การบินไทยคัมแบ็ก! โบรกคาดราคาหุ้นเปิดโดด พร้อมชี้โมเมนตัมกำไรปี 68 พุ่ง
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากประเด็นการกลับเข้ามาซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อีกครั้งของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ในวันที่ 4 ส.ค. 68 นี้
มองว่า THAI เลือกช่วงเวลาในการกลับเข้ามาเทรดได้ค่อนข้างดี ในแง่ของผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/68 กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว โดยรายได้ทำได้กว่า 5.17 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกำไรสุทธิก็ทำได้ดีที่กว่า 9.8 พันล้านบาท และยังมีโมเมนตัมที่ดีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 68 นี้
โดยตลาดคาดการณ์ว่า THAI จะทำกำไรสุทธิในปี 68 นี้ได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มองว่าการกลับเข้ามาซื้อขายของ THAI ในรอบนี้ ราคาหุ้นเปิดตลาดวันแรกมีโอกาสที่จะทะยานขึ้นจากราคาซื้อขายเดิมที่ 3.32 บาทได้
"มองว่า THAI เลือกช่วงเวลาในการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้ค่อนข้างดี เพราะทั้งในแง่ของผลการดำเนินงานที่ออกมาดี และมีโมเมนตัมที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังปี ทำให้มีโอกาสเห็นราคาเปิดการซื้อขายวันแรกจะพุ่งโดดขึ้นมาได้"
แต่สิ่งหนึ่งที่แอบยังมีความกังวลใจอยู่เล็กๆ คือ ปริมาณหุ้นที่มีอยู่ค่อนข้างสูงถึง 2.83 ล้านหุ้น ซึ่งมากกว่าเมื่อเทียบกับสิ้นปี 67 และ 66 ที่ 2.31 หมื่นล้านหุ้น และ 2.18 พันล้านหุ้น ตามลำดับ ในขณะที่กำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่เฉลี่ยราว 0.70 เท่านั้น
ผสมกลิ่นอายการเมือง
อีกทั้ง แม้ว่า THAI จะมีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ไปแล้ว แต่ด้วยความเป็นสายการบินแห่งชาติทำให้ยังคงมีกลิ่นอายการเมืองเข้ามาผสมอยู่ ทำให้มีโอกาสที่จะถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือการต่อรองทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินลำใหม่เข้าฝูง
ซึ่งทาง นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการ บมจ. การบินไทย ก็ได้ระบุว่า การพิจารณาแผนฝูงบินของการบินไทย ภายหลังก่อนหน้านี้ได้จัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์ ได้ทำข้อตกลงกับ บริษัท โบอิง และ บริษัท จีอี แอโรสเปซ ในการจัดหาเครื่องบิน Boeing 787 จำนวน 45 ลำแล้ว
และทราบว่าปัจจุบันยังทำข้อตกลงมีสิทธิในการจัดหาเพิ่มเติม (Option Order) อีก 35 ลำ ซึ่งปัจจุบันจะมีการพิจารณาแผนจัดหาเครื่องบินส่วนนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของทีมไทยแลนด์ที่นำไปเจรจาภาษีกับสหรัฐ โดยการบินไทยวางแผนลงทุนระยะ 5 ปี วงเงินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท
ประกอบด้วย การลงทุนจัดหาเครื่องบินใหม่ วงเงินราว 1.2 แสนล้านบาท โดยเป็นเครื่องบินที่ได้ทำสัญญาจัดหากับโบอิงแล้วจำนวน 45 ลำ ซึ่งจะทยอยชำระตามกำหนดเริ่มรับมอบในปี 70 นอกจากนี้ การบินไทยจะลงทุนปรับปรุงบริการ และที่นั่งบนเครื่องบิน วงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท
ตลอดจนการลงทุนเพื่อรองรับซ่อมเครื่องยนต์ และการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน แบ่งเป็น ศูนย์ซ่อมดอนเมือง และสุวรรณภูมิที่ให้บริการในปัจจุบัน และลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าหลังจากนี้ THAI จะมีการบริหารจัดการเงินลงทุนในการจัดซื้อเครื่องบินลำใหม่ รวมถึงการซ่อมบำรุงเครื่องบินเดิมในฝูงอย่างไร ซึ่งก็คาดหวังว่าจะไม่ซ้ำรอบเดิม เพราะต้องยอมรับว่าแม้การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าเมื่อช่วงเกิดวิกฤตโรคระบาด แต่ก็ไม่ได้ดีมากนักด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังผันผวน
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการใช้เงินต่างๆ ตามหนังสือชี้ขวน ที่ THAI แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด ระบุว่า THAI มีการใช้เงินลงุทนสำหรับการจัดหาเครื่องบินและค่าใช้จ่ายตามสัญญาเช่า เครื่องบินในปัจจุบัน สิ้นเดือนมิ.ย. ใช้ไปแล้ว 6,317 ล้านบาท, การปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) 261.37 ล้านบาท, การพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO Centers) จำนวน 41.74 ล้านบาท
ตลท. ไฟเขียว THAI กลับเข้าเทรด SET
ขณะเดียวกันทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการรายงานความคืบหน้าถึง THAI ว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศให้ THAI เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 เนื่องจากงบการเงินประจำปี 63 ปรากฎส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น
เนื่องด้วย THAI ได้แก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอนและดำเนินการให้มีคุณสมบัติ เพื่อกลับมาซื้อขายครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว และได้ยื่นคำขอพ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนและขอให้เปิดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) รวมถึงได้ห้ามผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic Shareholders) นำหุ้น 55% ของทุนชำระแล้วออกขายภายใน 1 ปี ตามเกณฑ์ Silent Period
ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอนุมัติให้หลักทรัพย์ THAI พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน โดยปลดเครื่องหมาย "SP" (Suspension) และ "NC" (Non - Compliance) และให้เริ่มซื้อขายหลักทรัพย์ THAI ใน SET กลุ่มบริการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป
อนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor), Dynamic Price Band ละ Auto Pause สำหรับซื้อการซื้อขายหลักทรัพย์ THAI ในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการซื้อขาย ต่อเนื่องไปจนกว่าหลักทรัพย์ THAI จะมีการซื้อขาย
กรณีที่หลักทรัพย์ THAI มีการซื้อขายแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จะนำเกณฑ์ Ceiling & Floor ปกติ, เกณฑ์ Dynamic Price Band และเกณฑ์ Auto Pause มาใช้กับหลักทรัพย์ THAI ในวันทำการถัดไป
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ จะนำหลักทรัพย์ THAI มารวมในการคำนวนดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ในวันทำการถัดไป นับจากวันที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นวันแรก