นักเศรษฐศาสตร์เตือน "ภาษี 36% คือ Worst Case Scenario" ถ้าไม่รีบเจรจาอาจเจ็บยาว
กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้า 36% โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้
จดหมายจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงรัฐบาลไทย คือสัญญาณเตือนอย่างเป็นทางการว่า “ข้อเสนอที่ไทยเคยยื่นมา ยังไม่ดีพอ” เพราะสหรัฐฯ ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคมนี้ และนั่นคืออัตราสูงสุดในบรรดา 14 ประเทศที่โดนพร้อมกัน
ในสายตานักเศรษฐศาสตร์ หลายคนมองว่านี่คือ “Worst Case Scenario” ที่เคยกลัวว่าจะมา และตอนนี้มันมาถึงแล้วจริง ๆ
ยังเจรจาได้ ถ้าไทยยอมเปิดตลาด
แม้ทรัมป์จะประกาศตัวเลขภาษีแล้ว แต่ก็ยังเปิดช่องทางให้เจรจาต่อ โดยส่งสัญญาณชัดว่า หากไทย “เปิดตลาดให้สหรัฐฯ มากกว่านี้” หรือยกเลิกกำแพงทางการค้า ทั้งภาษีและมาตรการกีดกันอื่น สหรัฐฯ อาจ “พิจารณาลดภาษี” ให้ได้ในภายหลัง
แต่ในทางกลับกัน ถ้าไทยตอบโต้หรือยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย สหรัฐฯ เตรียม “ฟาดกลับ” ด้วยภาษีเพิ่มอีก 25%
ส่งออก-ลงทุน-จ้างงาน เสี่ยงกระเทือน
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย คิดเป็น 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หากภาษี 36% มีผลจริง ผู้ซื้ออาจหันไปหาคู่แข่งอย่าง เวียดนาม (20%) หรือมาเลเซีย (25%) แทนทันที
การตัดสินใจลงทุน (FDI) จะได้รับผลกระทบโดยอาจถูกตั้งคำถามว่า “จะสร้างโรงงานในไทยทำไม ถ้าส่งออกไปแล้วต้นทุนภาษีแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน?” อุตสาหกรรมหลักของไทย อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์ อาจถูกซ้ำเติมจากต้นทุนภาษีที่พุ่งสูง
โจทย์ใหญ่ของไทย
ปัญหาคือ หากไทยยอมเปิดตลาดตามที่สหรัฐต้องการ เช่น เปิดให้สินค้าการเกษตรของอเมริกาเข้ามาได้ง่ายขึ้น ก็จะกระทบกับเกษตรกรและธุรกิจในประเทศ ที่แม้จะไม่ได้มีสัดส่วนเศรษฐกิจมาก แต่ มีเสียงและจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นเรื่อง การสวมสิทธิ์สินค้าจีน ที่ผ่านไทยเพื่อส่งต่อไปสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นการ “เลี่ยงภาษี” และเรียกร้องให้ไทยจัดการให้เด็ดขาด
ถึงเวลาเร่งเจรจา
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เร่งด่วนแบบนี้ คำถามสำคัญคือ ไทยจะตอบโต้หรือร่วมโต๊ะเจรจาอย่างไร? โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงพาณิชย์ คลัง และเกษตร อยู่คนละพรรค ยังไม่มี “เสียงเดียว” ในการตัดสินใจ
นี่อาจเป็นเวลาที่ไทยต้องเร่งตั้ง “War Room” เพื่อวางแผนเจรจาแบบรวดเร็วเด็ดขาด และมีเอกภาพในการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ และนักลงทุน
โอกาสซ่อนอยู่ในวิกฤต
แม้จะดูเหมือนถูกบีบบังคับ แต่อีกด้านหนึ่งนี่คือโอกาสที่ไทยจะ “เร่งปรับตัว” ให้แข่งขันในเวทีโลกได้จริง
ถ้าเรากล้าจัดการกับปัญหาโครงสร้าง เช่น ยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถแรงงาน และกระจายตลาดส่งออก ผ่าน FTA กับกลุ่มประเทศอื่น เราอาจไม่ใช่แค่ “รอด” ภาษี 36% แต่ยังเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่มั่นคงกว่าเดิม
Source: Infoquest