การล่าแม่มด ความเกลียดชังที่ไร้เหตุผล เปลี่ยนคนให้กลายเป็นแพะรับบาป มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15
ขณะที่สถานการณ์กัมพูชาปะทะกับไทยกำลังเดือดแบบนี้ แน่นอนว่าไม่ว่าจะประเทศไหน ๆ ผู้คนส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่รักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง แต่ความรักนี้กลับกลายเป็นดาบสองคม พลิกมาเป็นความเกลียดชัง เกิดคอนเทนต์ตามล่าคนกัมพูชาในไทยที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตี ส่งผลกระทบไปยังคนกัมพูชาที่อาศัยและทำมาหากินในไทย
ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้ความบาดหมางระหว่างสองฝั่งลึกลงไปมากกว่าเดิม และไม่ช่วยแก้ไขปัญหาใด ๆ ให้สถานการณ์ดีขึ้น และเหตุการณ์หรือคอนเทนต์ใด ๆ ที่เป็นเชิงลบแบบนี้ มักชวนให้นึกถึงศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นยุคล่าแม่มดที่เลื่องชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์
นักประวัติศาสตร์พบว่า แคว้นกาตาลุญญาเป็นหนึ่งในพื้นที่แรก ๆ ของยุโรปที่เกิดการล่าแม่มด และยังเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เหตุการณ์ดังกล่าวรุนแรงที่สุดด้วย นายกรัฐมนตรีแคว้นกาตาลุญญา แปร์ อาราโกแนส (Pere Aragones) เคยกล่าวถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้ว่า เป็น “การสังหารผู้หญิงอย่างเป็นระบบ”
มีการประเมินว่า ระหว่างปี 1580–1630 มีผู้เสียชีวิตจากการล่าแม่มดในยุโรปมากกว่า 50,000 ราย อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐสภากาตาลุญญาได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการย้อนหลังต่อผู้หญิงกว่า 1,000 คน ที่ตกเป็นเหยื่อในช่วงศตวรรษที่ 15–18
คดีแม่มดแห่งซาเลม การล่าแม่มดที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่หนึ่งในเหตุการณ์การล่าแม่มดที่รุนแรงและเป็นที่จดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ “การไต่สวนคดีแม่มดแห่งซาเลม” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1692–1693 ที่เมืองซาเลม รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองแห่งนี้ก่อตั้งโดยผู้อพยพชาวพิวริแทนจากอังกฤษ ซึ่งดำเนินชีวิตด้วยความเคร่งครัดในศาสนา และมีความเชื่อฝังลึกว่า เวทมนตร์ คือภัยร้ายแรง
ต้นตอของโศกนาฏกรรมเริ่มต้นเมื่อเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อ เบตตี แพร์ริส (Betty Parris) แสดงอาการชัก กรีดร้อง และอ้างว่าถูกของมีคมทำร้ายร่างกาย ต่อมาเด็กหญิงอีกสองคน อาบิเกล วิลเลียมส์ (Abigail Williams) และ แอน พัตแนม (Ann Putnam) ก็มีอาการคล้ายกัน
ด้วยความไม่เข้าใจด้านการแพทย์และจิตวิทยาในยุคนั้น บวกกับความเชื่อทางศาสนาอย่างแรงกล้า ทำให้ทั้งหมู่บ้านสรุปว่าเด็กเหล่านี้ถูกคำสาปของแม่มด
การล่าแม่มดจึงเริ่มขึ้น โดยเด็กทั้งสามถูกใช้ให้ชี้ตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่แตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม เช่น ซาราห์ กูด (Sarah Good) หญิงเร่ร่อน ผู้ยากไร้, ซาราห์ ออสเบิร์น (Sarah Osbourne) หญิงชราที่ป่วยและไม่ค่อยไปโบสถ์ และทิทูบา (Tituba) ทาสหญิงผิวดำจากบาร์เบโดส ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้มนตร์ดำและสอนเวทมนตร์ให้เด็ก ๆ
ด้วยการชี้นำของบาทหลวง เด็ก ๆ เริ่มไล่รายชื่อ “แม่มด” เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าหน้าที่ก็เริ่มตรวจค้นบ้านและจับกุม ชาวเมืองต่างหวาดระแวงและชี้กล่าวหากันเอง เพื่อเอาตัวรอดจากการตกเป็นเป้า
สุดท้าย การล่าแม่มดได้กลายเป็นเครื่องมือทางสังคมในการกำจัดผู้ที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน คนแปลกแยก หรือแม้แต่ผู้ที่มีปัญหาส่วนตัวกับผู้กล่าวหาเอง
ศาลพิเศษถูกตั้งขึ้นเพื่อไต่สวนคดีเหล่านี้ โดยใช้กฎหมายอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งระบุว่า “แม่มด” มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ
กระบวนการยุติธรรมในครั้งนั้นกลับตาลปัตร ผู้ใดยอมรับว่าเป็นแม่มดและให้ข้อมูลซัดทอดผู้อื่นจะได้รับโทษเบา แต่หากใครปฏิเสธและไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ก็จะถูกทรมานหรือประหารในที่สุด
คดีแม่มดแห่งซาเลมสะท้อนให้เห็นถึงการจำกัดสิทธิและบทบาทของผู้หญิงในสังคมอย่างชัดเจน ผู้หญิงที่ไม่มีครอบครัวดูแล คนแก่ คนหน้าตาไม่ดี หรือแม้แต่ผู้หญิงที่ “สวยเกินไป” ล้วนมีโอกาสตกเป็นเป้าได้ทั้งสิ้น เพียงเพราะพวกเขาดูแตกต่าง หรือถูกมองว่า “ชักจูงได้ง่าย”
ผู้หญิงจำนวนมากกลายเป็นเหยื่อของการกล่าวหาจากผู้ชายที่อ้างว่าตนถูกสาป ทั้งที่แท้จริงแล้ว อาจเป็นเพียงการไม่เห็นด้วย หรือการแสดงความคิดอย่างตรงไปตรงมาของผู้หญิงเท่านั้น
เมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงสามารถหาคำอธิบายทางเหตุผลให้กับสิ่งที่เคยเข้าใจผิดว่าเป็นเวทมนตร์ ประกอบกับอิทธิพลของศาสนาคริสต์เริ่มลดลงเมื่อเกิดการแตกนิกาย ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับอำนาจ และเรียกร้องให้มีหลักฐานก่อนการกล่าวหา
ท้ายที่สุด กระแสต่อต้านการล่าแม่มดค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนทำให้ปรากฏการณ์นี้จางหายไปจากยุโรปและอเมริกาในเวลาต่อมา
สุดท้ายนี้ในสถานการณ์บ้านเราที่เกิดขึ้น แม้ไม่ได้เป็นอคติทางเพศ แต่เป็นอคติทางเชื้อชาติ นอกจากมันจะไม่ช่วยอะไร มีแต่ความสะใจ และเอาสนุก มันยังจะเติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เพราะไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน เราก็ไม่ควรหลงลืมความจริงพื้นฐานว่า ทุกคนก็คือมนุษย์ และไม่มีใครควรถูกทำร้ายหรือถูกพรากชีวิต เพียงเพราะพวกเขาเกิดในอีกฟากของพรมแดน…