิ้น ทุกคนมีศักดิ์ศรีเป็นทนายความเหมือนกันทุกคน ฉะนั้นแล้วท่านจะต้องปฏิบัติต่อทนายความทุกคนให้เหมือนกัน รวมถึงข้อบังคับด้วย จะต้องปฏิบัติต่อทุกคนให้เหมือนกัน ไม่เลือกปฏิบัติ
อยากให้คุณฝากถึงน้องๆ หรือคนรุ่นใหม่ ที่กำลังต่อสู้กับการแสดงออกตามอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะในอาชีพไหนก็ตาม
ในฐานะที่โรมก็เป็นคนหนึ่งที่ผ่านบทบาทในสังคมมาหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของความเป็นลูกในครอบครัว ที่ถูกปะป๊ากีดกันในการแสดงออกมาตลอด เข้าไปเรียนในโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม มัธยม ก็ถูกครูอาจารย์และกฎของโรงเรียนกดขี่และทำโทษมาตลอด หรือแม้กระทั่งมีสถานะของการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังถูกกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยและอาจารย์ บีบบังคับแล้วลงโทษเราอีกเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลที่จบจากมหาวิทยาลัย และเข้ามาอยู่ในสถานที่ทำงาน ประกอบวิชาชีพที่ถูกกฎระเบียบ แต่คนในวิชาชีพเดียวกันก็บีบบังคับ ข่มเหง แล้วก็เลือกปฏิบัติ
ก็อยากจะฝากกับทุกๆ คนว่า เราไม่ผิดอะไร แต่การที่กฎในสังคมและคนอื่นที่เขาเลือกปฏิบัติ และไม่ให้เกียรติเราแบบนี้ มันเป็นเพราะว่าสังคมนั่นแหละที่ไม่เข้าใจ สังคมต่างหากที่ผิด แนวคิดชายเป็นใหญ่ที่แอบแฝงอยู่ในสังคมนี้ เป็นเบื้องหลังของอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศมาโดยเสมอและเป็นตัวการของเรื่องนี้ เราจะต้องต่อสู้ เราถูกเป็นเหยื่อของระบบนี้ เราร้องไห้ได้ แต่เราจะต้องไม่ลืมว่า เราจะต้องต่อสู้เพื่อตัวเราเอง
Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Editor: Thanyawat Ippoodom