ดอลลาร์นิ่ง-เยนแข็ง นักลงทุนกลั้นใจรอ “ทรัมป์ลงดาบ” ภาษี 1 ส.ค.
แม้จะเข้าสู่ช่วงกลางปีแล้ว แต่นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกยังคงเดินเกมด้วยความระมัดระวัง ขณะที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบอย่างไม่แน่นอน เนื่องจากตลาดกำลังรอความชัดเจนจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างประเทศต่างๆ กับสหรัฐอเมริกา ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจา ประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงจะต้องเผชิญกับกำแพงภาษีชุดใหม่ที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นยังคงรักษาระดับการแข็งค่าจากวันก่อนหน้า หลังจากผลการเลือกตั้งสภาสูงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาออกมาตามที่ตลาดประเมินไว้ก่อนหน้า โดยแม้พรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง แต่ไม่ถึงขั้นพังพินาศ ทำให้ตลาดโล่งใจในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนและแรงกดดันจากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่นและค่าเงินเยนในระยะถัดไป
ลี ฮาร์ดแมน นักวิเคราะห์อาวุโสจาก MUFG มองว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองในญี่ปุ่นอาจซ้ำเติมความล่าช้าในการบรรลุข้อตกลงการค้ากับวอชิงตัน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพรวม
ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่มีท่าทีที่แน่นอนเกี่ยวกับการยืดเส้นตายการเจรจา สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากกว่าคือ คุณภาพของข้อตกลง มากกว่าการจะบรรลุข้อตกลงภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยเสริมว่าการตัดสินใจขยายกำหนดเส้นตายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพียงผู้เดียว
ท่ามกลางความไม่แน่นอนดังกล่าว สกุลเงินหลักทั่วโลกต่างเคลื่อนไหวในกรอบแคบ สะท้อนถึงภาวะ “รอความชัดเจน” จากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะยังคงเดินหน้าแตะระดับสูงสุดใหม่ก็ตาม
เธียร์รี วิซแมน นักวิเคราะห์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากแมคควารี มองว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม “ไม่ใช่จุดสิ้นสุด” ตราบใดที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ยังเปิดรับการเจรจาอย่างที่เคยระบุไว้ในจดหมายจากทรัมป์เมื่อสองสัปดาห์ก่อน
ค่าเงินดอลลาร์ยังทรงตัวจากวันก่อนหน้า หลังอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง โดยค่าเงินปอนด์อังกฤษอ่อนลงเล็กน้อยที่ 0.03% มาอยู่ที่ 1.3488 ดอลลาร์ ขณะที่เงินยูโรอ่อนค่าลง 0.12% มาอยู่ที่ 1.1684 ดอลลาร์ ซึ่งตลาดกำลังจับตาการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ภายในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าธนาคารจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม
ในอีกด้านหนึ่ง สหภาพยุโรปเริ่มพิจารณามาตรการโต้กลับทางการค้าที่หลากหลายมากขึ้นต่อสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลว่าอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าที่น่าพอใจร่วมกันได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร้าวลึกที่เพิ่มขึ้นในความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
ดัชนีดอลลาร์เทียบกับตะกร้าสกุลเงินปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 97.94 หลังจากร่วงลง 0.6% เมื่อวันจันทร์ ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงเป็นประเด็นในใจนักลงทุน เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงโจมตี เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed อย่างต่อเนื่อง และเรียกร้องให้ลาออก เนื่องจากไม่พอใจที่ Fed ยังไม่ลดดอกเบี้ยตามที่เขาต้องการ
โจนาส โกลเทอร์แมน นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics ระบุว่า หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวจากแรงผลักดันด้านภาษี ก็อาจทำให้ Fed ยังคงดอกเบี้ยไว้จนถึงปี 2026 และช่องว่างด้านอัตราดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังคงขึ้นอยู่กับท่าทีของทำเนียบขาว
ขณะที่ฝั่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ไม่ต่างกัน ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนลงเล็กน้อย 0.05% มาอยู่ที่ 0.6522 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์นิวซีแลนด์อ่อนลง 0.14% มาอยู่ที่ 0.5960 ดอลลาร์