ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ความเครียดสะสมจากการทำงาน ต้องรีบจัดการ!
Burnout Syndrome คือ ภาวะความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม จนนำไปสู่ความเหนื่อยล้าในระดับลึก ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ส่งผลต่อทัศนคติและประสิทธิภาพในการทำงาน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ Burnout เป็น “กลุ่มอาการที่เกิดจากความเครียดในที่ทำงาน” ซึ่งไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวชโดยตรง แต่ส่งผลกระทบได้รุนแรงหากปล่อยไว้โดยไม่รับการดูแล
สาเหตุ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ในคุณแม่มือใหม่ แนะวิธีบำบัดรักษา
ลิสต์ 7 ข้อเข้าข่ายจิตเวช ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย หรือ มั่นใจในตัวเองสูง ต้องเช็ก!
คนไทยสุขภาพจิตแย่ลง! ป่วยโรคเฝ้าระวังเพิ่ม -วัยรุ่นติดซิฟิลิสพุ่ง 3 เท่า
อาการ Burnout Syndrome
- รู้สึกหมดแรงแม้ไม่ได้ทำงานหนัก
- ขาดแรงจูงใจไม่อยากทำงานที่เคยชอบ
- รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถหรือไร้คุณค่า ขาดความสำเร็จในชีวิต
- มีทัศนคติเชิงลบต่อองค์กร เพื่อนร่วมงาน หรือหน้าที่ที่รับผิดชอบ
- นอนหลับไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
- เกิดอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร
- เริ่มเลี่ยงงาน หรืออยากลาออกอยู่บ่อยครั้ง
หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่น ๆ ได้
สาเหตุภาวะ Burnout Syndrome
Burnout ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งความเครียดสะสมเรื้อรัง โดยเฉพาะจาก “สิ่งแวดล้อมในการทำงาน” และ “ปัจจัยส่วนบุคคล” ดังนี้
- งานที่มีความกดดันสูง หรือภาระหน้าที่ที่เกินความสามารถไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ขาดการสนับสนุนจากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน
- ความไม่ชัดเจนของบทบาทในงาน
- สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพจิต เช่น มีความขัดแย้งในทีม
- ความไม่สมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life imbalance)
- ความคาดหวังจากตนเองหรือผู้อื่นที่มากเกินไป
แนวทางป้องกัน Burnout Syndrome
- ตั้งขอบเขตของงานให้ชัดเจน อย่าทำงานเกินเวลา หรือรับภาระจนเกินตัว
- ให้ความสำคัญกับเวลาพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ และหาเวลาว่างสำหรับกิจกรรมที่ชอบไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ฟังเพลง ทำอาหาร หรือใช้เวลากับคนที่รัก
- เรียนรู้ที่จะปฏิเสธอย่างเหมาะสม ไม่จำเป็นต้อง “เก่งทุกเรื่อง” หรือ “รับทุกอย่าง”
- รู้จักฟังเสียงจากร่างกายและจิตใจของตนเอง (Mindfulness) เมื่อรู้สึกเหนื่อยหรือไม่มีพลังงาน อย่าฝืน ควรหยุดพักทันที
- เปิดใจพูดคุย และขอความช่วยเหลือ หากรู้สึกว่าเริ่ม “ไม่ไหว” ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์
ภาวะ Burnout ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่ควรมองข้าม หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่จัดการ อาจลุกลามกลายเป็นภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ การรู้จักหยุดพัก เติมพลังให้ตนเอง และขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เรากลับมามีพลังและคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง หากคุณกำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟและต้องการใครสักคนที่พร้อมรับฟัง อย่าลืมว่า คุณไม่ได้อยู่คนเดียว และการดูแลใจตัวเองก็สำคัญไม่แพ้ความสำเร็จในหน้าที่การงาน อย่ารอให้ทุกอย่างสายเกินไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 2