ทรัมป์เลิกคว่ำบาตรซีเรีย แต่ซีเรียยังไม่สงบพบสังหารชนกลุ่มน้อย1,500 คน
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งบริหารพิเศษ เพื่อยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อซีเรีย นับเป็นความเคลื่อนไหวที่จะช่วยปลดล็อกการลงทุนภายในประเทศ หลัง 6 เดือนก่อนหน้านี้ กลุ่มกบฏได้โค่นล้มอำนาจของอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์สเผยรายงานสอบสวนที่พบการสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวอะลาไวต์ 1,500 ศพ ซึ่งชาวอะลาไวต์นั้นเป็นกลุ่มที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีอัล อัสซาด
สหรัฐฯ ทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรซีเรีย
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ (30 มิถุนายน) เพื่อผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อซีเรีย โดยแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า การยกเลิกคว่ำบาตรมีขึ้นต่อหน่วยงานที่มองว่ามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของซีเรีย การดำเนินงานของรัฐบาล และการฟื้นฟูสังคม
ทั้งนี้ รัฐบาลซีเรียอยู่ภายใต้มาตรการลงโทษทางการเงินจากสหรัฐฯ อย่างหนัก หลังเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นตั้งแต่ปี 2011 และมาตรการเหล่านั้นมีส่วนสำคัญต่อการขัดขวางความพยายามในการฟื้นฟูประเทศ
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อซีเรีย ระหว่างที่เขาเดินทางเยือนตะวันออกกลาง และได้พบกับผู้นำคนใหม่ของซีเรีย
แถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทรัมป์ระบุว่า สหรัฐฯ ยึดมั่นที่จะสนับสนุนซีเรีย ซึ่งมีสเถียรภาพและมีความสามัคคี ให้มีสันติสุขภายในประเทศและต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยซีเรียที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ไม่ได้เป็นสวรรค์สำหรับองค์การก่อการร้ายอีกต่อไป และรับรองความมั่นคงของกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยด้านศาสนา เพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นคงและความรุ่งเรืองของประเทศชาติ
ชาวอะลาไวต์ถูกสังหารกว่า 1,500 คน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวการสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวอะลาไวต์ 1,500 ศพ และยังพบผู้สูญหายอีกหลายสิบคน โดยพบว่ามีเหตุการณ์ฆ่าล้างแค้น เหตุวุ่นวายและปล้นต่อชาวอะลาไวต์ในอย่างน้อย 40 เขต ซึ่งชาวอะลาไวต์นั้นเป็นกลุ่มที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีอัล อัสซาด และตัวของอดีตประธานาธิบดีเองก็เป็นชาวอะลาไวต์
เหตุความรุนแรงของการสังหารหมู่ดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่หลายระลอก โดยเป็นฝีมือของกลุ่มนักรบซุนนี ภายในเขตชุมชนที่มีชาวอะลาไวต์อาศัยอยู่บริเวณริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของซีเรีย ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคมที่ผ่านมา
เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นเ ยังชี้ให้เห็นถึงรอยร้าวที่ลึกภายในซีเรีย ซึ่งรัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ ระหว่างประชาชนที่ยังคงสนับสนุนอัสซาด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม กับผู้ที่หวังว่ากลุ่มกบฏจะประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ชาวซีเรียจำนวนมากยังคงไม่พอใจชนกลุ่มน้อยชาวอะลาไวต์ ซึ่งเคยมีอิทธิพลอย่างล้นเกินในกองทัพและรัฐบาลตลอดสองทศวรรษที่อัสซาดกุมอำนาจ