ผลพวงนโยบายทรัมป์ กระตุ้น ‘เอเชีย’ สร้างตลาดการค้าใหม่
“นโยบายภาษีนำเข้า” ที่เข้มงวดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในวาระที่สองกำลังกระตุ้นให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การค้าระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด การคุกคามด้วยภาษีนำเข้าสูงที่มีกำหนดการบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ส.ค. 2025 กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียเร่งหาคู่ค้าทางเลือกใหม่เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกา แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจและการรวมตัวของภูมิภาคก็ตาม
บทวิเคราะห์ "Under Attack by Trump’s Tariffs, Asian Countries Seek Out Better Friends" ของเดอะนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า รัฐบาลทรัมป์ดำเนินนโยบายการค้าที่เข้มงวดโดยอ้างเหตุผลว่าสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขาดดุลการค้ามานานหลายปี การส่งจดหมายเก็บภาษีไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอย่างชัดเจน
เมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ได้แสดงความเห็นในการประชุมผู้นำเอเซียนว่า "เครื่องมือที่เคยใช้เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในอดีต ปัจจุบันถูกนำมาใช้เพื่อกดดัน แบ่งแยก และควบคุม" คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลของประเทศในภูมิภาคเอเชียต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมการค้าโลก
สำหรับประเทศเอเชียที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก การหาตลาดทดแทน “เป็นเรื่องท้าทาย” อย่างไรก็ตาม หลายประเทศกำลังพยายามอย่างจริงจังในการสร้างเครือข่ายการค้าใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว
เกาหลีใต้: การขยายเครือข่ายทางการทูต
เกาหลีใต้ภายใต้การนำของประธานาธิบดี อี แจ-มยอง ส่งทูตพิเศษไปยังออสเตรเลียและเยอรมนีเพื่อหารือเรื่องการป้องกันประเทศและประเด็นการค้า พร้อมมีแผนส่งคณะผู้แทนไปอีกหลายประเทศ การเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงถึงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์เกาหลีใต้และอดีตนักเจรจาการค้า บยอง-อิล ชอย ได้เรียกร้องให้ประเทศของเขาเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนทรานส์แปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า(CPTPP) ซึ่งญี่ปุ่นได้เข้าร่วมแล้ว โดยบทวิเคราะห์ของเดอะนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า ท่าทีของทรัมป์อาจมีผลทำให้เกาหลีใต้เข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้ในที่สุด
เวียดนาม: การลดการพึ่งพาผู้บริโภคอเมริกัน
หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าเวียดนามยอมรับภาษีนำเข้า 20% สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าเวียดนามได้เน้นย้ำความพยายามในการลดการพึ่งพาผู้บริโภคอเมริกันโดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าอื่นๆ
อินโดนีเซีย: การขยายความร่วมมือกับยุโรป
อินโดนีเซียประกาศว่าใกล้บรรลุสนธิสัญญาการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะลดภาษีนำเข้าส่วนใหญ่เป็นศูนย์ การเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงถึงการมองหาโอกาสใหม่ในตลาดยุโรปเพื่อทดแทนส่วนหนึ่งของการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐ
บราซิล-อินเดีย: ขยายการค้าแบบทวิภาคี
บราซิลและอินเดียได้ประกาศแผนการเพิ่มการค้าทวิภาคี 70% จากปัจจุบันเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ การพัฒนาความสัมพันธ์การค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันแสดงถึงแนวโน้มการสร้างเครือข่ายการค้าที่ไม่ผ่านประเทศพัฒนาแล้วเป็นตัวกลาง
อ้างอิง: The New York Tims