ชีวิตเคว้งคว้างของพนักงานรัฐเวียดนาม ที่ถูกปลดออกหลังการปฏิรูประบบราชการ
เหงียน วัน กวง อดีตเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังจิบชาเขียวในสวนกุหลาบของเขา และกล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่าเขา "ไม่มีงานทำแต่มีความสุข" หลังจากที่เวียดนามตัดลดตำแหน่งงานในหน่วยงานของรัฐ 80,000 ตำแหน่งในสัปดาห์นี้
ขณะที่ เหงียน ถิ ทู กังวลใจที่บ้านหลังจากออกจากงานภาครัฐซึ่งครั้งหนึ่งเคยถือเป็นงานที่ทำไปตลอดชีวิต และบอกกับ AFP ว่าเธอรู้สึก "ว่างเปล่า" กับอนาคตที่ไม่แน่นอนอีกต่อไป
เวียดนามกำลังอยู่ในช่วงกลางของการปฏิรูปกลไกของรัฐอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีตำแหน่งงาน 100,000 ตำแหน่งที่ถูกกำหนดให้ยกเลิก เนื่องจากรัฐบาลฮานอยพยายามปรับปรุงระบบราชการและกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีตำแหน่งงาน 80,000 ตำแหน่งที่ถูกยุบเลกไป หลังจากมีการประกาศควบรวมจังหวัดและเมืองส่วนใหญ่ของเวียดนามหลายแห่งเข้าด้วยกัน
บรรดาผู้ว่างงานใหม่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยได้รับการรับประกันว่าจะมีงานทำตลอดไปนั้น ต่างก็เกิดความรู้สึกที่ปนเปกัน
“การที่รัฐสูญเสียคนอย่างผมไปนั้นเป็นความสูญเปล่าอย่างแท้จริง” กวง วัย 56 ปี ซึ่งเคยทำงานอยู่ในจังหวัดบั๊กซาง นอกกรุงฮานอย กล่าว ทั้งนี้ บั๊กซางเพิ่งจะถูกควบรวมเข้ากับการบริหารงานของจังหวัดใกล้เคียง
รัฐบาลกล่าวว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปครั้งนี้จะถูกเลิกจ้างหรือได้รับการเสนอให้เกษียณอายุก่อนกำหนด
กวง กล่าวกับ AFP ว่าเขาสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ หรืออาจได้รับการเลื่อนตำแหน่งก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะยอมรับเงินชดเชย 75,000 ดอลลาร์สำหรับระยะเวลา 6 ปีที่เหลือหลังจากทำงานในรัฐมานาน 30 ปี
“ถึงเวลาแล้วที่ผมจะปลดเปลื้องตัวเองจากความซับซ้อนมากมายในแวดวงการเมืองของรัฐ” เขากล่าว
การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำระดับสูงของเวียดนาม คือ โต ลัม ซึ่งคล้ายกับความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ในการลดทอดขนาดของรัฐบาลกลาง และความพยายามของฮาเวียร์ มิเลอิ ผู้นำอาร์เจนตินา ดำเนินการเพื่อลดการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อเสริมสร้าง “ประสิทธิภาพ”
ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
เหงียน ถิ ทู อดีตเลขาธิการระดับอำเภอ ยอมรับว่าเธออาจไม่สามารถจัดการภาระงานได้ เนื่องจากฝ่ายบริหารให้ความสำคัญกับผลงานเป็นหลัก
หญิงวัย 50 ปีรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลาออกเมื่อสำนักงานของเธอถูกย้ายไปที่จังหวัดอานซางบนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเธอไปมากกว่า 70 กิโลเมตร
“ฉันลาออก ไม่ใช่เพราะต้องการลาออกจากงาน” ทูกล่าว “การลาออกดีกว่าการรอคำสั่งไล่ออก”
เวียดนามซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 7.1% เมื่อปีที่แล้ว และตั้งเป้าที่จะเติบโตถึง 8% ในปีนี้ ในเวลาที่เวียดนามกำลังทะยานไปข้างหน้าเพื่อไปสู่สถานะ “ประเทศรายได้ปานกลาง” ภายในปี 2030
แต่ประเทศกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา
ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้า 46% ก่อนจะตกลงกันที่อัตรา 20% ในข้อตกลงที่ประกาศเมื่อวันพุธ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราภาษี 5 เท่า ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง
รองรัฐมนตรีคลังของเวียดนามกล่าวว่าโครงสร้างการบริหารใหม่จะนำมาซึ่ง "ขนาดที่แข็งแกร่งในการเชื่อมโยงธุรกิจที่แข็งแกร่งและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ" และสร้าง "การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยิ่งใหญ่กว่า"
โต ลัม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า "การตัดสินใจปฏิรูปประเทศเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความหมายเชิงยุทธศาสตร์" โดยมุ่งหวังที่จะ "เดินหน้าสู่ประเทศสังคมนิยม… เพื่อความสุขของประชาชน"
แต่สำหรับ เหงียน ถิ ทู หนทางข้างหน้ายังไม่ชัดเจน
"ฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป" เธอกล่าว
ขณะที่ กวง เล่นโทรศัพท์อย่างสบายใจและคุยกับเพื่อนทางออนไลน์ เขาบอกว่าเขาไม่เสียใจเลยที่เลิกจ้างโดยสมัครใจ
เขารู้สึกว่าเวียดนามอาจเป็นประเทศที่พลาดโอกาสในสิ่งที่เขามีให้
"ผมยังสามารถมีส่วนสนับสนุนภาคส่วนของรัฐได้มากกว่านี้" เขากล่าว
Agence France-Presse
Photo by Mohd RASFAN / AFP