‘เกษตรกรโฉมใหม่’ ของจีน เรียนรู้ไลฟ์สตรีมพัฒนาชุมชน
างเกา เฉาหรง เกษตรกร วัย 56 ปี รู้ดีว่าต้องทำอย่างไร จึงจะได้ผลผลิตที่ดีของมันเทศ ถั่วลิสง และข้าวสาลี แต่ผลิตผลที่อร่อยกลับไม่เพียงพอที่จะดึงดูดผู้คนที่เชี่ยวชาญการใช้แอปพลิเคชันอีกต่อไป นั่นจึงทำให้เธอตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสือ เข้าร่วมค่ายฝึกอบรมการไลฟ์สตรีมแบบปฏิบัติจริง เพื่อเรียนรู้วิธีการนำผักของเธอส่งตรงถึงมือผู้บริโภคผ่านโทรศัพท์มือถือ และป้องกันไม่ให้พืชผลในไร่ที่ขายไม่ออกเน่าเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
เกา และเพื่อนร่วมชั้นของเธอ มุ่งมั่นสร้างความนิยมในโลกออนไลน์ ในฐานะ “เกษตรกรโฉมใหม่” ของจีน ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการผลิตหรือบริการทางการเกษตร
จำนวนผู้สร้างคอนเทนต์ชนบทรายใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 52% บนแพลตฟอร์ม “โต่วอิน” ของจีน ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยพวกเขาหวังที่จะใช้ประโยชน์จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 1,000 ล้านคนของประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก ขณะที่บนแอปพลิเคชัน “เสี่ยงหงซู” แฮชแท็ก “เกษตรกรโฉมใหม่” มียอดผู้เข้าชมมากกว่า 227 ล้านครั้ง
อนึ่ง หน่วยงานท้องถิ่นของจีน ส่งเจ้าหน้าที่บางส่วนไปเรียนรู้การไลฟ์สตรีม และช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงโลกออนไลน์ ซึ่งนายเฉิน ซีฉวน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเมืองผิงตู้ มณฑลซานตง กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรขายผลผลิตของพวกเขาได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการขายแบบ “ออฟไลน์”
เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนซื้อสิ่งของทุกอย่างทางออนไลน์ ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องสำอางไปจนถึงกระเทียม การไลฟ์สตรีมจึงกลายเป็นแพลตฟอร์มการตลาดที่สำคัญสำหรับเกษตรกร ในการดึงดูดและมีส่วนร่วมกับลูกค้าโดยตรง โดยผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถซื้อสินค้าได้ด้วยการคลิกปุ่มเดียว รวมถึงแสดงความคิดเห็นระหว่างการถ่ายทอดสด หรือสอบถามผู้ขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของพวกเขา
พี่น้องแซ่เทียน ไลฟ์สตรีมเมอร์ และผู้สันทัดกรณีด้านอี-คอมเมิร์ซ ที่เกิดมาในครอบครัวเกษตรกร ร่วมกันจัดค่ายฝึกอบรมรายเดือน โดยเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 5,000 หยวน (ราว 22,600 บาท) สำหรับบทเรียนที่เข้มข้น 4 วัน และการติดตามผล “ตลอดชีวิต” ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้ วิธีดึงความสนใจของผู้ชมด้วยบทพูด อุปกรณ์ประกอบการไลฟ์สตรีม และฉากหลักที่ดึงดูดสายตา
ทั้งนี้ นางเทียน ชุนอิง ผู้อำนวยการโรงเรียนไลฟ์สตรีม กล่าวว่า ภาคส่วนเกษตรกรรมของจีนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ไม่เจริญรุ่งเรืองอีกต่อไป อีกทั้งอัตราการว่างงานของประเทศก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเกษตรกลายเป็นรากฐานสำคัญของความสามารถของจีน ในการสนับสนุนประชากร
ด้านนางแพน หวัง รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย กล่าวว่า เครื่องมือดิจิทัลอย่างการไลฟ์สตรีม เปลี่ยนแปลงมุมมองของประชาชนเกี่ยวกับชีวิตชนบทในจีน เพราะตามธรรมเนียมแล้ว เกษตรกรชาวจีนถูกมองว่าทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ยากจน ล้าสมัย และขาดการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี.