วังหน้าองค์สุดท้ายสมัยอยุธยา คือ “เจ้าฟ้า” พระองค์ใด?
วังหน้าองค์สุดท้ายสมัยอยุธยา คือ “เจ้าฟ้า” พระองค์ใด?
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” โดยนัยคือว่าที่พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ระบุไว้อย่างตายตัว ทำให้หลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ เกิดความขัดแย้งหรือถึงขั้นแย่งชิงราชสมบัติระหว่างวังหน้า ที่มักเป็น “พระราชอนุชา” ของพระมหากษัตริย์ กับ “พระราชโอรส” ของพระมหากษัตริย์ (ติดตามอ่านได้ท้ายบทความ)
เรื่องราวเกี่ยวกับวังหน้ามีมากมาย แต่ในบทความนี้ขอจำเพาะเจาะจงไปที่ “วังหน้าองค์สุดท้ายสมัยอยุธยา” คือ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์
ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี เล่าเรื่องนี้ไว้ในผลงาน “สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง หรือกรมขุนเสนาพิทักษ์) ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งก่อนหน้าการสถาปนาตำแหน่งวังหน้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอาจทรงมีพระทัยเลือกระหว่าง “ลูกชายคนโต” กับ “หลาน” คือ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร์) พระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน ซึ่งขณะนั้นเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ทรงอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์
กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ทรงเป็น “หลานรัก” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เห็นได้จากเหตุการณ์ตอนที่กรมขุนเสนาพิทักษ์ทรงให้พระองค์เจ้าเทิดและพระองค์เจ้าชื่นออกไปเชิญกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เข้าวัง โดยอ้างว่ามีพระบรมราชโองการให้เข้าเฝ้า แต่กรมขุนเสนาพิทักษ์กลับประทุษร้ายต่อกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ใช้พระแสงฟันจีวรขาด
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงทราบก็พิโรธและโปรดให้ชำระความ พระองค์เจ้าเทิดและพระองค์เจ้าชื่นต้องพระราชอาญาด้วยท่อนจันทน์ ส่วนกรมขุนเสนาพิทักษ์ทรงหนีไปบวชหลบราชภัย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงสถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นเป็น “กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์” วังหน้าในรัชกาลของพระองค์ โดยทรงหารือกับขุนนางร่วมด้วย ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า
“ครั้น ณ เดือน 5 ปีระกาตรีนิศก พระราชโกษา บ้านวัดระฆัง กราบทูลว่าจะขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษเป็นกรมพระราชวัง จึงดำรัสให้ปรึกษาอัครมหาเสนาทั้งปวง ครั้นพร้อมกันเห็นควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ ดำรงถานานุศักดิ์อุปราชโดยประเพณี”
การแต่งตั้งพระราชโอรสเป็นวังหน้า เกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงขึ้นครองราชย์แล้วหลายปี คือ ทรงครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2276 และการสถาปนาวังหน้าก็เกิดขึ้นหลังจากกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2284 จึงสันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นเพราะยังไม่ทรงไว้วางพระทัยในความประพฤติของพระราชโอรสก็เป็นได้
แม้จะทรงขึ้นเป็นวังหน้า แต่กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ยังต้องทรงเผชิญความขัดแย้งกับพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสูติแต่พระสนม ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มเจ้าสามกรม”
ความบาดหมางทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น กระทั่งกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ทรงพิจารณาลงโทษเจ้านายกลุ่มนี้ด้วยการโบยหลัง ในข้อหาว่า “เจ้ากรมเป็นแต่หมื่น จัดกันในกรมตั้งขึ้นเป็นขุน แล้วทำสูงกว่าศักดิ์”
แต่แล้ววันหนึ่ง วังหน้าก็ทรงเพลี่ยงพล้ำจนได้ เพราะทรงถูกเจ้านายในกลุ่มนี้กล่าวหาว่า “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จเข้ามาทำชู้ด้วยเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาร ถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง” นำสู่การไต่สวนที่ได้ความตามข้อกล่าวหา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงพิจารณาโทษถึงขั้นสิ้นพระชนม์
กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์) จึงทรงเป็นวังหน้าองค์สุดท้ายสมัยอยุธยา เพราะรัชกาลต่อมาก็มิได้ทรงสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดในตำแหน่งนี้อีกเลย
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเป็นมาตำแหน่ง “วังหน้า” ใครคือวังหน้าองค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย?
- “เจ้าฟ้าพร” กลัวพระเจ้าท้ายสระระแวงว่าตนจะ “ชิงบัลลังก์” เพราะเหตุใด?
- พระราชโอรส “พระเจ้าท้ายสระ” ชวดบัลลังก์ เหตุ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” มีกุนซือดี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นนทพร อยู่มั่งมี. สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : วังหน้าองค์สุดท้ายสมัยอยุธยา คือ “เจ้าฟ้า” พระองค์ใด?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com