ทางเลือกใหม่รักษามะเร็งตับ ด้วยวิธีการฉีดสารกัมมันตรังสีผ่านหลอดเลือดแดง
“มะเร็งตับ” ปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย พบบ่อยเป็นลำดับที่ 1 ในเพศชาย และลำดับที่ 5 ในเพศหญิง เกิดจากภาวะตับแข็งด้วยสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบ แอลกอฮอล์เรื้อรัง ไขมันพอกตับเรื้อรัง และปัจจัยอื่น ๆ
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันทางเลือกในการรักษามะเร็งตับมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย สภาวะการทำงานของตับ และลักษณะของตัวโรค ซึ่งการรักษาทางเลือกหลักที่มีโอกาสหายขาดสูงสุด
คือ การผ่าตัด แต่ข้อจำกัดการผ่าตัดมีหลายอย่าง ทั้งสภาวะร่างกายผู้ป่วยและปริมาตรของตับที่เหลือหลังการผ่าตัด การรักษาเฉพาะที่(Locoregional treatment) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยที่สภาวะโดยรวมไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัด โดยอาจเป็นทางเลือกเพื่อการรักษาที่หายขาด (Curative treatment)
หรือการรักษาเสริมเพื่อการเตรียมความพร้อมในการรักษาวิธีอื่น ๆ ต่อ (Adjunct treatment or bridging treatment) หนึ่งในวิธีการรักษาใหม่สำหรับมะเร็งตับ คือ การรักษามะเร็งตับด้วยวิธีการฉีดสารกัมมันตรังสีผ่านทางหลอดเลือดแดง (Transarterial Radioembolization - TARE)
เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า วิธีการฉีดสารกัมมันตรังสีผ่านทางหลอดเลือดแดง (Transarterial Radioembolization - TARE) เป็นการฉีดสารกัมมันตรังสี Yttrium-90 microsphere (Y-90) ผ่านทางหลอดเลือดแดงของตับที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง ซึ่งสารกัมมันตรังสีจะทำลายเนื้องอกระยะใกล้ภายในร่างกายผู้ป่วย ซึ่งการรักษาวิธีนี้เข้ามาเป็นส่วนช่วยในเพิ่มโอกาสการเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วย
โดยเป็นการทำลายเนื้องอกเฉพาะที่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเพิ่มปริมาตรตับในส่วนที่ดีให้โตขึ้นทางอ้อม ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้หลังการรักษาที่ระยะเวลา 3-6 เดือน Y-90 TARE มีบทบาทในแนวทางการรักษามะเร็งตับระดับนานาชาติ เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับที่ผ่าตัดไม่ได้ โดยถูกแนะนำให้เลือกใช้กับผู้ป่วยที่มีก้อนขนาดใหญ่ การกระจายตัวของก้อนหลายตำแหน่ง ผู้ป่วยที่มีโอกาสรับการผ่าตัดได้ หากสามารถควบคุมการแพร่กระจายของก้อนได้และมีปริมาตรของตับหลังการผ่าตัดเพียงพอ หรือผู้ป่วยที่เนื้องอกขนาดเล็กแต่ไม่สามารถรับการรักษาวิธีอื่นได้ เป็นต้น
แพทย์หญิงอรรถพร อจลเสรีวงศ์ นายแพทย์ชำนาญการกลุ่มงานรังสีวินิจฉัยและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประสบการณ์การรักษาโดยการใช้สารกัมมันตรังสีในประเทศไทยพบว่า สามารถเพิ่มโอกาสการรักษาให้กับผู้ป่วยในกลุ่มที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
โดยสามารถลดระยะของโรค (Down staging) ให้กับผู้ป่วยได้ 50% และทำให้ผู้ป่วยที่เบื้องต้นไม่สามารถรับการรักษาผ่าตัดได้ สามารถรับการผ่าตัดได้ 33% ข้อจำกัดที่สำคัญของ Y-90 TARE คือมีราคาสูง และมีความยุ่งยากซับซ้อนในการรักษา โดยก่อนการรักษาแพทย์จะต้องฉีดสีประเมินการกระจายของอนุภาคอย่างละเอียดเพื่อประเมินกายวิภาคของก้อนเนื้องอก คำนวณปริมาณรังสีที่ใช้ในการรักษา และประเมินอวัยวะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเนื่องจากสารกัมมันตรังสี
ทางทีมสหสาขาวิชาชีพในการรักษามะเร็งตับของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เล็งเห็นประโยชน์และความจำเป็นของการรักษาด้วย TARE จึงมีการพัฒนาทักษะของบุคลากร ปรับปรุงความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือ ในการให้บริการ TARE ให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ หากท่านมีข้อสงสัย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติผ่านทาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ยาอิมครานิบ 100" รักษามะเร็งมุ่งเป้า ใช้สิทธิเบิกกองทุนสุขภาพได้หรือไม่? ไขข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้
- วิจัยชี้ "ออกกำลังกาย" ช่วยผู้ป่วย "มะเร็งลำไส้ใหญ่" ไม่กลับเป็นซ้ำถึง 90เปอร์เซ็นต์
- มะเร็งรังไข่ สาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุด ในมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง
- สสส.เผย แอลกอฮอล์ ต้นเหตุมะเร็ง 8 ชนิด ชวนคนไทยวางแก้วเหล้า ตั้งสติ คิดดี สร้างชีวิตที่ดี
- วิจัยชี้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยง มะเร็งเม็ดเลือดขาว