งานหนัก เครียด จะยิ้มไหวได้ไง? 9 วิธีรอดแบบ ‘ดีต่อใจ’ ในที่ทำงาน
เมื่อความเครียดรุมเร้าวัยทำงานยุคนี้แทบทุกวัน ทั้งเรื่องงาน เงิน และข่าวร้ายรอบตัว การรักษาใจให้ยังมองโลกในแง่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานแนะ 9 วิธีเล็กๆ ที่ช่วยให้คุณยืนหยัดอย่างมั่นคง แม้ในวันที่ใจท้อที่สุด
ตามรายงาน State of the Workforce ประจำฤดูร้อน ปี 2025 จาก meQuilibrium สรุปบรรยากาศในที่ทำงานปัจจุบันว่าเต็มไปด้วย “3 ภัยพิบัติ” ได้แก่ ความสิ้นหวัง ความไม่แน่นอน และความห่างเหิน ซึ่งกำลังทำลายทั้งสุขภาพจิตและประสิทธิภาพของพนักงานอย่างช้าๆ โดยผลสำรวจระบุว่า
- 67% ของพนักงานรู้สึกแย่เมื่อคิดถึงสถานการณ์ของประเทศ
- 35% รู้สึกแย่กับสถานการณ์ในการทำงานของตนเอง
- 49% กังวลเรื่องการเงิน
- 33% ของชาวอเมริกันมีความเครียดเกี่ยวกับปัญหาสภาพอากาศทุกสัปดาห์
ทั้งหมดนี้กลายเป็น “ความสิ้นหวังขั้นสุด” ที่ซ้อนทับกัน จนบ่อนทำลายความสามารถในการมองโลกในแง่ดีอย่างสิ้นเชิง และมันส่งผลกระทบทางลบต่อสถานที่ทำงานอย่างมาก
“การมองโลกในแง่ร้ายในที่ทำงานเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าการบ่นเรื่องงานหน้าเครื่องทำน้ำเย็นเสียอีก มันบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพจิตในที่ทำงานโดยตรง เราพบว่าพนักงานที่มีมุมมองด้านลบเกี่ยวกับงาน จะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงกว่า 60% และมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 128%” ดร.แบรด สมิธ (Brad Smith, Ph.D) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ meQ อธิบาย
..แล้วในสถานการณ์แบบนี้ เราจะกลับมายิ้มให้ชีวิตในที่ทำงานได้อย่างไร? ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำ 9 วิธีมองโลกในแง่ดีที่ช่วยได้จริง ดังนี้
1. คัดกรองสิ่งที่คุณรับเข้ามา
อย่าให้ตัวเองตกอยู่ในวังวนของข่าวร้าย หรือการเสพโซเชียลแบบไม่ลืมหูลืมตา การเสพข่าวเชิงลบเกินพอดีไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้น แต่ทำให้จิตใจยิ่งเหนื่อยล้า ควรเลือกติดตามแหล่งข้อมูลที่มีมุมมองสมดุล และต้องไม่ลืมเติมความหวังเล็กๆ ให้ตัวเองเสมอ
2. คัดกรองคนที่คุณใช้เวลาด้วย
บางคนเป็นพลังบวก บางคนคือแหล่งดูดพลังชีวิต รู้จักแยกให้ออกว่าใครทำให้คุณรู้สึกดี และใครทำให้คุณจมอยู่กับความเศร้า พยายามอยู่กับคนที่พาคุณหัวเราะบ้างในแต่ละวัน
3. เพิ่มการปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ
แค่ทักทายคนในร้านกาแฟ นัดกินข้าวกับเพื่อน หรือวิดีโอคอลกับคนที่คิดถึง ก็ช่วยให้รู้สึกว่า “เราไม่ได้อยู่คนเดียว” รายงานพบว่า 56% ของพนักงานรีโมตบางคน แทบไม่ได้ออกจากบ้านเลยในรอบสัปดาห์ และ 25% ไม่ได้พูดคุยกับใครเลยหลายวัน การมีปฏิสัมพันธ์ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้อย่างมาก
4. โฟกัสกับสิ่งที่ควบคุมได้ และปล่อยวางสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
แม้โลกภายนอกจะไม่เป็นไปอย่างที่หวัง แต่คุณยังเลือกได้ว่าจะตอบสนองต่อมันอย่างไร ความเมตตาเล็ก ๆ อย่างการเปิดประตูให้คนอื่น หรือคำชมจากใจจริง อาจเปลี่ยนวันของใครบางคนได้ รวมถึงของตัวคุณเองด้วย
5. ยิ้ม แม้ในวันที่ไม่รู้จะยิ้มไปทำไม
งานวิจัยระบุว่า การยิ้ม แม้จะเป็นการฝืนยิ้มปลอมๆ ก็ช่วยให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขได้ เช่น โดปามีน เซโรโทนิน และเอ็นดอร์ฟิน ดังนั้น การฉีกยิ้มแม้เราจะยังไม่รู้สึกดี แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้ใจดีขึ้นได้จริง
6. ขอบคุณในสิ่งเล็กๆ และเห็นคุณค่าความก้าวหน้า
อย่ามองข้ามชัยชนะเล็กๆ ของคุณในแต่ละวัน ลองจบวันด้วยการเขียน “3 อย่างแห่งความสุข” ได้แก่ สิ่งที่คุณได้เรียนรู้, สิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณ, สิ่งที่คุณทำสำเร็จ ทั้ง 3 หัวข้อนี้เป็นเหมือนการเว้นวรรคจังหวะความเครียด ปล่อยให้ใจได้พัก และรู้สึกว่าตัวเองยังเดินหน้าอยู่เสมอ
7. เป็นพลังบวกให้คนอื่น
การช่วยเหลือคนรอบตัว ไม่เพียงทำให้เขารู้สึกดี แต่ยังสะท้อนกลับมาทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่าไปด้วย การทำให้ใครสักคนยิ้มได้ อาจเป็นยาที่ดีที่สุดในวันที่รู้สึกหมดพลัง
8. เติมความสร้างสรรค์ให้ชีวิต
ลองวาดรูป เล่นดนตรี เต้นรำเล่นๆ ในครัว หรือทำอะไรก็ตามที่ไม่ต้องมีเป้าหมาย แต่ทำให้คุณรู้สึกมีชีวิตชีวา พลังสร้างสรรค์ช่วยปลุกความสุขเล็กๆ และช่วยรีเซ็ตอารมณ์ให้สดชื่นขึ้นมาใหม่ได้เสมอ
9. เตรียมพร้อมรับมือวันที่แย่
คุณควบคุมสิ่งรอบตัวไม่ได้ทั้งหมด แต่คุณเตรียมตัวรับมือกับมันได้ ลิสต์ไว้เลยว่าอะไรช่วยคลายเครียดคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นคลิปตลกในยูทูบ เพลงโปรด หรือเบอร์โทรเพื่อนที่เข้าใจ มีอาวุธเหล่านี้อยู่ใกล้ตัว จะช่วยให้ใจคุณกลับมาตั้งหลักได้ไวขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว ทัศนคติเป็นเรื่องที่เลือกได้ และมันส่งต่อได้เช่นกัน การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่การหลอกตัวเองว่าทุกอย่างโอเค แต่คือการเลือกโฟกัสในสิ่งที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาได้ในแต่ละวัน เป็นการเลือกเชื่อในความหวัง เชื่อในการเชื่อมโยงกับผู้อื่น และเชื่อว่าแม้โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ใจของเรายังเป็นที่พึ่งให้กันและกันได้เสมอ
อ้างอิง: Forbes