โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สัมผัสวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไต้หวันผ่าน 6 แบรนด์สุดสร้างสรรค์

Capital

อัพเดต 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Insight

ไต้หวันขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศท่องเที่ยวยอดฮิตของชาวไทย ด้วยเสน่ห์ของบ้านเมืองที่ทันสมัย เต็มไปด้วยธรรมชาติ อาหารอร่อย และศิลปวัฒนธรรมสไตล์ไต้หวันก็งดงาม ในอีกมุมหนึ่งไต้หวันยังเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตวันโตคืนอีกด้วย

ในปี 2023 สถาบัน IMD หรือ International Institute for Management Development ได้จัดอันดับให้ไต้หวันอยู่อันดับที่ 6 ของโลกด้านความสามารถในการแข่งขัน จากทั้งหมด 69 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก แต่หากนับเฉพาะเขตเศรษฐกิจที่มีประชากรจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนขึ้นไป ไต้หวันถือว่าเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขัน

ด้วย GDP เกือบ 760,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับ 20 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก และทำให้รายได้ต่อหัวของประชาชนชาวไต้หวันในปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 36,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการว่างงานต่ำกว่า 4%

ข้อได้เปรียบของไต้หวันคือเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมและระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการส่งออก ทำให้มีดัชนีการค้าระหว่างประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันก็ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนภายในประเทศ และยังเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก โดยมีบริษัท TSMC หรือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company เป็นผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตชิปให้ Apple, NVIDIA, AMD และอื่นๆ อีกมากมาย

ไต้หวันไม่เพียงแต่สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ครอบคลุมทั้งงานศิลปะและงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การทอผ้า งานแกะสลักไม้ งานเซรามิก ที่หยิบยกวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม มาผสมผสานกับงานศิลปะร่วมสมัย

รัฐบาลไต้หวันยังมีนโยบายการให้เงินทุนสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์ที่ออกแบบและผลิตในไต้หวัน พร้อมจัดตั้งสวนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ เช่น สวนสร้างสรรค์ Huashan 1949 สวนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ Songshan ให้ดีไซเนอร์ไต้หวันได้มีพื้นที่แสดงผลงานอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันคนไต้หวันและนักท่องเที่ยวก็มีสถานที่ช้อปงานคราฟต์และงานแฮนด์เมดต่างๆ ได้อย่างจุดใจ

นอกจากนั้น ยังจัดงานนิทรรศการต่างๆ เช่น Creative Expo Taiwan และโครงการริเริ่มเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำให้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กว่า 69,630 ราย สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไต้หวันกว่า 273,096 คน และมีรายได้รวมจากธุรกิจประเภทนี้ต่อปีถึง 32  พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าสร้างสรรค์ของไต้หวันยังติดอันดับที่ 46 ของโลก จากการจัดอันดับของ UNCTAD เลยทีเดียว

Recap ในครั้งนี้จึงขอตีตั๋วบินข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาเดินเที่ยวเล่น พร้อมส่อง 6 แบรนด์ Made in Taiwan ที่หยิบความคิดสร้างสรรค์มาบอกเล่าถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ เรื่องราวทางสังคม และธรรมชาติอันสวยงาม ผ่านผลงานที่ทำให้ผู้คนรู้จักและหลงรักประเทศไต้หวันกันมากขึ้น

1. inBlooom ถ่ายทอดสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติไต้หวันผ่านลายผ้า

ย้อนกลับไปก่อนปี 2008 ประเทศไต้หวันไม่เคยมีแบรนด์ผ้าที่ออกแบบลวดลายโดยดีไซเนอร์มาก่อน กระทั่ง Ama Shen, Chiu Chung-yu และ Hana Tsai สามสาวนักออกแบบได้ก่อตั้งแบรนด์ inBlooom ภายใต้คำถามที่ว่าถ้าพูดถึงไต้หวันคนจะคิดถึงสีสันและลวดลายอะไรบ้าง

ลายผ้าของ inBlooom ได้รับแรงบันดาลใจจากการหยิบจับเรื่องใหญ่ๆ ของสังคมไต้หวัน เช่น นกพื้นเมืองที่ใกล้สูญพันธุ์, กระเบื้องโบราณ, ลวดลายหน้าต่าง หรือประเด็นขยะทะเล มาผสมผสานกับความสวยงามของศิลปะร่วมสมัย จนเกิดเป็นสินค้าที่หยิบใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น กระเป๋า ร่ม หมวก ผ้าเช็ดหน้า

แบรนด์ยังสนับสนุนผู้ผลิตในท้องถิ่น ด้วยการใช้ซัพพลายเออร์ในไต้หวันและผลิตในชุมชนตัดเย็บผ้าชนบท พร้อมสอนทักษะการตัดเย็บให้กับผู้คนในท้องถิ่น เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน และก้าวสู่ความยั่งยืน ด้วยการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น เส้นด้ายรีไซเคิล หนังวีแกน ผ้าฝ้ายออร์แกนิก

นอกจากลวดลายและแนวคิดที่น่าสนใจ จนทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วเอเชียแล้ว ยังใช้กลยุทธ์การคอลแล็บจับมือร่วมกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น ออกแบบถุงผ้าให้กับ McDonald's, ออกแบบถุงใส่กาแฟให้กับสตาร์บัคส์ ออกแบบกล่องยาสีฟันให้กับดาร์ลี่ โดยสินค้าเหล่านี้วางจำหน่ายทั้งในไต้หวันและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น

inBlooom จึงไม่ใช่แค่ผ้าที่มีลวดลายสวยงาม แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวของไต้หวันและเป็นกระบอกเสียงในเรื่องที่เป็นปัญหาได้เป็นอย่างดี หากใครที่แวะเวียนไปไต้หวันก็สามารถไปช้อปที่ร้าน inBlooom ทั้ง 8 สาขาในไต้หวันได้ แต่ถ้าอยากร่วมทำเวิร์กช็อปพิมพ์ลายผ้าด้วยตัวเอง ต้องมาสาขาแรกในย่าน Dadaocheng (ต้าเต้าเฉิง) ย่านท่าเรือเก่าของไทเปเท่านั้น

2. Anta Pottery เครื่องปั้นดินเผาที่บอกเล่าวัฒนธรรมท้องถิ่น

ไม่ว่าจะแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ได้เลื่อนขั้น ไปจนถึงการมอบของขวัญทางการทูต ประเทศไต้หวันมักจะเลือกให้ของขวัญที่ทำจากเซรามิก ทั้งถ้วยชา จาน ชาม และแจกัน พร้อมด้วยลวดลายที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคล

เมือง Yingge (อิงเกอ) เป็นศูนย์กลางการผลิตเซรามิกที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน และมีแบรนด์ที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1976 อย่าง Anta Pottery แบรนด์เครื่องปั้นดินเผาที่เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์งานเซรามิกคุณภาพสูง ผ่านการผสมผสานความละเอียดในเทคนิคดั้งเดิมเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัย

ออกแบบเป็นลวดลายที่อิงจากวัฒนธรรมท้องถิ่นและข้าวของเครื่องใช้ในอดีต

ไม่ว่าจะลาย Gaji bag หรือที่เรียกกันว่าถุงกาจิ ถุงช้อปปิ้งขนาดใหญ่ที่ทำจากพลาสติกสาน มีต้นกำเนิดจากหมู่บ้านจิงเหลียวในช่วงยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น ไปจนถึงการใช้ฟ่านถีจื้อ ซีลี่ หรือชุดอักษรจีนดั้งเดิมที่ใช้ในภาษาจีนตัวเต็ม มาเขียนเล่าเรื่องเล่าเรื่องราวต่างๆ บนเซรามิก

ผลงานของ Anta Pottery ไม่เพียงสวยและใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่ยังแฝงไปด้วยเรื่องเล่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงมักถูกเลือกให้ไปเป็นของขวัญให้กับแขกบ้านแขกเมืองอยู่บ่อยครั้ง สามารถไปช้อปเป็นของฝาก ของขวัญได้ที่หน้าร้านทั้ง 3 สาขา หรือถ้าอยากทำเวิร์กช็อปปั้นเซรามิก ต้องมาที่สาขาต้นกำเนิดในย่านเซรามิกอย่าง Yingge Old Street ในเมืองนิวไทเป

3. carpenter งานไม้แฮนด์เมดที่ผสานศิลปะเข้ากับของใช้ในชีวิตประจำวัน

งานไม้เป็นหนึ่งในงานฝีมือที่อยู่คู่ไต้หวันมาอย่างยาวนาน ด้วยทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ราคาถูกส่งออกไปยังแถบสหรัฐฯ และยุโรป จนกลับมาได้รับความนิยมในไต้หวันอย่างมากหลังยุค 2010 ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับงานฝีมือ ดีไซน์ที่สวยงาม การใช้งานอย่างยั่งยืน และไลฟ์สไตล์ที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

ในระยะหลังมานี้ งานไม้ในไต้หวันเป็นหนึ่งในแขนงของงานคราฟต์ที่มีทั้งรากวัฒนธรรมดั้งเดิมและแนวคิดร่วมสมัยที่โดดเด่น โดยเฉพาะแบรนด์ carpenter ที่สองพี่น้องชาวไต้หวันได้รับช่วงต่อธุรกิจจากพ่อที่เป็นช่างไม้มากฝีมือมากว่า 29 ปี เพื่อพัฒนางานไม้แฮนด์เมดที่ผสมผสานดีไซน์ใหม่ๆ เข้ากับองค์ประกอบที่สนุกสนาน สร้างความน่าสนใจให้งานไม้ และใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น โคมไฟ ของตกแต่งบ้าน ของเล่น เครื่องเขียนแบบไม้

carpenter ได้ปรับธุรกิจให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ผ่านการเลือกใช้ไม้จากโรงเลื่อยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC และศูนย์ป่าไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าทุกชิ้นยังได้รับการออกแบบและผลิตในไต้หวัน นอกจากนี้ยังเปิดคลาส DIY ให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ประดิษฐ์โมเดลไม้ ทำจักรยานไม้ ทำของเล่นไม้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในงานช่างไม้

ไม่เพียงแต่พลิกฟื้นอุตสาหกรรมที่เกือบจะซบเซา แต่ยังเป็นการสืบทอดงานไม้ให้คงอยู่คู่ไต้หวันต่อไป ใครสนใจสามารถมา DIY งานไม้และช้อปได้ทั้ง 4 สาขา โดยสาขาที่ใหญ่ที่สุดและมีเปิดให้ DIY แบบเต็มวันก็ต้องมาที่สาขา Houli (โหวลี่) เมือง Taichung (ไถจง) กันได้เลย

4. YUANTAI แบรนด์ที่เปลี่ยนไม้ไผ่ให้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์รักษ์โลก

ในยุคแรกของไต้หวัน สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันมากกว่าครึ่งหนึ่งทำมาจากไม้ไผ่ เพราะเป็นวัสดุท้องถิ่นที่หาง่ายที่สุด ทำให้ในยุคนั้นมีโรงงานผลิตสินค้าเกี่ยวกับไม้ไผ่มากกว่า 1,500 แห่งในไต้หวัน จวบจนปัจจุบัน นอกจากตะเกียบแล้ว ก็แทบไม่มีข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากไม้ไผ่ให้เห็นมากนัก และทำให้อุตสาหกรรมนี้ซบเซาลงอย่างรวดเร็ว และเหลือแหล่งผลิตสินค้าจากไม้ไผ่เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น

หนึ่งในนั้นคือ YUANTAI แบรนด์คราฟต์ไม้ไผ่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว แต่เดิมผลิตเพียงไม้ไผ่สำหรับอุตสาหกรรม แต่หลังจากรุ่นลูกได้มาสืบทอดกิจการต่อจากรุ่นพ่อ ด้วยอุดมการณ์ที่ว่าอยากให้ไม้ไผ่ถูกหยิบกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกครั้ง และอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจอุตสาหกรรมที่อยู่มาอย่างยาวนาน และใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

หลักสำคัญของแบรนด์ยังคือการออกแบบร่วมสมัยที่ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ circular economy มาปรับใช้ผ่านวัสดุที่ย่อยสลายได้ และทำให้เกิด zero waste มากที่สุด ผ่านสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น แปรงสีฟันไม้ไผ่ หลอดไม้ไผ่ ถ้วยไม้ไผ่ ชามไม้ไผ่ ที่แคะหูไม้ไผ่ โดยมีหน้าร้านเพียงสาขาเดียว ตั้งอยู่บนถนน Dingheng Street ซึ่งเป็นจุดสำคัญของ Bamboo Industry Trail ในย่าน Zhushan (ฉู่ชาน)

5. Kamaro’an สืบทอดงานฝีมือชนเผ่าพื้นเมืองเข้ากับดีไซน์มินิมอล

หากใครแวะเวียนไปบริเวณชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน น่าจะพบเจอกันชาว Pangcah (ปังกะห์) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Amis (อาเหม่ย) เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ซึ่งเต็มไปด้วยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในด้านการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การออกแบบ และงานหัตถกรรม แต่ด้วยในอดีต วัฒนธรรมของชนเผ่านี้ไม่มีภาษาเขียน ประวัติศาสตร์และองค์ความรู้จึงถ่ายทอดผ่านการเล่าจากรุ่นสู่รุ่น

Lin Tien-miao จึงจับมือร่วมกับ Tipus Hafay ดีไซเนอร์ที่เป็นชาวชนเผ่า Pangcah และซึมซับเรื่องราวเหล่านั้นมาตั้งแต่เด็ก เพื่อก่อตั้ง Kamaro’an ขึ้นในปี 2013 ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องประดับและของใช้แฟชั่นแฮนด์เมดที่หยิบภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนเผ่าพื้นเมืองนี้มาใช้

ทั้งเทคนิคการถักทอ การถักปอ การถักหวาย และการใช้วัสดุธรรมชาติ มาสร้างสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่นร่วมสมัยในดีไซน์มินิมอล เช่น กระเป๋าถักสลิงเชือกไนลอนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเปลของชนเผ่า กระเป๋าใส่ของจิ๋วลายหวาย โคมไฟเชือกถักด้วยมือ

ไปช้อปกันได้ที่ Kamaro’an House ในย่าน Xinsheng (ซินเซิง) เมืองไทเป นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายในร้าน MoMA Design Store ที่นิวยอร์ก และ Museu Picasso Shop ที่บาร์เซโลนา รวมถึงในแกลเลอรีและดีไซน์สโตร์ระดับโลกหลายแห่งอีกด้วย

6. AIKA Handmade Shoes คัสตอมรองเท้าให้ลูกค้าแต่ละคนและทำแค่วันละคู่

ไต้หวันมีวัฒนธรรมการซ่อมรองเท้าและร้านรองเท้าแบบ made-to-order ในย่านชุมชนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในยุค 50s-80s ก่อนจะค่อยๆ เลือนหายไป หลังจากผู้คนหันมาใส่แต่รองเท้าสำเร็จรูปกันมากขึ้น จวบจนปัจจุบันมีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่เข้ามาฟื้นฟูงานคราฟต์รองเท้าแบบโบราณ เช่น การตอกตะปูด้วยมือ เย็บพื้นแบบ Goodyear welt หรือใช้หนังวัวแท้ไม่ผ่านสารเคมี

หนึ่งในนั้นคือแบรนด์ AIKA Handmade Shoes รองเท้าทำมือที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยช่างฝีมือท้องถิ่นที่หลงใหลในรองเท้าคุณภาพดีที่ทำอย่างประณีต โดยเฉพาะรองเท้าแบบ Mary Jane, รองเท้า Flat, รองเท้า Oxford และรองเท้าหนังแท้ที่ตัดเย็บด้วยมือทีละคู่

AIKA Handmade Shoes จึงเลือกคัสตอมรองเท้าตามความต้องการของลูกค้า โดยมีแบบรองเท้า วัตถุดิบทำรองเท้า มีสี และลวดลายให้ลูกค้าเลือกดีไซน์รองเท้าได้ตามใจชอบ แต่ด้วยความที่ทำด้วยมือในทุกขั้นตอน และมีทีมงานเล็กๆ คอยช่วยนิดหน่อยเท่านั้น จึงผลิตได้เพียงแค่วันละหนึ่งคู่

แต่นั่นก็ทำให้เป็นร้านยอดนิยมในหมู่คนที่มองหารองเท้าทำมือที่รองรับกับเท้าของพวกเขาจริงๆ และมีดีไซน์ที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร จนถือว่ารองเท้าแต่ละคู่มีแค่คู่เดียวในโลกก็ว่าได้ AIKA Handmade Shoes มีหน้าร้านเพียงสาขาเดียวอยู่ในย่าน Zhongshan (จงซาน) เมืองไทเปเท่านั้น

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Capital

‘นมข้นหวาน’ การต่อสู้กับเชื้อโรค วิกฤตนมปลอม และพลังใจในสงครามกลางเมือง

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

จากพนักงาน Google สู่ผู้ก่อตั้ง Antidotes เครื่องหอมไทยที่ใส่ใจในกลิ่นและแพ็กเกจสุดประณีต

8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

เปิดรายงาน Google ปีที่ 10 ทุ่มซื้อพลังงานสะอาดทุบสถิติ เร่งใช้ AI ลดคาร์บอน

กรุงเทพธุรกิจ

ATLAS คัมแบ็กด้วยซิงเกิลใหม่ ตลกร้าย (Bad Comedy) ที่มีอ๊ะอาย 4EVE มาร่วมแสดงใน MV

THE STANDARD

‘นมข้นหวาน’ การต่อสู้กับเชื้อโรค วิกฤตนมปลอม และพลังใจในสงครามกลางเมือง

Capital

เพราะเส้นชัยคือไป Formula 1 คุยกับ ‘เติ้น ทัศนพล’ ถึงชีวิตหลังพวงมาลัย ใต้หมวกกันน็อก

The MATTER

‘อร่อยฉลองเทศกาลไหว้จันทร์ ที่ สินธร เคมปินสกี้’

GM Live

Miley Cyrus ยังคงไม่อยากออกทัวร์คอนเสิร์ต แม้เพิ่งปล่อยอัลบั้ม Something Beautiful

THE STANDARD

ลาไปดูแลหมาแมวป่วย สวัสดิการที่ควรมี หรือ‘ขอมากเกินไป’?

TODAY

ความเศร้าในแบบของ Mirrr มันกลมๆ มันลอยๆ

THE STANDARD

ข่าวและบทความยอดนิยม

7 สิ่งสำคัญที่ทำให้ Upbit กลายเป็นแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก

Capital

Protected: จากพนักงาน Google สู่ผู้ก่อตั้ง Antidotes เครื่องหอมไทยที่ใส่ใจในกลิ่นและแพ็กเกจสุดประณีต

Capital

วาดเส้น เติมสีสันกับ PEPPER.INKER สตูดิโอสักสุดสดใสของ ‘ชาช่า ริต์ตา‘ ที่ให้คุณค่ากับงานออกแบบ

Capital
ดูเพิ่ม
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...