เปิดเทคนิค เลี้ยงลูกยังไง? ให้มีภูมิคุ้มกันทางใจที่แข็งแรง
เชื่อว่าพ่อแม่มือใหม่ทุกคน หรือต่อให้มือเก่า บางทีก็ไม่มั่นใจว่าเราควรจะเลี้ยงลูกยังไง ให้เติบโตในสังคมได้อย่างดีในแบบที่ยังเป็นตัวของตัวเอง วันนี้เรามีโอกาสได้คุยกับ ‘หมอจอย-พญ.ลลิต ลีลาทิพย์กุล’ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น เจ้าของรางวัล Most Trusted Pediatrician For Parents จาก theAsianparent Awards 2024 เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับลูกน้อยในวันที่สังคมอาจจะไม่ได้ใจดีเสมอไป
วัยรุ่น Gen Z กับบทบาทของ Change Maker คุณหมอแชร์ว่าเด็กเจน Z คือวัยรุ่นที่กำลังจะโตขึ้นมาเป็น Change Maker เขาจะเป็นกลุ่มคนที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลก “พอเราได้มาดูตรงนี้ ได้มาศึกษาเกี่ยวกับวัยรุ่น ทำให้เราเห็นว่านอกจากเขาจะเติบโตมากับความ Multitasking ความกล้าคิด กล้าแสดงออกแล้ว เขายังเติบโตมากับสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เขาพร้อมจะแคร์โลก แคร์สังคม หมอเชื่อว่าอนาคตเขาจะเป็นคนที่คิดค้นอะไรใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาดูแลเราด้วยซ้ำ ทั้งด้านสุขภาพ Financial ต่างๆ หมอเชื่อว่าเขาทำได้”
เลี้ยงยังไง ในวันที่มีช่องว่างระหว่างวัย คุณหมอเล่าว่าเด็กและผู้ใหญ่เกิดมาในยุคที่ต่างกัน ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนอาจจะเติบโตมาในยุคที่ถูกปลูกฝังว่าจะต้องขยัน อดทน เชื่อฟัง และกตัญญู ถึงจะไปรอด ในขณะที่เด็กสมัยนี้เขาเติบโตในมุมที่เขามีพร้อม(เกือบ)ทุกอย่าง ในวัยเด็กเขาเลยอาจจะไม่ต้องลงมือทำเองมากเท่าสมัยก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ความคิดบางอย่างของเขาอาจไม่ได้ถูกใจผู้ใหญ่อย่างเรา ก็อย่าเพิ่งไปตัดสิน เพราะเขาแค่คิดในมุมที่ต่าง “ถ้าเราสามารถดึงศักยภาพของเด็กๆ ออกมาได้ เขาจะเก่ง แล้วก็สามารถทำงานได้แบบ Multitasking มากๆ หมอเชื่อว่าการที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจว่าเด็กก็เติบโตมาในแบบนี้แหละ เขาอาจจะไม่ได้เน้นเรื่องกตัญญู ต้องเชื่อฟัง มากขนาดนั้น แต่ขณะเดียวกันเราก็หาพื้นที่ว่า ในมุม ในกติกาที่ต้องอยู่ได้ มันประมาณไหน แล้วเราก็ไปดึงศักยภาพที่ดีของเขาออกมา เช่น เขาสามารถเรียนรู้ได้เร็วมากเลย เป็นต้น”
“เวลาที่หมอถามคุณพ่อคุณแม่ว่าลูกมีดีอะไร คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ใช้เวลานานมาก
กว่าจะดึงออกมาได้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว แค่เขาตื่น เตรียมตัวเอง มาหาหมอได้ มันก็เจ๋งมากแล้วนะ
เพราะมันแสดงว่าเขามีความรับผิดชอบ เราแค่จะต้องดึงศักยภาพที่ดีของเขาออกมาให้มากขึ้น”
เพราะเราเชื่อ! ว่าเด็กทุกคนมี ‘ศักยภาพ’ คุณหมอเล่าว่าคลินิกนี้เกิดขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงสถาบันครอบครัว “ส่วนตัวเชื่อว่าเด็กคนนึงเกิดมาเขามีศักยภาพในตัว แต่หลายครั้งที่ศักยภาพนี้จะถูกเสริมขึ้นหรือลดทอนลงด้วยการเลี้ยงดู ซึ่งมีหลายบ้านอาจจะมีข้อจำกัดด้วยสิ่งต่างๆ ก็เลยไม่ได้รับการบ่มเพาะที่ดี หรืออาจจะมีการเลี้ยงดูที่ผิดทาง การลงโทษ การใช้คำหยาบคาย หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกาย เราเลยเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้คำแนะนำและปรับการเลี้ยงดู ให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น ดึงสิ่งดีๆ เพื่อให้ครอบครัวกลับมาเชื่อมโยงกัน”
‘สุขภาพจิตที่ดี’ คือหนึ่งต้นทุนสำคัญในการเติบโต ทฤษฎีจิตวิทยาในสมัยก่อนจะมองมนุษย์แยกออกเป็นส่วนๆ เช่น สมอง ร่างกาย จิตใจ ถ้าใครที่มีปัญหาซึมเศร้า ก็จะไปรักษาแค่ซึมเศร้า แต่ในปัจจุบันนี้ทฤษฎีทางจิตวิทยาบอกว่ามนุษย์ถูกมองเป็นสิ่งเดียว ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด “เราจะไม่ได้แก้เฉพาะจุดที่เป็น แต่เราจะเอาแสงสว่างไปส่องในห้องที่มืด ให้เขาก้าวออกไปได้ ด้วยสุขภาพจิตที่ดี มีความยืดหยุ่น” เพราะร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาเชื่อมโยงกันเหมือนสามเหลี่ยมสมดุล “จิตใจที่ดีทำให้พัฒนาการทางสมองไปได้เร็ว ก็คิดทำนู้นทำนี่ ยิ่งคิดทำนู้นทำนี้เยอะ ก็ส่งผลต่อร่างกาย กล้ามเนื้อมาเร็ว แข็งแรง สุขภาพดี นั่นคือถ้า Mental Health ดีก็ส่งผลดีต่อองค์รวมในทุกๆ ด้าน”
(credit: mentalhealthcommission.gov.au) สัญญาณของปัญหาทางด้านอารมณ์…ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันพบเด็กที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเยอะขึ้น พ่อแม่จึงควรมีวิธีรับมืออย่างเหมาะสม “อะไรก็ตามที่เป็นปัญหา มักจะเป็นมาก เป็นนานและกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน และพ่อแม่เอาไม่อยู่ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบ้าน แต่ส่วนมากมักเป็นปัญหาพฤติกรรม เช่น ดื้อ ต่อต้าน ไม่มีสมาธิ เบื้องต้นแนะนำให้ใช้การสื่อสารที่ดี ถ้าลูกเป็นแค่บางเวลา ให้ลองปรับดูก่อน แต่เมื่อไหร่ที่เป็นเยอะ หรือเริ่มมีพฤติกรรมที่ถดถอย หรือมีปัญหาด้านอารมณ์ นานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปก็ควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออก”
วิธีสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันทางใจ’ ในแต่ละช่วงวัย
การสร้างภูมิคุ้มกันทางใจนั้นเราสามารถสร้างให้กับลูกน้อยได้ตั้งแต่แรกเกิดด้วยการเลี้ยงดู ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า…
0-1 ปีแรก
เลี้ยงให้เขารู้สึกปลอดภัย เวลาที่เขาร้อง ให้อุ้ม ให้กอด บอกรักให้มากที่สุด เปียก แฉะ เปลี่ยนแพมเพิสให้เขา ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะติดมือ แต่ทำให้ลูกรู้สึกว่าปลอดภัย และความปลอดภัยนี้จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า secure attachment ความรู้สึกไว้วางใจคน ไว้วางใจตัวเอง ไว้วางใจคนรอบข้าง ไว้วางใจโลก ทำให้เขามีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้
ก่อนวัยเรียน
ช่วงนี้เป็นช่วงวัยที่สร้างตัวตน ทำให้เขารู้สึกเป็นที่รัก รักเขาแบบไม่มีเงื่อนไข รักที่เขาเป็นเขา วันไหนที่เขาทำผิด เราจะอยู่ข้างๆ พร้อมเคียงข้างเขา ไม่ต้องเปรียบเทียบเยอะ ลดการเปรียบเทียบกับเพื่อนข้างบ้าน ลูกคนอื่น รักที่เขาเป็นเขา เพราะทุกคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน ให้เขารู้ว่าเขามีคนรักและคอยซัพพอร์ตเขา
วัยรุ่น
ทำให้เขามีตัวตน ปล่อยให้เขาได้ลองคิด ลองทำ และเขาจะกล้าตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะมีความยืดหยุ่นในตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ ปัจจุบันที่เจอเยอะคือ พ่อแม่ที่เป็น Helicopter คอยสอดส่องลูกตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ลูกทำอะไรเอง กลัวลูกจะเจ็บ เราต้องฝึกให้ลูกได้คิด ได้ทำด้วยตัวเอง ให้เขามีตัวตน อย่าไปคาดหวังหรือควบคุมเขาในการทำหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง
คุณหมอฝากบอกว่า…การตีตรา เป็นสิ่งสำคัญมากในปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่หลายคน
บอกว่าที่ลูกเป็นแบบนี้ เพราะว่าลูกดื้อ ซึ่งจริงๆ แล้วลูกแค่มีพัฒนาการตามวัย
แต่ถ้าเราไปตีตราเค้าว่าเค้าดื้อ เค้าก็จะดื้อให้เราเห็นไปเรื่อยๆ
แล้วคุณล่ะ? มีวิธีสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้ลูกยังไงกันบ้าง อย่าลืมมาแชร์กัน!