‘จีน’ สร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก ทำลายสิ่งแวดล้อม กระทบความสัมพันธ์กับอินเดีย
“จีน” เริ่มก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในเขตภูเขาของทิเบต คาดว่าจะใช้งบประมาณ 167,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี จึงจะแล้วเสร็จ และจะช่วยเพิ่มผลผลิตพลังงานสะอาดของจีน แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น และอาจยิ่งทำให้ความสัมพันธ์กับอินเดีย ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ปลายน้ำตึงเครียดมากกว่าเดิม
หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เปิดตัวโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำแบบขั้นบันได 5 แห่ง รอบเมืองหลินจือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองทิเบต ในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำยาร์ลุงซางโป แม่น้ำสายสำคัญ ถูกใช้เป็นแหล่งน้ำดื่ม การชลประทาน และพลังงานน้ำสำหรับประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนในสิบประเทศ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เริ่มการก่อสร้างเขื่อนเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ ไชน่า ยาเจียง กรุ๊ป เพื่อดูแลการพัฒนาโครงการนี้ แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าจะจัดหาเงินทุนอย่างไร แต่คาดว่าจะมาจากเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เหมือนกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โครงการอื่น ๆ โดยจะใช้รายได้จากการผลิตพลังงานน้ำจะช่วยชำระคืนเงินกู้
เขื่อนนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 70 กิกะวัตต์ มากกว่าเขื่อนสามผา ที่เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบันถึงสามเท่า และมากกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของโปแลนด์ ซึ่งจะทำให้เขื่อนนี้กลายเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ส่วนหนึ่งของแม่น้ำยาร์ลุงซางโปในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน ซึ่งจะมีการสร้างเขื่อนขนาดยักษ์
เครดิตภาพ: China News Service
อีกทั้ง โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นความต้องการเหล็ก ปูนซีเมนต์ และแรงงานในประเทศจีน หลังจากที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ มีการประเมินว่า หากใช้เวลาก่อสร้างเขื่อน 10 ปี การลงทุน/GDP อาจเพิ่มขึ้นถึง 16,700 ล้านดอลลาร์ ภายในปีเดียว และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก
โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 พลังงานที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งต่อไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศ โดยสื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า โครงการนี้อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ถึง 300 ล้านตันต่อปี
อย่างไรก็ตาม เขื่อนแห่งใหม่จะสร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้งในเทือกเขาหิมาลัย และทิเบต ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้แน่ใจว่าเขื่อนมีความแข็งแรงและมั่นคงเพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายร้ายแรงในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
ประเทศอื่น ๆ ได้เริ่มสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้ ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวไม่เป็นท่า ก่อนหน้านี้สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกตั้งเป้าสร้าง “เขื่อนแกรนด์อิงกา” ซึ่งคาดว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนสามผาและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึงสองเท่า แต่กลับต้องหยุดชะงักมานานหลายทศวรรษแล้ว เนื่องจากอุปสรรคทางการเงิน ความไม่มั่นคงทางการเมือง และความท้าทายด้านโลจิสติกส์
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นักสิ่งแวดล้อมชาวจีนได้เตือนถึงความเสียหายที่ไม่อาจย้อนกลับได้ต่อหุบเขายาร์ลุงซางโป ซึ่งแม่น้ำมีความยาว 2,000 เมตร ไหลลงสู่พื้นที่ 50 ก.ม. ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติ และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของจีน
รายงานเดือนธันวาคมของ International Campaign for Tibet ระบุว่า การสร้างเขื่อนในภูมิภาคนี้มักส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และนำไปสู่การอพยพผู้คนจำนวนมาก แต่รัฐบาลจีนให้คำมั่นว่าจะไม่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อน พร้อมรับประกันความปลอดภัยและปกป้องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
แม่น้ำยาร์ลุงซางโป ไหลผ่านรัฐอรุณาจัลประเทศ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนและอินเดียมาก่อน และยังไหลลงสู่แม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายหลักของอินเดีย ก่อนที่จะไหลลงสู่บังกลาเทศ
เจ้าหน้าที่อินเดียแสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าวมาตลอด โดยกล่าวว่าน้ำในแม่น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คนหลายล้านคน ทัปเปอร์ เกา สมาชิกพรรคภารตียชนตา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของอินเดีย กล่าวว่า “เขื่อนขนาดมหึมา” นี้จะนำมาซึ่งหายนะสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและบังกลาเทศ
ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียกล่าวว่า ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการนี้กับจีน และเรียกร้องให้มี “ความโปร่งใสและการปรึกษาหารือกับประเทศปลายน้ำ”
ดังนั้น โครงการสร้างเขื่อนนี้จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนจะกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ทั้งที่เพิ่งจะกลับมาเป็นปรกติเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่มีการปะทะกันบริเวณชายแดนในตั้งแต่ปี 2020 และจีนได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่ประจำอินเดียในปี 2024 ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์
เมื่อต้นปี 2025 ทั้งสองประเทศตกลงที่จะกลับมาให้บริการเที่ยวบินตรงและอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าท่องเที่ยว และจะให้ชาวอินเดียสามารถเดินทางเทือกเขาและทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของทิเบต เพื่อแสวงบุญได้ในไม่ช้านี้ หลังจากถูกระงับไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ความตึงเครียดก็ยังคงมีอยู่ และในตอนนี้อินเดียเริ่มกังวลว่า จีนอาจจะใช้การเปิดปิดน้ำในเขื่อนมาเป็นอำนาจต่อรองทางเมือง
น้ำกำลังกลายเป็นทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นต้นตอของความตึงเครียดในบางพื้นที่ของเอเชียใต้ ซึ่งมีแม่น้ำสายสำคัญหลายสายไหลผ่านพรมแดนประเทศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ อินเดียได้ระงับการเข้าร่วมสนธิสัญญาควบคุมแม่น้ำสินธุกับปากีสถาน โดยสัญญานี้มีอายุ 65 ปี ระหว่างการเผชิญหน้าทางทหารระยะสั้น ขณะที่สนธิสัญญาน้ำคงคาอายุ 30 ปี ระหว่างอินเดียและบังกลาเทศจะหมดอายุลงในปีหน้า
เพื่อตอบสนองต่อประกาศล่าสุดของจีน เจ้าหน้าที่อินเดียบางคนเรียกร้องให้อินเดียเร่งสร้างเขื่อนในรัฐอรุณาจัลประเทศ หรือที่เรียกว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำอัปเปอร์เซียง โดยโอจิง ทาซิง รัฐมนตรีพรรค BJP ในรัฐบาลของรัฐ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างการสนับสนุนโครงการ 11,500 เมกะวัตต์
“จีนได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนแล้ว และเราไม่สามารถนิ่งเฉยได้ เราต้องลงมือทำ” เขากล่าวกับสื่อท้องถิ่น
ที่มา: Bloomberg, Bloomberg 1, DW, Reuters