ชีวิตนอกคอมฟอร์ทโซนของ ‘ดร.สมประวิณ’ กับแนวคิด'การทำ' จะนำไปสู่ 'การเป็น'
คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด ชวนพูดคุยกับ "ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ" นักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ถึงกิจวัตรประจำวัน วิธีคิดเรื่องการทำงาน การพัฒนาตัวเอง และนิยามชีวิตที่ผ่านมาราว 4 ทศวรรษ
กิจวัตรประจำวันเป็นยังไงบ้าง
กิจวัตรประจำวันตอนที่ทำงาน ช่วงนั้นตื่นเช้ามาอย่างแรกจับโทรศัพท์เลย แล้วก็จะลุกมาชงกาแฟดริป ทานทุกเช้าเพื่อให้ตื่น แล้วก็อ่านข่าวจากบลูมเบิร์ก ผมอ่านเกือบทุกข่าวบนบลูมเบิร์กด้วยความรวดเร็ว แล้วก็อ่านไปพร้อมกับออกกำลังกายไปด้วย ทำ 2 อย่างพร้อมกัน หลังจากนั้นก็รีบแต่งตัวไปทำงานและเข้าประชุม เป็นเช้าที่เร่งรีบ
พอออกมาจากงานประจำแล้ว ได้ทำเพิ่มขึ้น 3 อย่าง ตื่นเช้ามาผมยังไม่จับโทรศัพท์ ผมเดินมาชงกาแฟเหมือนเดิม แล้วมานั่งอ่านหนังสือ ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือธรรมะ อาจจะสัก 30 นาที หลังจากนั้นก็ไปนั่งสมาธิได้อีกประมาณ 20 นาที แล้วก็สวดมนต์ พอทำกิจกรรมเหล่านี้เสร็จปุ๊บค่อยจับโทรศัพท์ครั้งแรก แล้วก็เข้ารูทีนเดิม
เรื่องการอ่านข่าวผมว่าสำคัญมากสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ การที่เราเรียนเศรษฐศาสตร์ มันบอกตรรกะแต่การมีตรรกะนั้น ถ้าไม่นำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น เราก็เหมือนเสือกระดาษ มันไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ ความเป็นไป อธิบายหรือคาดเดาปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้เลย
ไม่ว่าจะตอนทำงานประจำหรือตอนนี้ ช่วงไหนของวันที่ทำงานแล้วมีประสิทธิภาพมากที่สุด
มันอาจจะไม่ใช่เวลาแบบชัดเจน แต่ช่วงที่ productive ที่สุดในการทำงานก็คือตอนหิว ผมสังเกตตัวเองว่าสมองพรั่งพรูมากก่อนมื้ออาหาร
แล้วอีกทริกก็คือถ้าไม่อยากให้ช่วงบ่ายง่วง ช่วงกลางวันผมจะทานน้อยมาก แซนด์วิชหนึ่งคู่ เพราะถ้าทานเยอะจะง่วงแน่ๆ
ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงเริ่มทำงานแรกๆ ตอนนั้นมอง "การทำงาน" เหมือนหรือแตกต่างออกไปจากปัจจุบัน
เปลี่ยนไปเยอะ ถ้าโยงกับตอนที่เรียนจบใหม่ๆ อันแรกเลย หลายคนรวมถึงผมเองในตอนนั้นมักจะแยกไม่ออกระหว่างการ “ได้เป็น” กับการ “ได้ทำ”
วิธีการของผมง่ายมาก ถ้าเราอยากก้าวหน้าในอาชีพหรือพูดง่ายๆ คือ “อยากเป็น” ก็ไปดูคนที่ตำแหน่งสูงกว่าตัวเอง 1-2 ขั้น ไปดูว่าเขาทำอะไร แล้วก็พยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้ “ทำแบบนั้นได้” และสุดท้ายมันจะมาเอง
ผมเชื่อว่าถ้าสุดท้ายถ้าเรา “ทำได้” เราก็จะ “ได้เป็น”
มีคติในการทำงานที่ยึดไว้เสมอหรือไม่
ผมมีแนวคิดเรื่องการทำงานสัก 5-6 ข้อเป็นแนวคิดที่ได้มาจากแมนคิว (เกรกอรี่ แมนคิว) นักเศรษฐศาสตร์มหภาคชื่อดัง
ข้อที่ 1 เขาบอกว่าเรียนรู้จากคนที่ใช่ คนที่ใช่มีหลากหลาย แต่เรื่องเรื่องนั้น เราต้องหาให้เจอว่าจะไปเรียนรู้จากใคร
อันที่ 2 ร่วมงานกับคนที่เก่ง ทุกคนมีความเก่งเป็นของตัวเอง ถ้าอยากจะพายเรือก็ต้องไม่ใช่ไปหาคนขับรถ ต้องไปหาคนพายเรือเป็นต้น
อันที่ 3 ต้องจัดสรรเวลาและทรัพยากรให้เหมาะสมเพราะมันคือกระบวนการทำที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
อันที่ 4 มีความสนใจที่หลากหลาย
อันที่ 5 พอเรามีความรู้แล้ว ก็ต้องสื่อสารได้ดีด้วย
สุดท้ายเลย เขาบอกว่า have fun มีความสุขกับสิ่งที่ทำและสำหรับการ “มีความสุขกับสิ่งที่ทำ” แมนคิวตั้ง 2 คำถามใหญ่ๆ อันแรกคือถามตัวเองว่าคุณชอบทำอะไร สองคุณหาคนที่ยอมจ่ายเงินให้คุณทำในสิ่งที่คุณชอบได้หรือยัง
ถ้าหา 2 อย่างนี้ได้คุณจะได้ทำในสิ่งที่ชอบและมีเงินสำหรับการดำรงชีพ นั่นคือสิ่งสำคัญ แล้วผมก็นำมาใช้เป็นคติในการทำงานและใช้ชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน
ถ้าให้นิยามชีวิตตัวเองในวัน 20 30 40 และ 50 จะนิยามว่าอย่างไร
ผมคงนิยามชีวิตแต่ละช่วงเหมือนการเล่นกีฬา… (นิ่งคิด)
ตอนอายุ 20 ปี ผมคิดว่าตัวเองเป็นนักกีฬาที่ “บ้าพลัง” บ้าพลังแปลว่าอะไร ถ้าเป็นนักวิ่งก็คือวิ่งแบบ sprint (วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด) ผมเคยมีความเชื่อว่าจิตใจอยู่เหนือร่างกาย คิดอย่างนั้น จริงๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ ถ้าใจผมสู้ ร่างกายผมต้องสู้ได้ ผมเชื่อแบบนั้น ตอนอายุ 20 ปี ผมอ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน ทุ่มเททำงานหนัก และผมเชื่อคำว่าพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์
พออายุ 30 ปี เรียนจบปริญญาเอกแล้วกลับมาเป็นอาจารย์ อันนี้คือการ keep pace รักษาความสม่ำเสมอ
ผมจำได้ จริงๆ ตอนที่ผมเข้าไปเป็นอาจารย์วันแรก คณบดีตอนนั้นตั้งคำถามกับผมว่าสมประวิณ อีก 10 ปี อยากให้คนรู้จักว่าสมประวิณว่าคือใคร
ผมก็นั่งนึก แล้วผมก็รู้สึกว่า การเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคนี่มันก็เท่แล้วนะ ถ้าในอีก 10 ปีอยากให้คนจำผมว่าเป็นใครหรอ… (นิ่งคิด)
ผมก็คงอยากให้คนรู้จักผมเหมือนอาจารย์วีรพงษ์ (รามางกูร) ผมอยากให้คนรู้จักผมเหมือนอาจารย์ฉลอง (ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์) เพราะว่าอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นต้นแบบนักเศรษฐศาสตร์
อย่างน้อยไม่รู้ว่ามีชื่อเสียงมากน้อยขนาดไหน แต่ผมอยากให้สังคมจดจำผมว่าสมประวิณคือนักเศรษฐศาสตร์มหภาคคนหนึ่งของประเทศเท่านั้น
พอมาอายุ 40 ปี ผมเปลี่ยนกีฬา ผมใช้คำนี้ก็แล้วกันคือ “ออกจากพื้นที่ปลอดภัย” ผมออกจากจุฬาฯ ตอนอายุประมาณนั้น จริงๆ อยู่จุฬาฯ ก็เป็นรองศาสตราจารย์แล้ว เคยเป็นรองคณบดีแล้ว อยู่คณะก็อยู่ตัวแหละ เอาว่าง่ายๆ อยู่ตัว
ซึ่งผมก็ไม่รู้เป็นอะไร พออยู่ตัวเกินไป ผมก็รู้สึกว่า โห อีกตั้ง 20 ปีกว่าจะเกษียณ เราจะอยู่ตัวอย่างนี้ไปตลอดจนกว่าจะเกษียณหรอ
จากความคิดนั้น ก็เลยลาออกแล้วก็มาอยู่แบงก์ วันนั้นก็ไปอยู่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผมจำแม่นเลยว่าหัวหน้าผมเป็นคนต่างชาติ เขาก็บอก I don't care how success you are in the past แล้วก็ I don’t care ว่าyou เป็น professor หรือไม่ สิ่งที่สนใจคือ you can deliver your job หรือไม่ เท่านั้น
ทีนี้อายุ 50 ปี เป็นจุดเปลี่ยน
จริงๆ ต้องเล่าก่อนว่า ผมเขียนจดหมายให้ตัวเองในวันที่อายุ 48 ปี ผมเขียนลงใน Google keep แล้วก็ให้เตือนทุกสุดสัปดาห์
ผมบอกตัวเองว่า เออ วันนี้เป็นวันเกิดอายุครบ 4 รอบแล้ว จากชีวิตเราที่เราทำทุกอย่างเพื่ออนาคต มันคงไม่ใช่ เพราะว่าเราจะกำลังจะ aging (สูงวัย) สิ่งที่เราทำในอนาคตมันควรจะเพื่ออดีตที่น่าจดจำมากกว่า
นี่ก็คงจะเป็นคำนิยามของแต่ละช่วงชีวิตของผมที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปตอนที่เป็นผู้บริหารอยู่ที่ภาคธนาคาร มองว่าตัวเองเป็นผู้นำแบบไหน
เป็นผู้นำแบบไหนหรอ… (นิ่งคิด)
เอาแบบนี้แล้วกัน สิ่งที่ผมยึดตอนบริหารทีมสมัยก่อน ผมยึดอยู่ 3-4 อย่าง
อย่างแรกคือผู้นำต้องให้ “ทิศทาง” กับทีมว่าเราจะไปไหน
สองคือสนับสนุนการทำงานของทุกคน เราบอกแล้วว่าเราจะไปเชียงใหม่ เราต้องสนับสนุนทีมงานเราให้พาไปเชียงใหม่ให้ได้
สามผู้นำต้องตัดสินใจระหว่างทาง มีแยกซ้าย แยกขวา ท่านต้องตัดสินใจให้ทีมท่าน
สุดท้ายท่านต้องแก้ปัญหาให้ทีมของท่าน ขับรถไปยางแตก ต้องช่วยแก้ปัญหาให้ได้ นี่เป็นหน้าที่ของผู้นำ
นอกจากนี้ผมยังเชื่อว่าการทำงานกับผมไม่ใช่การที่ทีมทำงานเพื่อสนับสนุนคนสูงสุด แต่หลักคิดคือทุกคน support องค์กร แล้วคนสูงสุด support ทุกคนให้ทำงานให้กับองค์กร
ถ้าไปคิดว่า ทุกคนในทีมต้องทำงานเพื่อ support ผู้นำ แบบนี้งานที่ได้ออกมาจะมาจากผู้นำชิ้นเดียว แต่ถ้าผู้นำหนึ่งคนทำงานเพื่อ support ทีมสิบยี่สิบคน เราจะได้ output ออกมามากกว่าหนึ่งชิ้นแน่นอน (ยิ้ม)