กินน้ำวันละกี่ลิตรถึงพอดี พร้อมไขข้อสงสัย ดื่มน้ำเยอะไป อันตรายไหม?
เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอว่า “ดื่มน้ำเยอะ ๆ ดีต่อสุขภาพ” แต่เคยสงสัยไหมว่า คำพูดนี้จริงแท้แค่ไหน? ดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงจริงหรือเปล่า? หรือแท้จริงแล้ว การดื่มน้ำมากเกินไปอาจซ่อนผลเสียบางอย่างไว้โดยไม่รู้ตัว
วันนี้เราจะพาคุณมาไขข้อสงสัยเรื่องการดื่มน้ำ ทั้งในแง่ประโยชน์ ปริมาณที่เหมาะสม และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากดื่มน้ำมากเกินไป ดื่มน้ำยังไงให้พอดีและดีต่อร่างกายที่สุด มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย
ดื่มน้ำมากเกินไป ส่งผลเสียอะไรได้บ้าง?
แม้น้ำจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากร่างกายได้รับน้ำมากเกินความต้องการ อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างคาดไม่ถึง เช่น
- เซลล์ในร่างกายบวมน้ำ
น้ำที่มากเกินไปจะเจือจางโซเดียมในเลือด ทำให้เกิดภาวะ “โซเดียมต่ำ” ซึ่งอาจส่งผลให้เวียนศีรษะ หนักหัว หรือถึงขั้นชักได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- หัวใจทำงานหนัก
น้ำคือองค์ประกอบหลักของเลือด เมื่อดื่มน้ำมาก เลือดก็จะเพิ่มปริมาณตาม ส่งผลให้หัวใจต้องสูบฉีดมากขึ้น เสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต
- ความดันโลหิตลดลงผิดปกติ
เมื่อโพแทสเซียมในร่างกายเจือจางเกินไป จะทำให้ความดันลดลง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และหากปล่อยไว้ อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตได้
- เสี่ยงโรคไตเรื้อรัง
ไตต้องกรองของเหลวมากเกินความจำเป็น ซึ่งเมื่อทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะไตเสื่อมตามมาได้
สัญญาณเตือนว่าคุณ “ดื่มน้ำมากเกินไป”
รู้หรือไม่? ร่างกายสามารถส่งสัญญาณให้เรารู้ได้ว่า คุณกำลังดื่มน้ำมากเกินไปแล้ว เช่น
- ปัสสาวะบ่อยและใสจนผิดปกติ สีปัสสาวะที่ใสเกินไป และต้องเข้าห้องน้ำบ่อย แปลว่าร่างกายพยายามขับน้ำส่วนเกินออก
- มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเมื่อร่างกายเริ่มบวมน้ำหรือขาดสมดุลแร่ธาตุ
- กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นตะคริวบ่อย หรือมีอาการชัก เนื่องจากร่างกายเสียสมดุลในการรักษาระดับแร่ธาตุในร่างกาย หากรุนแรง อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
พฤติกรรมที่อาจบ่งชี้ว่า “ติดการดื่มน้ำเยอะ”
ความเชื่อที่ว่า “ดื่มน้ำเยอะแล้วดีต่อสุขภาพ” อาจฝังรากลึกมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดื่มน้ำจะให้ผลดีต่อร่างกายก็ต่อเมื่ออยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยทั่วไปผู้ชายควรดื่มน้ำประมาณ 3 ลิตรต่อวัน ส่วนผู้หญิงประมาณ 2.7 ลิตรต่อวัน
หากคุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเอง “หิวน้ำตลอดเวลา” ทั้งที่อยู่ในสภาพอากาศปกติ และไม่มีการออกกำลังกายหนัก อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังดื่มน้ำมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะหากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้
- ดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ โดยไม่จิบระหว่างวัน
- ดื่มซ้ำบ่อยทุก ๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
- ไม่รู้สึกอิ่มหรือพอแม้เพิ่งดื่มน้ำไป
แม้การดื่มน้ำจะเป็นสิ่งดี แต่หากมากเกินไปจนกลายเป็นนิสัย อาจส่งผลให้ไตทำงานหนัก และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ดังนั้นคำตอบของคำถามที่ว่า “ดื่มน้ำเยอะดีไหม” ก็คือดี ถ้าอยู่ในปริมาณที่พอดี แต่ถ้าเกินขีดจำกัดของร่างกาย ไตก็อาจไม่ไหวได้เช่นกัน
ดื่มน้ำ "อย่างพอดี" แล้วดีอย่างไร?
หลังจากที่เราได้รู้กันไปแล้วว่าการดื่มน้ำมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย คราวนี้ลองมาดูกันดีกว่าว่า ถ้าเราดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ร่างกายของเราจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
โดยอ้างอิงจากงานวิจัยทางการแพทย์หลายฉบับ พบว่า การดื่มน้ำอย่างพอดีและสม่ำเสมอในแต่ละวัน จะช่วยเสริมสุขภาพในหลายด้าน เช่น
ประโยชน์ของการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
- ช่วยให้ระบบประสาทและสมองทำงานได้ดีขึ้น คิดไว โฟกัสแม่น
- ร่างกายรู้สึกสดชื่น ตื่นตัว ไม่เหนื่อยง่าย
- เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหาร และการดูดซึมสารอาหาร
- ส่งเสริมการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น
- ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ช่วยป้องกันภาวะร้อนจัดหรือช็อกเฉียบพลัน
- ลดความอยากอาหารจุกจิกระหว่างวัน เหมาะกับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก
สรุปดื่มน้ำเยอะดีไหม? คำตอบคือ ดี ถ้าอยู่ในปริมาณที่พอดีต่อร่างกาย
การดื่มน้ำเกินความจำเป็น อาจทำให้สมดุลแร่ธาตุในร่างกายเสีย ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ตั้งแต่อาการวิงเวียน คลื่นไส้ ไปจนถึงโรคหลอดเลือด หัวใจ และโรคไตเรื้อรัง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ควรดื่มน้ำ วันละ 2 – 3 ลิตร ตามเพศ กิจกรรม และสภาพแวดล้อม ดื่มเมื่อกระหาย และจิบน้ำเป็นระยะ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก
allwellhealthcare ,petcharavejhospital ,sikarin ,โรงพยาบาลจุฬารัตน์
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews