เปิดไทม์ไลน์ 9 หุ้นแบงก์เตรียมทยอยประกาศงบไตรมาส 2/68
กลับเข้าสู่ฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/2568 ของเหล่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แน่นอนว่ากลุ่มแรกที่เปิดประเดิม คือ หุ้นกล่มแบงก์ ซึ่งวานนี้ (15 ก.ค.68) บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ประกาศผลการดำเนินงานออกมาเป็นรายแรก กำไรสุทธิ 1,644 ล้านบาท ลดลง 6.2% จากปีก่อน และครึ่งแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 3,287 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากปีก่อน
ในขณะที่หุ้นกลุ่มแบงก์ตัวอื่นๆ คาดว่าจะทยอยประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 และครึ่งแรกปี 68 ในช่วงระหว่างสันที่ 17 - 21 ก.ค. 68 ดังนี้
วันที่ 17 ก.ค.
- บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG
วันที่ 18 ก.ค.
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY
วันที่ 21 ก.ค.
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK
- บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB
- ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL
จับตางบแบงก์ 18 - 21 ก.ค. นี้
บล.ฟิลลิป ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การเข้าสู่ช่วงการทยอยประกาศงบไตรมาส 2/68 ซึ่งนำโดย TISCO ที่ประกาศงบในวันที่ 15 ก.ค.68 ทำให้จะมีแรงเข้าเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคาร เช่น BBL KBANK KKP และ KTB ที่คาดว่างบจะออกมาดี
บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มธนาคารเริ่มรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2/68 เริ่มจาก TISCO ที่ประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.ค. , TTB (18 ก.ค.68) , BBL (18 - 21 ก.ค.68) และหุ้นธนาคารอื่นๆ (21 ก.ค.68) โดยประเมินธนาคารที่ศึกษารายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/68 ที่ 5.15 หมื่นล้านบาท ลดลง 4% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และลดลง 12% จากไตรมาสก่อน
หลักๆ เป็นผลมาจากการลดลงของ NIM สินเชื่อรวม เงินลงทุน และรายได้ต่าธรรมเนียมด้านตลาดทุน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) จากคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลง โดยคาดธนาคารประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ครึ่งแรกปี 68 Dividend yield ที่ 1-3% ทางฝ่ายเลือก KBANK และ KTB เป็นหุ้น Top pick
ลุ้นงบครึ่งหลังปี
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 68 นี้ ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน แม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นก่อนมาตรการภาษีศุลกากรสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ แต่อุปสงค์ภายในประเทศกลับอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน
โดยมีสาเหตุหลักจากการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน และความระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือน อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตและปัญหาหนี้สิน ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่เต็มประสิทธิภาพ
อีกทั้งด้วยการเข้าวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามากดดันให้ผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่มแบงก์ไทย ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย ทั้งด้วยรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง การเข้มงวดปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น รวมถึงการรักษาระดับหนี้เสียที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นสูงในช่วงครึ่งหลังปี 68
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ กลุ่มแบงก์ยังคงเป็นหุ้นที่ให้ปันผลที่สูง แม้ในยามเศรษฐกิจที่ชะลอตัว