ตรวจสถานะข้อตกลงการค้าสหรัฐ ยังดีลไม่ได้อีกหลายประเทศ!
เส้นตายภาษีศุลกากรตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังมาถึงในวันที่ 9 ก.ค. ขณะที่สหรัฐยังไม่ได้ข้อสรุปกับอีกหลายประเทศ
สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมสถานะการเจรจาระหว่างสหรัฐกับคู่ค้าสำคัญก่อนที่ภาษีศุลกากรตอบโต้ที่ทรัมป์ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. แต่ระงับไปในสัปดาห์ถัดมา จะมีผลบังคับใช้อีกครั้ง
อียูพร้อมดีล
สหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า “พร้อมสำหรับข้อตกลง” กับรัฐบาลวอชิงตัน เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ก.ค.) ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการค้าอียูหารือกับคู่เจรจาสหรัฐ
นางเออร์ซูลา วอน เดอ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า อียูตั้งเป้า “ทำข้อตกลงในหลักการ” ก่อนวันที่ 9 ก.ค.
หากตกลงกันไม่ได้ สินค้าอียูจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสองเท่าจากฐาน 10% เป็น 20% ซึ่งก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยขู่ว่าจะเก็บถึง 50%
เวียดนาม ‘ข้อตกลงไม่แน่นอน’
วอชิงตันกับฮานอยทำข้อตกลงการค้ากันได้เมื่อวันพุธ (2 ก.ค.) ที่ดูเป็นการประโคมข่าวโดยแทบไม่มีรายละเอียด แต่ก็เปิดทางให้เวียดนามรอดพ้นภาษี 46% ที่ทรัมป์ประกาศออกไปในตอนแรก
ภายใต้ข้อตกลงนี้ สินค้าเวียดนามเข้าสหรัฐเจอภาษีขั้นต่ำ 20% ส่วนสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นถูกเก็บภาษี 40% ข้อกำหนดนี้ก็เพื่อควบคุมสินค้าจีน “ส่งผ่าน” เวียดนามนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามว่า สินค้าที่ใช้ชิ้นส่วนจากต่างประเทศจะต้องถูกเก็บภาษีมากแค่ไหน นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังเตือนถึงความเสี่ยงที่รัฐบาลปักกิ่งจะใช้มาตรการตอบโต้ด้วย
ญี่ปุ่น ‘ข้าว-รถยนต์’ เสี่ยงหนัก
แม้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ และเข้าไปลงทุนมากมาย แต่ญี่ปุ่นอาจไม่รอดพ้น ภาษีทรัมป์ นายเรียวเซอิ อาคาซาวา หัวหน้าคณะเจรจาการค้าของญี่ปุ่นเดินทางไปวอชิงตันหลายรอบจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.
แต่ทรัมป์ยังวิจารณ์ว่าญี่ปุ่นไม่ยอมเปิดตลาดข้าวและรถยนต์ให้กับสหรัฐมากขึ้น
“ผมไม่แน่ใจว่าเราจะทำข้อตกลงกันได้” ทรัมป์กล่าวและว่า ญี่ปุ่นอาจต้องโดนภาษี “30%, 35% หรือเท่าไหร่ก็ตามที่พวกเรากำหนด”
อินเดีย ‘มีโอกาส’
บรรดาผู้ผลิตและผู้ส่งออกอินเดียต่างมีความหวังว่า พวกตนจะรอดพ้นภาษี 26% การเจรจาระหว่างสองประเทศไปได้ดีตลอดหลายสัปดาห์ ทรัมป์เองก็เคยเผยเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย.ว่า ใกล้ได้ข้อตกลง “ใหญ่มาก” แล้ว
เอเจย์ ซาไฮ เลขาธิการสมาพันธ์องค์กรผู้ส่งออกอินเดีย เผยผ่านเฟซบุ๊กว่า เขาได้รับ “ข้อบ่งชี้ในทางบวก” แต่ยอมรับว่า สถานการณ์ยังไม่นิ่ง
นิรมาลา ศรีธารามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย้ำว่า สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์นม ยังคงเป็น “ประเด็นอ่อนไหวที่ห้ามล้ำเส้น”
เกาหลีใต้ ‘ยังไม่เห็นหนทาง’
รัฐบาลโซลซึ่งรอดพ้นจากภาษีเหล็กและยานยนต์ ไม่อยากให้สินค้าส่งออกชนิดอื่นต้องโดนภาษีหว่านแห 25% คาดว่าเกาหลีใต้อาจใช้ความร่วมมือด้านการต่อเรือเป็นหมากต่อรอง
“แต่ในขั้นนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไรกันแน่ ผมไม่สามารถพูดอย่างมั่นใจได้ว่า เราจะจบทุกสิ่งทุกอย่างได้ภายในวันที่ 8 ก.ค.)” อี แจมย็อง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี
อินโดนีเซีย ไทย ไต้หวัน ‘รอผลเจรจา’
เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา ซึ่งเจอภาษีสูงถึง 49% กำลังรออย่างใจจดใจจ่อ
อินโดนีเซียแสดงเจตจำนงนำเข้าพลังงาน สินค้าเกษตร และสินค้าอื่นๆ เพิ่มจากสหรัฐ บังกลาเทศเสนอซื้อเครื่องบินโบอิงและสินค้าเกษตรเพิ่ม
ไต้หวัน ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญของวอชิงตัน ต้องเจอภาษี 32% หากไม่มีข้อตกลง
แม้เผชิญอุปสรรคมาโดยตลอด รองประธานาธิบดีเสี่ยว บีคิมของไต้หวัน กล่าวว่า คณะผู้เจรจาจากทั้งสองฝ่าย “ต่างทำงานอย่างขยันขันแข็ง” เพื่อหาหนทางมุ่งไปข้างหน้า
สวิตเซอร์แลนด์ ‘หวังเลื่อนเส้นตาย’
รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เผย วอชิงตันยอมรับว่าสวิตเซอร์แลนด์กระทำการด้วยสุจริตใจ และคาดว่าภาษีจะอยู่ที่ระดับ 10% ต่อไปในวันที่ 9 ก.ค. ขณะการเจรจายังคงดำเนินอยู่ แต่สิ้นเดือน มิ.ย.แล้วยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกิดขึ้น สวิตเซอร์แลนด์จึงยังไม่ตัดประเด็นว่า อาจต้องเจอภาษีในระดับ 31%