เตือนภัย! เด็กนอนกรนอาจเสี่ยง “หยุดหายใจขณะหลับ” กระทบพัฒนาการ
ภาวะนอนกรนในเด็ก คือ ภาวะการหายใจเสียงดังขณะหลับ จากการที่ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบตั้งแต่จมูก คอหอย โคนลิ้น เมื่อเด็กหายใจผ่านทางเดินหายใจที่แคบ เนื้อเยื่อจะมีการสั่นสะเทือนและเกิดเสียงกรนขึ้น พบมากในเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียน 10 – 17% ของเด็กทั้งหมด ซึ่งภาวะนอนกรนดังกล่าวนี้อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ, สมาธิ, พฤติกรรม และความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก
หยุดหายใจขณะหลับ กี่ครั้งต่อชั่วโมงรุนแรงมาก ? เผยปัจจัยเสี่ยงและวิธีรักษา
8 คำถามเช็ก “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” เข้าข่าย 3 ข้อขึ้นไปควรพบแพทย์
เด็กนอนกรนเกิดจากอะไร
- ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ด้านหลังจมูกโตผิดปกติ
- จมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- ความผิดปกติแต่กำเนิดของโครงกระดูกใบหน้าหรือโครงสร้างระบบทางเดินหายใจ
- มีโรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก คือ ภาวะการหายใจลดลงหรือหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งมีผลให้ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น หรือตื่นจากการนอนหลับ มีผลกระทบต่อคุณภาพการนอน ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย พฤติกรรม อารมณ์ สมาธิ และการเรียนรู้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กมีกี่ประเภท
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากการหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจแคบหรือตัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในเด็กมักเกิดจาก ต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต เนื่องจากมีการอักเสบซ้ำ ๆ เช่น เป็นหวัดบ่อย ๆ โรคอ้วนอื่น ๆ เช่น มีโครงสร้างทางเดินหายใจผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิดหรือผู้ที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อที่คอยพยุงทางเดินหายใจ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมการหายใจหรือกล้ามเนื้อ
อาการภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- นอนกรนเป็นประจำ แต่อาจไม่ถึงกับทุกคืน
- หายใจสะดุด หยุดหายใจเป็นระยะ
- นอนอ้าปากหายใจ หายใจเสียงดัง
- ไอหรือสำลักขณะหลับ
- นอนกระสับกระส่ายขยับไปมา
- เหงื่อออกมากขณะหลับ
- บางคนอาจปัสสาวะรดที่นอนหรือเดินละเมอ
- เด็กบางรายอาจมีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น สมาธิสั้น, ซนมาก, อยู่ไม่นิ่ง, หงุดหงิดง่าย ฯลฯ
ตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- ซักประวัติโดยละเอียด
- ตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น ตรวจการนอนหลับ (Sleep Study Polysomnography), เอกซเรย์ต่อมอะดีนอยด์, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรืออัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram) เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนที่อาจมีร่วมด้วย เป็นต้น
แนวทางการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- เฝ้าระวังติดตามอาการ อาจพิจารณาในคนที่อาการไม่รุนแรง มีประเมินการนอนหลับซ้ำ
- รักษาด้วยยา
- ผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลในรายที่จำเป็น
- ใช้เครื่องช่วยหายใจขณะหลับ ได้แก่ CPAP (Continuous Positive Airway Pressure), Auto CPAP (Auto Continuous Positive Airway Pressure), BiPAP (Bilevel Positive Airway Pressure) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน
ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก
- ความดันโลหิตสูง
- ความดันเลือดในปอดสูง
- กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว
- สมาธิสั้น
- ปัญหาด้านการเรียนรู้
- ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ หงุดหงิดง่าย
- ร่างกายอาจเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
- เติบโตช้ากว่าปกติ ใช้พลังงานขณะหายใจในเวลานอนมาก ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตหลั่งลดลง
- ลูกจะติดเชื้อง่ายหรือไม่ถ้าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ออก
เมื่อตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ออก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กังวลใจคือโอกาสในการติดเชื้อ ซึ่งต่อมทอนซิลมีหน้าที่ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ แต่การตัดออกไม่ได้ทำให้ติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากยังมีอวัยวะส่วนอื่นในร่างกายทำหน้าที่ต่อสู้หรือป้องกันการติดเชื้ออยู่ ในทางตรงกันข้ามเด็กที่ได้รับการผ่าตัดต่อมทอนซิลออกจะมีการติดเชื้อในคอลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เด็กที่รักษาหายแล้วอาจมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้ เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์สามารถโตกลับมาได้ ส่วนต่อมทอนซิลสามารถเอาออกได้หมด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่