“คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” ที่รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้ง เปลี่ยนสีจีวรครั้งแรกเมื่อไหร่ และทำไมถึงเปลี่ยน
ทำไม “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” จึงเปลี่ยนสีจีวรครั้งแรกในรอบกว่า 150 ปี นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกาย และการเปลี่ยนสีจีวรเกิดขึ้นในปีไหน
คณะสงฆ์ในไทยแบ่งได้เป็น 2 นิกายหลัก คือมหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย ซึ่งนิกายหลัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ขณะทรงพระผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” ทรงสถาปนาขึ้น ด้วยทรงต้องการปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยในครั้งนั้นให้ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยยิ่งขึ้น
พระสงฆ์แต่ละนิกายครองจีวรที่มีสีแตกต่างกันไป ทั้งยังแยกย่อยลงไปอีกตามแต่ละสำนักหรือวัตรปฏิบัติ สีจีวรพระสงฆ์จึงมีหลากหลาย ทั้งสีกรัก สีฝาด สีแก่นขนุน สีส้ม สีแดง
ด้วยเหตุนี้ ในราว พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ซึ่งทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ทรงมีพระราชปุจฉากับพระมหาเถระเรื่องสีจีวร เมื่อทรงสอบถามและพระภิกษุสงฆ์ได้สอบทานข้อมูลเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงพระราชทาน “จีวรสีพระราชนิยม” แก่คณะสงฆ์
จีวรสีพระราชนิยม เป็นสีที่อยู่ระหว่างกลางของสีส้มกับสีกรัก เป็นสีกลางระหว่างมหานิกายกับธรรมยุติกนิกาย เป็นผ้าที่มีสีถูกต้อง ไม่ผิดพระวินัย จากนั้นโปรดให้เจ้าพนักงานในพระองค์จัดผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม เพื่อพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลวาระต่างๆ
แม้จะมีจีวรสีพระราชนิยม แต่ไม่นับเป็นการเปลี่ยนสีจีวรของคณะสงฆ์ไทย เนื่องด้วยเป็นการใช้ตามโอกาสเท่านั้น
คณะสงฆ์ธรรมยุตและคณะสงฆ์มหานิกายจะครองจีวรสีพระราชนิยม เมื่อได้รับนิมนต์ไปประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลที่เป็นงานพระราชพิธีหลวง (ใช้พัดยศ) และงานพระราชพิธีที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงเข้าร่วม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยเบื้องหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้านายทุกพระองค์
เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธี พระสงฆ์สามารถครองจีวรตามที่เป็นมาได้ โดยแนวปฏิบัติในการครองจีวรสีพระราชนิยมยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน ทั้งยังสามารถใช้จีวรสีพระราชนิยมในโอกาสต่างๆ ตามความเหมาะสมได้ด้วยเช่นกัน
ทำไม “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” จึงเปลี่ยนสีจีวร
พ.ศ. 2557 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการสงฆ์ไทย เมื่อคณะสงฆ์ธรรมยุตมีมติเปลี่ยนสีจีวร จาก “สีกรัก” ซึ่งเป็นสีแก่นขนุนหรือสีน้ำตาลเข้ม อันเป็นสีดั้งเดิมที่ใช้มานับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกาย เป็น “จีวรสีพระราชนิยม”นับเป็นการเปลี่ยนสีจีวรของคณะสงฆ์ธรรมยุตครั้งแรกในรอบกว่า 150 ปี
เหตุผลในการเปลี่ยนสีจีวร ก็เพื่อให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยของหมู่คณะ เสริมสร้างศรัทธาแก่ผู้พบเห็น เพราะที่ผ่านมาคณะสงฆ์ธรรมยุตมีการครองจีวรสีแตกต่างกัน และเพื่อสนองพระราชศรัทธาของในหลวง รัชกาลที่ 9
การประกาศเปลี่ยนสีจีวรคราวนั้น เน้นที่พระคามวาสี หรือพระที่อยู่ในเมือง ส่วนพระอรัญวาสี หรือพระที่อยู่นอกเมืองหรือพระป่า ยังสามารถครองจีวรเช่นเดิมตามแนวปฏิบัติของครูบาอาจารย์ แม้ว่าจะรับกิจนิมนต์เข้ามาในเมืองก็ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นครองจีวรสีพระราชนิยม เว้นแต่ได้รับนิมนต์เข้าไปในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล
การประชุมเรื่องเปลี่ยนสีจีวร เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2556 และมีการประชุมหารือต่อเนื่องเป็นลำดับ กระทั่งมีมติเห็นชอบและให้มีประกาศคณะธรรมยุต เรื่องให้พระภิกษุสามเณรคณะธรรมยุตครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม ตั้งแต่วันวิสาขบูชา 2557 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม 2557
คณะสงฆ์ธรรมยุตจึงครองจีวรสีพระราชนิยมมานับแต่นั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- “จีวรดอกพิกุล” เทรนด์จีวรลายดอก “พระสงฆ์ไทย” ยุคต้นรัตนโกสินทร์
- “จีวรสีแดง” ทำไมถึงเสื่อมความนิยม ในคณะสงฆ์เถรวาทของไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พีรพันธ์ วรชาติเดชชัย. (2564). การศึกษาสีจีวรของคณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” ที่รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้ง เปลี่ยนสีจีวรครั้งแรกเมื่อไหร่ และทำไมถึงเปลี่ยน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com